Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม รู้สึกหายใจไม่เต็มปอด อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ

13 ม.ค. 2568


หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม รู้สึกหายใจไม่เต็มปอด อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ

     อาการหายใจไม่อิ่มหรือหายใจไม่เต็มปอด (Shortness of breath หรือ Dyspnea) เป็นหนึ่งในอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ หรือแม้แต่โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบอื่น ๆ ในร่างกาย เมื่อเกิดอาการหายใจไม่เต็มปอดหรือรู้สึกไม่อิ่มจากการหายใจ มักจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลว่าอาจเป็นอาการของโรคร้ายแรง ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงสาเหตุของอาการดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญ

อาการหายใจไม่อิ่มเป็นอย่างไร ?

     1. รู้สึกเหนื่อยง่าย  แม้จะทำกิจกรรมเล็กน้อยก็รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมาก

     2. หายใจเร็วขึ้น  หายใจถี่และตื้นกว่าปกติ  อาจสังเกตเห็นการหายใจที่เร็วและแรงขึ้น

     3. หายใจหอบ  รู้สึกหายใจไม่สะดวก  เหมือนมีอะไรมาอัดแน่นที่หน้าอก  อาจมีเสียงหวีดหรือเสียงดังเวลาหายใจ
     4. เจ็บหน้าอก อาจมีอาการเจ็บแน่นหรือตึงที่หน้าอก โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึกๆ
     5. รู้สึกอึดอัดหรือหายใจไม่เต็มปอด เหมือนมีอะไรมาบีบรัดที่หน้าอก
     6. หัวใจอาจเต้นเร็วกว่าปกติ เพื่อพยายามชดเชยการขาดออกซิเจน
     7. เวียนหัวหรือมึนงง อาจเกิดจากการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง
     8. ในกรณีที่รุนแรง อาจทำให้หมดสติได้

 สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม

     อาการหายใจไม่อิ่มสามารถเกิดจากหลายสาเหตุที่แตกต่างกัน ทั้งจากปัญหาของระบบทางเดินหายใจ หรือระบบอื่นๆ ในร่างกาย ดังนี้
     1. โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ

          1.1 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรืออาจรู้จักกันทั่วไปในชื่อ ถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ปอดมีการอุดกั้นไม่สามารถขยายตัวเต็มที่ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะเมื่อออกแรง ,มีอาการเหนื่อยแม้กระทั่งอยู่เฉยๆหรืออาจรุนแรงถึงขั้นหอบเหนื่อยหายใจลำบากจนหมดสติหากอาการกำเริบฉับพลัน

          1.2 หอบหืด (Asthma) โรคหอบหืดเกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจหลังมีปัจจัยกระตุ้นซึ่งได้แก่ ฝุ่นควัน ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ อากาศเย็น + แห้ง PM2.5 การติดเชื้อไวรัสแบคทีเรีย ซึ่งมักจะทำให้หายใจลำบากและรู้สึกหายใจไม่เต็มปอดอย่างฉับพลันทันทีหากให้การรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ทันที

          1.3 โรคปอดบวม (Pneumonia) การติดเชื้อในปอดทำให้เกิดการอักเสบและทำให้ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดี ส่งผลให้หายใจไม่อิ่ม มีอาการไอ เหนื่อย เสมหะเปลี่ยนสี

          1.4 โรคมะเร็งปอด การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในปอดอาจทำให้เกิดอาการหายใจลำบากได้ หรือมะเร็งอาจไปกดทับหลอดลมทำให้ลมไม่เข้าปอดได้
     2. โรคเกี่ยวกับหัวใจ

          2.1 โรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure) เมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การไหลเวียนของเลือดในร่างกายอาจหยุดชะงัก ทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่มหรือเหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ ขาบวมกดบุ๋ม

          2.2 โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) เมื่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบหรืออุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และขาดเลือด อาจทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม
     3. ความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น โรคเส้นประสาทส่วนกลางหรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) อาจทำให้การควบคุมกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจไม่ดีพอกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจอ่อนแรง ส่งผลให้เกิดอาการหายใจไม่เต็มปอด เหนื่อย
ิ     4. ความเครียดและปัญหาจิตใจ อาการหายใจไม่เต็มปอดหรือหายใจลำบากยังสามารถเกิดจากความเครียดหรืออาการวิตกกังวล (Anxiety) การหายใจตื้น (Hyperventilation) ที่เกิดจากความเครียดสามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหายใจไม่อิ่ม แม้ว่าจะไม่มีปัญหาทางร่างกายที่เกิดขึ้น นอกจากภาวะหอบทางอารมณ์ (Hyperventilation Syndrome) จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้าแล้วนั้น ยังทำให้เกิดอาการอื่น เช่น ใจสั่นคล้ายจะเป็นลม คล้ายจะเสียชีวิต

     5. โรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น

         5.1. กระดูกอ่อนทรวงอกอักเสบ (Costochondritis )

         5.2. กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นต้น

วิธีการป้องกันอาการหายใจไม่อิ่ม

     การป้องกันอาการหายใจไม่อิ่มสามารถทำได้โดยการดูแลสุขภาพและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการหายใจไม่สะดวก เช่น

          - หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หากมีประวัติหอบหืดหรือภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นอาการ เช่น ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ หรือสารเคมี

          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพปอดและระบบทางเดินหายใจ

          - การหลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ทำให้หายใจลำบาก หากอากาศหนาวจัดหรือมีมลพิษสูง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษหรือที่ที่อากาศไม่บริสุทธิ์ และรวมถึงการหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ การสูบบุหรี่หรือการสัมผัสกับควันบุหรี่

          - การฝึกหายใจลึก การหายใจลึกและช้าเป็นวิธีการช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดีขึ้นและลดความเครียด

          - รักษาโรคประจำตัวเดิมให้ดี เช่น ภูมิแพ้จมูก หรือหอบหืด หรือถุงลมโป่งพอง

หายใจแบบไหน...ถึงควรไปพบแพทย์ ?

     เนื่องจากอาการเหนื่อย หรือหายใจไม่อิ่มเกิดได้จากหลายสาเหตุดังกล่าวไปข้างต้น ผู้ป่วยทุกรายที่รู้สึกเหนื่อยง่ายหรือหายใจไม่อิ่มควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุทุกราย แม้จะมีหรือไม่มีอาการอื่นๆ หากคุณมีอาการหายใจไม่อิ่มหรือหายใจไม่เต็มปอดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเกิดขึ้นพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น เจ็บหน้าอก, หัวใจเต้นเร็ว, บวมที่ขาหรือข้อเท้า, หรือมีอาการเหนื่อยล้าเกินไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อการประเมินและการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง

 

วิธีการรักษาภาวะหายใจไม่อิ่ม  

     การรักษาภาวะหายใจไม่อิ่มขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ  ดังนั้นจะต้องมีการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการอย่างละเอียดก่อนการรักษา เพื่อจะได้รักษาได้อย่างตรงจุด  การวินิจฉัยที่ถูกต้องจากแพทย์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย  ตรวจเลือด  เอกซเรย์ปอด  หรือการตรวจอื่นๆ  เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการหายใจไม่อิ่ม  จากนั้นจึงวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

     อาการหายใจไม่เต็มปอดหรือหายใจไม่อิ่มอาจเป็นสัญญาณของหลายโรค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด  อย่าละเลยอาการเหล่านี้ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงได้  การวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

     หากแพทย์ให้การรักษาไม่ทันท่วงที หรือมาตรวจในช่วงที่อาการเยอะหรือเป็นมานานอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตหลายอย่าง เช่น ในผู้ป่วยที่ปอดถูกทำลายถาวรจะมีอาการเหนื่อยไปตลอดชีวิตไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป แต่หากมาพบแพทย์ในขณะที่ปอดยังทำงานได้ หรือถูกทำลายไม่มากอาจสามารถแก้ไขให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

         

สนับสนุนข้อมูลโดย :  นพ.สหรัฐ โยธินนรธรรม แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก
9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.