สุขภาพดีอย่างเบาใจ ห่างไกล “โรคเบาหวาน”

โรคเบาหวาน อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีอาการอะไรบ่งบอกใดๆ และจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตตนเอง เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาให้ถูกวิธี มาทำความรู้จักกับโรคเบาหวานกันเถอะ!
โรคเบาหวานคืออะไร ?
โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) คือโรคที่เกิดจากปัญหาการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (กลูโคส) เนื่องจากความผิดปกติในการผลิตหรือการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน (Pancreas) และมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายนำกลูโคสจากอาหารไปใช้เป็นพลังงานในเซลล์ต่างๆ โดยปกติอินซูลินจะทำงานร่วมกับระบบต่างๆ ของร่างกายในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตหรือใช้อินซูลินได้อย่างเหมาะสม น้ำตาลในเลือดจะสะสมสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพมากมาย
“อินซูลิน” เกี่ยวข้องกับ “โรคเบาหวาน” อย่างไร ?
อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ซึ่งสร้างและหลั่งออกมาจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน มีหน้าที่พาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต หากร่างกายขาดอินซูลินหรืออินซูลินออกฤทธิ์ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ร่างกายก็จะนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ เป็นเหตุให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดเป็น “โรคเบาหวาน” นอกจากนี้การขาดอินซูลินยังทำให้เกิดความผิดปกติในด้านอื่นๆด้วย เช่น มีการสลายตัวของสารไขมันและโปรตีนในร่างกายที่ผิดปกติ
ชนิดของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุของการเกิดโรค
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM) เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบในเด็ก
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T2DM) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน พบมากในวัยผู้ใหญ่ มักพบร่วมกับโรคร่วมอื่นๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2 - 3 ของการตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้วเบาหวานก็จะหายไป แต่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคตได้
- โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes) มีได้หลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น
ใครบ้างมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
- ทุกคนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน (BMI > 25 กก./ม.2 และ/หรือ มีรอบเอวเกินมาตรฐาน) ร่วมกับ มีพ่อ แม่ พี่ หรือ น้อง เป็นโรคเบาหวาน
- เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือรับประทานยาควบคุมความดันโลหิตอยู่
- เป็นโรคไขมันในเลือดสูง (ระดับไตรกลีเซอไรด์ > 250 มก./ดล.และ/หรือ HDL< 35 มก./ดล.) หรือได้รับยาลดไขมันในเลือดอยู่
- มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (หรือเคยคลอดบุตรที่น้ำหนักตัวแรกเกิดเกิน 4 กิโลกรัม)
- มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
- เคยได้รับการตรวจระดับน้ำตาลผิดปกติ เป็นเกณฑ์เสี่ยงเบาหวาน
- ผู้หญิงที่มีโรคถุงน้ำในรังไข่
คนที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเบาหวานมักมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างรวมกัน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวานเป็นประจำทุกปี
โรคเบาหวานมีอาการอย่างไร ?
โรคเบาหวานโดยทั่วไปจะมีอาการที่เกิดขึ้นจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป (Hyperglycemia) ซึ่งอาจไม่แสดงอาการในช่วงแรก ๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีเบาหวานประเภทที่ 2 แต่เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น จะเริ่มแสดงอาการที่เด่นชัดขึ้น ได้แก่ กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมีปริมาณมากและบ่อย รวมถึงอาการต่างๆ เหล่านี้ อาทิ
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- มีอาการชาที่เท้า หรือรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่ปลายเท้า หรือที่เท้า
- น้ำหนักลดผิดปกติ โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้
- เมื่อเกิดบาดแผลที่บริเวณต่างๆ ของร่างกายมักหายช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะแผลที่เกิดกับบริเวณเท้า
- สายตาพร่ามัว
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
การวินิจฉัยเบาหวาน สามารถทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 4 วิธี ดังต่อไปนี้
- มีอาการโรคเบาหวานชัดเจน ได้แก่ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ ร่วมกับตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร มีค่า ≥200 มก./ดล.
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8ชั่วโมง) ≥ 126 มก./ดล.
- การตรวจความทนต่อกลูโคส โดยให้รับประทานกลูโคส 75 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่ 2 ชั่วโมง ถ้ามีค่า ≥ 200 มก./ดล.
- การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (A1C) ≥5% โดยวิธีการตรวจและห้องปฏิบัติการต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด
การป้องกันโรคเบาหวาน
ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ แต่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นสามารถป้องกันได้ การดูแลตนเองเพื่อป้องกันเป็นสิ่งสำคัญ สามารถเริ่มได้จากการสำรวจความเสี่ยงของตนเองก่อนว่า มีความเสี่ยงต่อการเป็น โรคเบาหวานหรือไม่ หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงโรคเบาหวาน ควรมาตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หากตรวจพบจะได้สามารถเริ่มทำการรักษาได้โดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการหรือภาวะแทรกซ้อน และสำหรับผู้ที่ยังไม่ตรวจพบแต่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็จะได้วางแผนป้องกันด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก เพื่อไม่ให้ตนเองเข้าข่ายโรคเบาหวานให้มากที่สุด
การรักษาโรคเบาหวาน
การรักษาโรคเบาหวาน เป็นการรักษาที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ และ ที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยต้องตระหนักถึงความสำคัญของการรักษา โดยต้องเข้าใจก่อนว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงปกติที่สุดได้ ผู้ป่วยเบาหวานสามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงทำงานประจำได้ตามปกติ หากแต่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้มาก
- การควบคุมอาหาร : การรักษาโรคเบาหวานด้วยวิธีการควบคุมอาหารมีความสำคัญมากในการลดระดับน้ำตาลในเลือด และถือเป็นการรักษาหลักที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายควรเข้าใจและปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยควรจำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เน้นทานโปรตีนและผัก
- การออกกำลังกาย : ช่วยให้อินซูลินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนะนำว่าควรออกกำลังกายชนิดแอโรบิค และเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน เช่น วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และออกกำลังกายชนิดต้านน้ำหนัก เช่น การยกเวท เป็นเวลาอย่างน้อย 45 นาทีต่อวัน 2 วันต่อสัปดาห์ และไม่ควรนั่งอยู่เฉยๆ หรือนอนเล่นพักผ่อนเกิน 90 นาที หากเกินควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ
- การใช้ยา : การรักษาโรคเบาหวานโดยการใช้ยา แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของโรคเบาหวาน เช่น เบาหวานชนิดที่ 1 ควรรักษาโดยการฉีดอินซูลินเท่านั้น ส่วนในเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะพิจารณาตามโรคร่วม, ความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อน โอกาสการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ ของผู้ป่วย เพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกใช้ยา
หากเป็นเบาหวานระยะแรกๆ ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หากผู้ป่วยควบคุมน้ำตาลได้ดี ออกกำลังกาย คุมอาหารได้ดี การคุมระดับน้ำตาลก็จะได้เป้าหมายในระยะยาวก็จะไม่เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่ เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ เบาหวานขึ้นตา ไตวาย เส้นประสาทปลายเท้าเสื่อม หากเกิดโรคแทรกซ้อนแล้ว ควรเข้ารับการรักษาและดูแลตนเองให้ดีเป็นพิเศษ ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง การวินัยในการรักษาและความร่วมมือของผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.วีนิตา พิพิธประพัฒน์ แพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อ เบาหวาน และไทรอยด์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง