Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรคซนสมาธิสั้น (ADHD)

11 พ.ค. 2565



โรคซนสมาธิสั้น คืออะไร ?

   โรคซนสมาธิสั้น คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบสารสื่อประสาทในสมอง (neurotransmitters) โดยสารสื่อประสาทนี้มีหน้าที่ช่วยควบคุมความอยู่ไม่นิ่งและสมาธิให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก เช่น
  • เด็กวัย 6 ปี ต้องเริ่มควบคุมตนเองให้ไม่วิ่งในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ไปห้างสรรพสินค้า ต้องไม่วิ่งหายไป เนื่องจากเริ่มรู้ว่าตนเองอาจพลัดหลงกับผู้ปกครอง
  • เด็กวัยเรียนชั้นป..3 กำลังเรียนหนังสือ แล้วมีนกบินผ่านที่หน้าต่าง สารสื่อประสาทนี้จะต้องคอยทำงานเพื่อควบคุมให้เด็กรู้ว่าตอนนี้เป็นเวลาเรียน ยังไม่ใช่เวลาสนใจนก แล้วกลับมาตั้งใจฟังที่คุณครูเขียนบนกระดานต่อไปได้ แต่เมื่อสารสื่อประสาททำงานได้น้อยกว่าปกติ ทำให้เด็กๆไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม การเรียน การเข้าสังคมของเด็ก

อาการมีอะไรบ้าง ?

อาการประกอบด้วยอาการหลักๆ 3 ข้อ ได้แก่

1. อาการซนอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity)  เช่น
  • วิ่ง ปีนป่าย รู้สึกเหมือนพร้อมเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยอาการเป็นมากไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือกาลเทศะ ซึ่งอาจทำให้เด็กได้รับอุบัติเหตุหรือต้องเจ็บตัวบ่อยๆ
  • เด็กบางคนสามารถควบคุมตนเองให้นั่งกับที่ได้ แต่จะยุกยิก นั่งบิดไปมา
2. อาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity) เช่น
  • เด็กจะวู่วาม ทำหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยที่ไม่คิด เช่น วิ่งข้ามถนนโดยไม่ได้ดูรถให้ดี ไปห้างสรรพสินค้าจะวิ่ง หายไปโดยที่ไม่ได้คิดว่าจะพลัดหลงกับพ่อแม่หรือไม่
  • ทนต่อการรอคอยได้น้อย
  • พูดมาก โดยมีลักษณะพูดแทรก พูดโพล่ง หรืออาจตอบคำถามโดยที่ยังฟังไม่จบ
3. อาการขาดสมาธิ (inattention) เช่น
  • เหม่อลอย โดยเฉพาะเวลาต้องทำงานที่ต้องใช้ความคิด
  • วอกแวกจากสิ่งที่กำลังทำได้ง่าย
  • ขี้ลืม ทำของหายบ่อยๆ เช่น เครื่องเขียน สมุดจดงาน
  • ทำงานไม่เสร็จ เช่น การบ้าน หรือทำเสร็จแต่ขาดความละเอียดรอบคอบ สะเพร่า

   โดยอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก(ก่อนอายุ 12 ปี) ซึ่งอาการไม่เหมาะกับอายุของเด็ก และส่งผลเสียต่อพฤติกรรม การเรียน อารมณ์ และการเข้าสังคมของเด็ก

แพทย์วินิจฉัยโรคอย่างไร ?

  • ประวัติโดยละเอียดจากผู้ปกครอง คุณครู การสังเกตพฤติกรรมของเด็ก รวมถึงการประเมินระดับพัฒนาการ

การรักษาโรคมีอะไรบ้าง ?

    การรักษาจะเน้นให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพของเด็ก ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ และรักษาความรู้สึกมี คุณค่าในตนเองของเด็ก (Self esteem) เพราะเด็กๆโรคนี้มักถูกตำหนิบ่อยๆจากอาการของตัวโรค

  • การปรับพฤติกรรมทั้งที่บ้านและโรงเรียน
  • การฝึกกิจกรรมบำบัด
  • การรักษาด้วยยา
สนับสนุนข้อมูลโดย : พ.ญ.มุทิตา ช่างภิญโญ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์พัฒนาการเด็ก Bsmart



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.