โรคตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบติดเชื้อ อาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน
โรคตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบติดเชื้อ เป็นโรคทางตาที่พบได้บ่อย เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคมักจะเป็นเชื้อไวรัส แต่ก็อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้ ซึ่งมักจะมีการระบาดในชุมชน โรงเรียน ที่ทำงาน สถานรับเลี้ยงเด็ก สระว่ายน้ำ โดยจะติดต่อกันได้ง่ายผ่านทางการสัมผัสน้ำตา ขี้ตา หรือการใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดมือ ลูกบิดประตู โทรศัพท์มือถือ
โดยโรคตาแดงส่วนมากมักเป็นแบบเฉียบพลัน ใช้เวลาหายประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากพบมีอาการแบบเรื้อรังต่อเนื่อง ควรต้องหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติม เช่น ภูมิแพ้ โรคของกระจกตาอื่น ตาแห้ง การใช้คอนแทคเลนส์ หรือใช้น้ำยาล้างตาเป็นประจำ
อาการของโรคตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบติดเชื้อ
โรคตาแดงมักจะเริ่มเป็นในตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน และจะติดต่อสู่ตาอีกข้างหนึ่งในระยะเวลาอันสั้น
- โดยมักจะแดงก่ำทั่วทั้งลูกตา ในบางรายอาจจะมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาร่วมด้วย ทำให้เห็นเป็นลักษณะตาแดงเป็นปื้นๆ
- คันเคืองตา จากการอักเสบของเยื่อบุตา ทำให้มีเยื่อบุตาบวม แดง เกิดอาการระคายเคืองได้
- ขี้ตา ลักษณะขี้ตาอาจช่วยบอกสาเหตุของโรคตาแดงได้ เช่น ขี้ตาใสๆเหมือนน้ำตา มักเกิดจากเชื้อไวรัสหรือโรคภูมิแพ้, ขี้ตาเป็นเมือกขาวขุ่น มักเกิดจากตาแห้งหรือภูมิแพ้ก็ได้, ขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว เป็นสะเก็ดติดกรังตอนเช้า มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- อาจพบตามัวได้เล็กน้อยเนื่องจากมีน้ำตาหรือขี้ตาที่มากขึ้นได้
อาการดังกล่าวหากทิ้งไว้ การติดเชื้อจะลุกลามเข้าไปในกระจกตา ทำให้อาการแสบเคืองตา ปวดตา ตาแดง สู้แสงไม่ได้ เป็นมากขึ้น และมักพบมีอาการตามัวที่เป็นมากขึ้น จากกระจกตาถลอกและบวมได้ ทำให้การดำเนินโรคเป็นนานขึ้นอีกด้วย
คำแนะนำการปฏิบัติตน
- ล้างมือให้สะอาด ก่อนและหลังหยอดตา และเมื่อสัมผัสกับน้ำตา ขี้ตา เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
- ห้ามขยี้ตา หรือจับตา หากมีอาการคันเคืองตา ปวดตา ควรหลับตาสักพัก หรือหยอดยาเพื่อบรรเทาอาการ
- ลดการใช้สายตา
- หากมีน้ำตาหรือขี้ตา ไหล ควรใช้สำลี ชุบน้ำต้มสุกเช็ด และทิ้งในถังขยะที่ปิดมิดชิด ไม่ควรใช้ผ้าขนหนู หรือกระดาษทิชชู่ใช้ซ้ำๆ
- งดใส่คอนแทคเลนส์
- การประคบเย็น อาจช่วยบรรเทาอาการปวดตา เคืองตาได้
- หยอดยา และติดตามอาการตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หากมีอาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ควรรีบกลับมาพบจักษุแพทย์
การป้องกันโรคตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบติดเชื้อ
- อย่าใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น
- ล้างมือให้สะอาด เมื่อต้องสัมผัสกับน้ำตา ขี้ตา หรือสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการจับตาหรือขยี้ตา เพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้าสู่ตา
ดวงตานั้นเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อการมองเห็น ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาหรือตรวจรักษา นอกจากนี้แนะนำตรวจสุขภาพตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองโรคทางตา การตรวจสุขภาพตา จะช่วยทำให้ตรวจพบความผิดปกติของโรคทางตาได้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. พิชชาทร จิตต์นิลวงศ์ จักษุแพทย์เฉพาะทาง
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ตาเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ ศูนย์ตาเฉพาะทาง