Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

สัญญาณ “โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ตรวจพบไว รักษาได้ทัน

24 ส.ค. 2566


   “โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” เป็นภาวะที่หลอดเลือดหัวใจมีการตีบตัน ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี สาเหตุอาจเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ อาทิ การบริโภคอาหาร การไม่ค่อยออกกำลังกาย ไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้มากขึ้น  
การที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนั้น มีสาเหตุจาก 
  • หลอดเลือดหัวใจตีบแบบเรื้อรัง เกิดจากหลอดเลือดหัวใจค่อยๆตีบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาการคือ แน่นหน้าอกเมื่อออกแรง แต่เมื่อพักอาการจะดีขึ้น 
  • หลอดเลือดหัวใจตีบแบบฉับพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการขาดเลือดกะทันหัน อาการที่เด่นชัดคือ แน่นหน้าอกมากๆ เหงื่อแตก ใจสั่น เป็นลมหน้ามืดเหนื่อย หายใจลำบาก จะมีอาการที่รุนแรงมากและนานกว่าปกติ อาจจะหลายสิบนาทีจนถึงหลักชั่วโมง พักแล้วอาการไม่ดีขึ้น หากมีอาการรุนแรงอาจอันตรายถึงชีวิตได้
ทั้ง 2 ประเภทมีอาการหลักที่แสดงออกเหมือนกัน ซึ่งอาจมีเพียงอาการใดอาการหนึ่ง หรือหลายอาการร่วมกัน ดังต่อไปนี้ 
  • แน่นหน้าอก
  • ปวดร้าวไปกราม
  • จุกคอ
  • ปวดร้าวไปที่ไหล่ซ้าย แขนซ้าย
   เมื่อสงสัยหรือมีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ในขณะเดียวกันการตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถทำให้รู้ถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อที่จะสามารถป้องกันและทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที  
ใครบ้างที่มีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
   โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มักเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อมักจะมีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้มากกว่า และอาจมีความรุนแรงของโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอีกด้วย  
ปัจจัยเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
  • อายุที่มากขึ้น
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่ (ทุกประเภท)
  • อ้วนหรืออ้วนลงพุง
  • ประวัติครอบครัวที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในอายุยังน้อย
การป้องกันตนเองจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
ท่านสามารถลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ โดยการหลีกเลี่ยงและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น 
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ควบคุมความดันโลหิตและเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • บริโภคอาหารไขมันต่ำหรือรับประทานยาลดไขมันในรายที่จำเป็น
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หมั่นตรวจเช็คดูแลสุขภาพของตนเองเป็นประจำ รวมถึงการตรวจสุขภาพประจำปี
การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
แนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ประกอบด้วย  
  1. การควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ดี ทั้งการปรับรูปแบบการใช้ชีวิต ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย
  2. การรักษาโดยใช้ยา
  3. การ ขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน ไม่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่
  4. การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (บายพาส)
   การรักษาโดยวิธีการที่ 1 และ 2 นั้นจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทุกราย ส่วนในวิธีที่ 3 และ 4 นั้น แพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของตัวโรคและความเหมาะสมในแต่ละรายบุคคล 
  วิธีป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่ดีที่สุด คือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมและแก้ไขได้  ในขณะเดียวกันการตรวจสุขภาพประจำปีจะทำให้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงและสามารถทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่หากเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขึ้นแล้ว การวินิจฉัยได้ทันท่วงที ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก็จะนำมาซึ่งผลการรักษาที่ดี 

 

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ตรวจพบไว รักษาได้ทัน 

  

สนับสนุนข้อมูลโดย : ผศ.นพ สมบูรณ์ จิรภัทรธำรง แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์หัวใจ

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.