Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วย MRI

9 ส.ค. 2567

     การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging) หรือที่เรียกว่า MRI  เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่วินิจฉัยภาวะผิดปกติในศีรษะ ว่าส่วนไหนเป็นจุดเสียหายที่ทำให้เกิดโรค ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสมอง เส้นเลือดแดง หรือดำ สามารถค้นพบเนื้องอก มะเร็ง การโป่งพอง เลือดออกของสมองได้อย่างพร้อมกัน ซึ่งการตรวจ MRI นั้นเป็นการตรวจที่ใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็ก สร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้รังสีเอกซเรย์ในการทำให้เกิดสัญญาณการสร้างภาพตามระนาบได้ทั้งแนวขวาง แนวยาวและแนวเฉียง แบบ 3 มิติ ภาพถ่ายที่ได้จึงมีความคมชัดสูง มีความใกล้เคียงกับอวัยวะจริงมากที่สุด แพทย์จึงเห็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจน และมีความแม่นยำสูงสามารถตรวจได้ทุกวัย แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานความอันตรายจากการตรวจ MRI ต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามหากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการตรวจ  MRI โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์  

เมื่อมีอาการเหล่านี้ควรมารับการตรวจสมอง ด้วยวิธี MRI BRAIN (ตรวจเนื้อสมอง)

  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปวดศีรษะรุนแรง
  • ความจำเสื่อม พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีความสับสนมากขึ้น
  • มีอาการชักหรือหมดสติบ่อย
  • มีอาการวิงเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน เสียการทรงตัว มองเห็นภาพซ้อน
  • มีอาการปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดติดขัด
  • อาการอื่นๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร

การเตรียมตัวก่อนการตรวจด้วยเครื่อง MRI

  • กรณีผู้ป่วยที่สามารถให้ความร่วมมือ ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ
  • กรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือได้ ต้องได้รับยานอนหลับ หรือยาสลบ ตามดุลยพินิจของแพทย์ และต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 - 6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ
  • ควรงดใช้เครื่องสำอางบางชนิดก่อนตรวจ เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะ ทำให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพได้
  • ควรถอดฟันปลอม เครื่องประดับโลหะทุกชนิด
  • ผู้ป่วยติดเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องมือที่ฝังอยู่ในร่างกาย หรือใส่เหล็กจัดฟัน ต้องผ่านดุลพินิจจากแพทย์ก่อน
  • ผู้ที่ต่อผมปลอม ควรแจ้งแพทย์ก่อน เนื่องจากอาจมีสารบางชนิดที่รบกวนการแสดงผลการตรวจได้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรแจ้งแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจ MRI

MRI สมองใช้เวลาเท่าไหร่

ใช้เวลาประมาณ 30 - 90 นาที ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล  โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารับบริการนอนลงบนเครื่อง จัดท่าทางให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
  • บางรายอาจได้รับยานอนหลับ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันเสียง และถือลูกบีบมือยางฉุกเฉิน
  • นำเครื่องจับสัญญาณ (Magnetic Coil) มาครอบที่ศีรษะ เคลื่อนเข้าไปในตัวเครื่องคล้ายอุโมงค์ อยู่ในความสงบนิ่ง สบายๆ
  • ระหว่างการตรวจผู้ป่วยต้องไม่ขยับ หรือเคลื่อนไหวส่วนที่ตรวจเพื่อจะได้ภาพชัดเจน
  • รอรับฟังผลตรวจตามนัดหมายของแพทย์

การตรวจ MRI สมองสามารถตรวจหาอะไรได้บ้าง

  • ตรวจหาโรคหลอดเลือดสมอง
  • ตรวจหาสาเหตุการชัก
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • โรคปลอกประสาทอักเสบ
  • โรคสมองขาดเลือด
  • เนื้องอกสมอง

MRI สมอง อันตรายไหม

  เป็นเครื่องที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับคลื่นวิทยุพลังงานสูง เกิดการสะท้อนกลับมาที่ตัวรับสัญญาณ ถูกแปลงเป็นภาพ 3 มิติ ไม่มีรังสีใดๆ ผลข้างเคียงมักจะเกิดการเสียวฟัน สำหรับผู้ที่เพิ่งอุดฟันมา และผู้ที่มีรอยสักบนร่างกาย อาจได้รับการระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย ส่วนผู้ที่สวมคอนแทคเลนส์ที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบต่อกระจกตาได้

ตรวจสมองด้วยเครื่อง MRI ต่างกับการตรวจด้วยวิธี CT Scan อย่างไร

   MRI มีความปลอดภัยมากกว่า เพราะการตรวจ CT Scan จะใช้วิธีการปล่อยลำแสง X-Ray ผ่านลำตัวผู้รับการตรวจเพื่อให้เกิดเงาภาพบนฉาก ใช้สารทึบแสงมักจะเป็นชนิดที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน เหมาะแก่การตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกมากกว่า ใช้เวลา 10-15 นาที อาจทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนัง และไตในระยะยาวได้

ความแตกต่างระหว่าง การตรวจวินิจฉัย      ข้อจำกัด

CT Scan 
เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
ปล่อย X-Ray ในการตรวจ
ได้ภาพแบบ 3 มิติ

วินิจฉัยโรคเกี่ยวกับกระดูก ปอด การบาดเจ็บของอวัยวะภายใน เนื้องอก ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10 – 15 นาที จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี เพื่อเพิ่มความชัดเจนของภาพ เช่น ในกรณีที่ต้องดูเนื้องอกหรือเส้นเลือด  สามารถตรวจผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือโลหะ ภายในร่างกายได้

MRI
เป็นเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับคลื่นความถี่วิทยุ ในการตรวจ ได้ภาพ 3 มิติ เสมือนจริง ให้รายละเอียดได้ชัดกว่า CT Scan

วินิจฉัยตรวจเนื้อเยื่ออ่อน กล้ามเนื้อ หลอดเลือด สมอง เส้นประสาทไขสันหลัง ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30-90 นาทีขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสีในการตรวจ ใช้ในบางกรณีเท่านั้น  ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือโลหะภายในร่างกายบางชนิด 

   อย่างไรก็ตามการตรวจทั้ง 2 แบบนั้นจะมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ตรวจค้นหาความผิดปกติของอวัยวะภายในต่างๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และติดตามผลในการรักษาของแพทย์ การเลือกชนิดอาการตรวจ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าความผิดปกติของผู้ป่วยเหมาะสมกับการตรวจชนิดใด
หลังการตรวจ หากมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดแสบ หายใจติดขัด ควรรีบแจ้งแพทย์โดยทันที
 
   โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพหลากหลายสาขาที่พร้อมในการดูแล มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคยาก และมีอาการซับซ้อน เพื่อให้การรักษาและการช่วยชีวิตผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติและมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น


สนับสนุนข้อมูลโดย: 
นพ. ธีรเดช เทพเกษตรกุล แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบประสาทและสมอง
ศูนย์การแพทย์ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 1745 ต่อ ศูนย์ระบบประสาทและสมอง

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.