ทางเลือกฟื้นฟูระบบประสาทและสมอง ด้วย “TMS”
TMS หรือ Transcranial Magnetic Stimulation เป็นเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามากระตุ้นสมองหรือกล้ามเนื้อโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยมีการใช้เครื่องมือในการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาเหนี่ยวนำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการทำงานของสมอง ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือการตกค้างของรังสีภายในร่างกาย ช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะชา อ่อนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ายังสามารถช่วยลดและป้องกันการปวดศีรษะเรื้อรัง การปวดไมเกรน ปวดกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง (office syndrome) ช่วยลดอาการและความรุนแรงในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า TMS เป็นเครื่องมือที่มีความปลอดภัยสูงไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและมีผลข้างเคียงน้อย หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลและสามารถกลับบ้านได้ทันที
การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่างๆ ดังนี้
- โรคซึมเศร้า
- โรคอัมพฤกษ์/อัมพาต
- ชามือ ชาเท้า จากเส้นประสาทถูกกดทับ หรือเบาหวาน
- กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน
- การบาดเจ็บของสมองและไขสันหลัง
- โรคพาร์กินสัน
- โรคความจำบกพร่อง หรืออัลไซเมอร์
- อาการปวดเรื้อรังจากภาวะต่างๆ
- อาการปวดกล้ามเนื้อ office syndrome, fibromyalgia
- โรคทางระบบประสาท สมอง และกล้ามเนื้ออื่นๆ
ข้อดีของการรักษาด้วยเครื่อง TMS
- มีความปลอดภัยสูง ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด ผลข้างเคียงต่ำ
- เห็นผลทันทีหลังการรักษาครั้งแรก
- ช่วยลดปริมาณการกินยา ลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการกินยา
- พบว่าเมื่อรักษาอย่างต่อเนื่องทำให้ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะดีขึ้นจนถึงหายสนิทรวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ
- ช่วยปรับการทำงานฟื้นฟูของสมองที่บกพร่องให้คงที่
- ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย
- เพิ่มประสิทธิภาพเมื่อควบคู่กับกายภาพบำบัด
ข้อห้ามในการรักษาด้วยเครื่อง TMS
- ผู้ที่มีอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ฝังในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องหูเทียมไฟฟ้าชนิดฝังในตัว สายระบายน้ำในโพรงสมองแบบอัตโนมัติ เป็นต้น
- ผู้ที่มีอาการชักที่ไม่สามารถควบคุมได้
- ผู้ที่มีโลหะฝังบริเวณศีรษะ เช่น ตะแกรงขยายหลอดเลือดสมอง คลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองในสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีโลหะในบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยตรงสามารถทำได้
- นอกจากนี้ก่อนเข้ารับการรักษาจะได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้ชำนาญในการใช้เครื่อง TMS เพื่อตรวจสอบว่ามีข้อควรระวังอื่นๆ ในการรักษาหรือไม่
มีผลข้างเคียงหรือไม่?
ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่พบอาการข้างเคียงภายหลังการรักษา ผลข้างเคียงที่สำคัญแต่พบได้น้อยมากคืออาการชัก ซึ่งพบได้ประมาณ 0.02 - 0.2% ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียหรือง่วงนอนภายหลังการกระตุ้น
ใช้เวลานานเท่าไหร่?
ระยะเวลาในการรักษาต่อครั้งอยู่ที่ 15 - 60 นาที ความถี่ในการรักษาประมาณ 1 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์แล้วแต่อาการและโรคของผู้ป่วยแต่ละราย