สุขภาพหัวใจเป็นอย่างไร วินิจฉัยด้วย Cardiac MRI
“โรคหัวใจ” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นได้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน เนื่องจากในชีวิตประจำวัน ความเครียด การรับประทานอาหารแบบเร่งรีบ การออกกำลังกายที่ลดลง และสภาพแวดล้อม ทำให้เป็นการกระตุ้นและก่อให้เกิด “โรคหัวใจ” ฉะนั้นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ หากคุณมีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันและเข้ารักษาก่อนจะเกิดภาวะลุกลาม ด้วยการตรวจ Cardiac MRI ตรวจได้ตรงจุด ประเมินผลได้รวดเร็ว
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Cardiac MRI คืออะไร ?
การตรวจหัวใจด้วย Cardiac MRI เป็นการตรวจโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ สามารถประเมินการไหลเวียนของเลือดในหัวใจสร้างภาพเป็นสามมิติช่วยในการการวินิจฉัยโรคหัวใจแต่ละชนิดได้อย่างแม่นยำ โดยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุในการสร้างภาพ และสามารถวางแผนการรักษาแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม นับเป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด โดยผู้รับการตรวจไม่มีความเสี่ยงในการสัมผัสกัมมันตภาพรังสีใดๆ
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Cardiac MRI สามารถตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจใดได้บ้าง ?
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ ทั้งแบบเรื้อรังและเฉียบพลัน
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง และโรคกล้ามเนื้อหัวใจทุกประเภท
- ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ภาวะเนื้องอกหัวใจ
- ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
- ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว
นอกจากนี้ Cardiac MRI ยังสามารถช่วยตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่หรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายในอวัยวะอื่นๆได้อีกด้วย
ทำไมควรตรวจหัวใจ ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Cardiac MRI?
- ปลอดภัย และไม่ใช้รังสีในการสร้างภาพ เนื่องจากใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- เป็นวิธีในการประเมินความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ ขนาดหัวใจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการประเมินผู้ป่วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยบางกลุ่ม ที่ทำ ECHO แล้วเห็นไม่ชัด เนื่องจากสาเหตุบางอย่าง
- เป็นวิธีที่บ่งบอกลักษณะของเนื้องอกต่างๆที่ตรวจเจอ และตรวจแผลเป็นของหัวใจได้ ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยโรคหลายๆโรคได้
- สามารถบอกได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจบริเวณนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยสังเกตจากรอยแผลเป็นของหัวใจ ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วยอย่างมาก
- เป็นเครื่องมือหลักในการประเมินผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เพื่อประเมินความผิดปกติต่างๆ รวมทั้งประเมินการทำงานของหัวใจทั้ง 2 ห้อง
จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรควรตรวจหัวใจ ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Cardiac MRI
- เมื่อสงสัยภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ เช่น ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิม หรือผู้ป่วยบางกลุ่มอาจมาด้วยอาการจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ก็ได้ โดยที่อาการต่างๆมักจะสัมพันธ์กับการออกแรง หรือภาวะที่มีการกระตุ้นด้วยอารมณ์ที่รุนแรง
- เมื่อมีภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดแบบซับซ้อน
- เมื่อสงสัยภาวะเยื่อหุ้มหัวใจ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
- ในกรณีที่ตรวจพบเส้นเลือดหัวใจตีบแล้ว ต้องการประเมินว่ากล้ามเนื้อหัวใจบริเวณนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพื่อวางแผนว่าการรักษาด้วยการทำบอลลูนใส่ขดลวด หรือการผ่าตัด Bypass เส้นเลือดหัวใจยังมีประโยชน์กับผู้ป่วยอยู่หรือไม่
ตรวจหัวใจ ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Cardiac MRI อันตรายหรือไม่?
เป็นเครื่องที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับคลื่นวิทยุ เกิดการสะท้อนกลับมาที่ตัวรับสัญญาณ ถูกแปลงเป็นภาพ 3 มิติ ไม่มีรังสีใดๆ ผลข้างเคียงมักจะเกิดการเสียวฟัน สำหรับผู้ที่เพิ่งอุดฟันมา และผู้ที่มีรอยสักบนร่างกาย อาจได้รับการระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย ส่วนผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบต่อกระจกตาได้การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Cardiac MRI?
ก่อนตรวจ
- ผู้ป่วยต้องทําแบบประเมินความปลอดภัยของแผนกเอ็มอาร์ไอก่อนการตรวจ เนื่องจากเครื่องเอ็มอาร์ไอมี สนามแม่เหล็กแรงสูงจึงไม่อนุญาตให้นําโลหะใดๆ ที่ไม่สามารถเข้ากับเครื่องเอ็มอาร์ไอได้
- ผู้ป่วยควร เปลี่ยนเสื้อผ้าโดยใส่ชุดของทางโรงพยาบาล ขอให้ท่านงดน้ำ หรืออาหาร 4-6 ชั่วโมง บางกรณีอาจต้องมีการฉีดยา (สี) ร่วมด้วย ถ้าผู้ป่วยมีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไต ซึ่งอาจทําให้ไตทํางานผิดปกติ อาจจําเป็นต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อดูการทํางานของไตก่อนเริ่มตรวจ
- ในหญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ลิ้นหัวใจเทียมบางชนิด หูชั้นในเทียม เครื่องกระตุ้นประสาท โปรดแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจ
- ถ้าผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายที่ต้องอยู่ในที่แคบๆ หรือกลัวความแคบ โปรดแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ เพื่อขอยาคลายเครียดหรือยานอนหลับก่อนการตรวจ
- เนื่องจากมีสนามแม่เหล็กกําลังแรงในห้องเอ็มอาร์ไอ ดังนั้นก่อนเข้าห้องเอ็มอาร์ไอต้องถอดสิ่งต่างๆ ที่เป็นโลหะไว้ในตู้ ที่ทางโรงพยาบาลจัดให้ รวมทั้ง นาฬิกา บัตรเครดิต เครื่องประดับ ฟันปลอม วิกผม เป็นต้น
ระหว่างการตรวจ
- ในระหว่างการตรวจ ผู้ป่วยจะนอนหงายบนเตียงที่เคลื่อนที่เข้าไปในเครื่อง MRI ได้ จะมีการรัดหรือหนุนบางส่วนเพื่อให้ได้ท่าที่ถูกต้องและสบายที่สุด โดยจะมีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณวางอยู่รอบๆ บริเวณที่จะตรวจ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 -90 นาทีขึ้นอยู่แต่ละบุคคล
- บางครั้งอาจต้องกลั้นหายใจตามที่แพทย์บอก ผู้รับการตรวจเพียงแต่ทำใจให้สงบ นอนให้สบาย ไม่ต้องกังวล
- ในกรณีที่ต้องฉีดยา(สี) ร่วมกับการตรวจ โดยสอดท่อเล็กๆ เข้าทางเส้นเลือดดําก่อนเข้าห้องตรวจและฉีดยา(สี) หลังจากตรวจไปแล้วประมาณ 30-45 นาที ที่สําคัญ คือ ต้องไม่ขยับตัวหรือศีรษะในระหว่างการฉีดยา หากเป็นการตรวจดูภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีการให้ยาทางเส้นเลือดดำเพื่อดูว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ ระหว่างที่ได้ยาอาจมีอาการใจสั่นได้ หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกระหว่างตรวจให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยทันที
หลังการตรวจ
- ผู้ที่เข้ารับการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Cardiac MRI สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่อาจรู้สึกขมในปาก บางรายอาจรู้สึกคลื่นไส้หรือเวียนศีรษะจากการฉีดสารทึบรังสีได้
- แพทย์จะทำการนัด เพื่ออธิบายผลการตรวจ กรณีมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามเจ้าหน้าหรือปรึกษาแพทย์ได
- แต่ในกรณีที่มีการฉีดยา(สี) ร่วมการตรวจ ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในระหว่างการให้นมบุตรต้องงดให้นมบุตรหลังจากฉีดยาแล้ว 48 ชั่วโมง
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล เราพร้อมดูแลหัวใจของคุณ ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะหัวใจเป็นสิ่งสำคัญ หากมีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรืออาการที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจ ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์หัวใจ