Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

24 เม.ย. 2562


   โรคภูมิแพ้ผิวหนัง เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นขึ้นเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ  และมีผื่นคันกระจายตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรมภูมิแพ้ สิ่งแวดล้อม และมีความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เช่น แพ้อาหารหรือสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ สารระคายเคือง เหงื่อ การเกา การติดเชื้อของผิวหนัง ความเครียด การอาบน้ำอุ่นจัดทำให้ผิวแห้ง การใช้สบู่ที่มีความเป็นด่างทำให้ผิวแห้ง เป็นต้น
อาการบอกโรค...!!!
  • ผื่นแดง
  • แห้งเป็นขุย
  • คันยุบยิบ
  • เป็นๆ หายๆ
  • หากเป็นเรื้อรังผิวหนังจะหนาและมีรอยคล้ำ
  • คันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก
  • ยิ่งเกา ยิ่งคัน 
จุดสังเกตตำแหน่งที่พบบ่อย…!!!
  • แก้ม (ทารก)
  • คอ
  • ข้อพับแขน ขา
  • ข้อเท้า
  • หลังต้นขา
  • หลังเท้า

รู้จักภูมิแพ้ผิวหนัง…แต่ละช่วงวัย…!!!

  • เด็กแรกจนถึงวัยทารก หรือ ภูมิแพ้ผิวหนังวัยทารก (Infantile atopic dermatitis) จะมีผื่นขึ้น 1-2 เดือนแรก ส่วนมากพบบริเวณใบหน้า คาง ตามลำตัว แขน ขา หากมีอาการแพ้ระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรงมักจะมีการแพ้ของอาหารร่วมด้วย เช่น แพ้อาหารผ่านนมแม่ บางครั้งผื่นแพ้ก็ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผื่นคันชนิดอื่น เช่น ผื่นแพ้สัมผัส ผดร้อน เซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) ที่จะพบตามบริเวณแก้ม คาง หัวคิ้ว ไรผม หนังศีรษะ ซอกหูแต่จะหายเองใน 4 - 6 เดือน
  • เด็กเล็กถึงเด็กโต หรือ ภูมิแพ้ผิวหนังวัยเด็ก (Childhood atopic dermatitis) ช่วงวัยนี้มักจะพบผื่นตามข้อพับแขน ขา ข้อเท้า มักกระตุ้นจากการแพ้เหงื่อ ไรฝุ่น และอากาศ เมื่ออายุมากขึ้นอาการจะดีขึ้นเหลือเพียงผิวแห้ง หรือเด็กบางคนยังมีอาการไปตลอดจนถึงช่วงวัยรุ่น
  • วัยรุ่นและผู้ใหญ่ หรือ ภูมิแพ้ผิวหนังในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ (Adolescent or adult type atopic dermatitis) ส่วนใหญ่จะเป็นๆ หายๆ อาจมีสิ่งกระตุ้นทำให้เกิด เช่น เหงื่อ การอาบน้ำอุ่นทำให้ผิวแห้ง อากาศแห้งในฤดูหนาว การเกาจนติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย…!!!

  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์สาขากุมารแพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ทำการวินิจฉัยจากการซักประวัติอาการทางผิวหนัง ประวัติครอบครัว ตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดหาแอนติบอดี้ต่อสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัย (Specific IgE to food allergen / aeroallergen) โดยสามารถทำได้ตั้งแต่วัยทารก การทดสอบที่มีความเฉพาะเจาะจงสูง สามารถรู้ค่าการแพ้เป็นตัวเลขที่ละเอียด แต่ผู้ป่วยจะต้องถูกเจาะเลือด และราคาทดสอบค่อนข้างสูงหากส่งตรวจสารก่อภูมิแพ้หลายๆ ชนิดพร้อมกัน แต่สามารถตรวจได้ทันทีแม้ผู้ป่วยจะรับประทานยาแก้แพ้อยู่ก็ตาม แต่ผลตรวจมักต้องรอผลอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • การทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (Skin prick test) วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมที่สุดเพราะเป็นการตรวจที่ถูกต้อง แม่นยำ ไม่มีความเจ็บปวด ไม่ต้องเจาะเลือด แต่จะต้องงดรับประทานยาแก้แพ้อย่างน้อย 7 - 10 วัน และไม่มีผื่น สำหรับกรณีถ้าเป็นเด็กทารกจะทำการทดสอบที่บริเวณหลังส่วนบน หากเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่จะทำการทดสอบที่บริเวณท้องแขน

การดูแลรักษา…!!!

  • ยาทา ได้แก่ ยาสเตียรอยด์ชนิดทา โดยมีความแรงต่างกันไปตามบริเวณผื่น และอายุของผู้ป่วย , ยาทาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น Topical immunomodulator โดยกุมารแพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันจะเป็นผู้พิจารณาจ่ายยา ไม่ควรซื้อยามาใช้เองเพราะจะมีผลข้างเคียงในระยะยาว
  • ยารับประทาน ได้แก่ ยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคัน, ยาฆ่าเชื้อกรณีที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย หรือยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานกรณีที่อาการผื่นรุนแรงมาก

การป้องกันที่ดีที่สุด…!!!

  • การดูแลผิวพรรณอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะทำความสะอาดร่างกายและล้างมืออยู่เสมอ
  • ควรใช้สบู่อ่อนๆ ไม่มีน้ำหอม ไม่มีสารกันเสีย และอ่อนโยนต่อผิว
  • ทาโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำภายใน 3 นาที หรือ หลังเช็ดตัวหมาดๆ เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอกที่มีสารเคมีหรือน้ำหอมแรงๆ
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น เนื้อผ้าลูกไม้ เนื้อหยาบหนา หรือผ้าขนสัตว์ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง แมลง และยุงชุกชุม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. ธิดารัตน์ พงศ์สิริพิพัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ สาขาภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน

โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.