Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ทำงานหนัก เครียด ไม่พัก เสี่ยงหัวใจขาดเลือด

1 พ.ค. 2567


หัวใจขาดเลือด คือ ภาวะที่มีเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้ ‘กล้ามเนื้อหัวใจตาย’ และเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจตาย การบีบตัวของหัวใจก็จะลดลง เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือที่เรียกว่า หัวใจวาย มีน้ำท่วมปอด ซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ที่คนทั่วไปได้ยินในชื่อ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้หัวใจขาดเลือดก็คือ หลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน’ นั่นเอง
 
ใครบ้างที่เสี่ยงหัวใจขาดเลือด?
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีความเครียดสะสมเรื้อรัง
  • ผู้ชายที่อายุ 45 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่อายุ 55 ปีขึ้นไป หรือหลังวัยหมดประจำเดือน
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด
 
หัวใจขาดเลือดกับน้ำท่วมปอด เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
   หัวใจเปรียบเหมือนปั๊มน้ำที่ปั๊มเลือดจากร่างกาย โดยนำเลือดเสียหรือเลือดดำส่งไปที่ปอด ขณะที่ปอดก็ทำหน้าที่เหมือนโรงงานซักฟอก คอยฟอกเลือดด้วยการเติมออกซิเจนเข้าไปให้กลายเป็นเลือดดีหรือว่าเลือดแดง แล้วส่งกลับไปที่หัวใจ จากนั้นหัวใจก็จะบีบตัวเพื่อลำเลียงเลือดดีไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
 
    เมื่อไหร่ที่หัวใจบีบตัวได้ไม่ดี เลือดดีจากปอดก็จะไม่สามารถไหลกลับไปยังหัวใจได้เต็มที่ จึงมีเลือดคั่งอยู่ที่ปอด ที่เรามักเรียกกันว่า ‘น้ำท่วมปอด’ นั่นเอง และเมื่อน้ำท่วมปอดจะทำให้มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่ออก เมื่อไม่สามารถหายใจได้อย่างเต็มที่ ออกซิเจนในเลือดก็จะลดลง เสี่ยงต่อการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน และหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิด รวมถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงด้วย ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตด้วย
 
อาการแบบไหน อาจเป็นสัญญาณเตือนหัวใจขาดเลือด ที่ต้องรีบพบแพทย์
  • เจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกแรงหรือทำงาน
  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • ใจสั่น ใจเต้นเร็ว
  • หน้ามืด เป็นลม
  • รู้สึกอึดอัด หายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะเวลานอนราบ และดีขึ้นเมื่อลุกนั่ง
หากเริ่มมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน อย่ารีรอ! ให้รีบติดต่อเรียกรถพยาบาล โทร.1669 หรือ 1745 เพราะการปฐมพยาบาลระหว่างเดินทางมายังโรงพยาบาลจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่างๆ ที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
 
ทำงานหนัก หักโหมออกกำลังกาย ทำเสี่ยงโรคหัวใจ
    นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หัวใจจะได้รับการฝึกให้ทำงานหนักอย่างสม่ำเสมอ แต่รู้หรือไม่ว่า การหักโหมออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้เกิดการอักเสบทุกส่วนของร่างกาย ร่วมทั้งหัวใจ ทั้งหัวใจห้องบน และหลอดเลือดหัวใจ การเกิดการอักเสบที่หัวใจห้องบนเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้วที่เรารู้จักกันในชื่อ AF หรือ atrial fibrillation ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ซึ่งอาจหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง เกิดเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตส่งผลเสียต่อร่างกายและคุณภาพชีวิตได้ การอักเสบที่เกิดจากการออกกำลังกายที่หนักเกินไปสามารถเกิดกับหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบก่อนระยะเวลาที่ควรจะเป็น ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ในที่สุด
 
ความเครียดสะสม ทำร้ายหลอดเลือดหัวใจ
ในส่วนของคนทำงาน การทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทำให้เกิดภาวะเครียดสะสม แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วความเครียดก็มีข้อดี คือกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว แต่เมื่อใดก็ตามที่ความเครียดนั้นกลายเป็นความเครียดสะสม ก็จะเริ่มส่งผลเสีย ความเครียดจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำตาลและนำไขมันออกมาเผาผลาญเป็นพลังงานมากขึ้น เมื่อระบบต่างๆ ของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ก็เหมือนรถยนต์ที่ขับระยะทางไกลๆ นานๆ เครื่องก็มีโอกาสพังสูง ร่างกายก็เช่นกัน เมื่อถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างไม่หยุดพัก สุดท้ายก็เกิดสารพัดโรคตามมา และไม่ใช่แค่โรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ยังรวมไปถึงโรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่นๆ ได้ด้วย
 
การป้องกันหัวใจขาดเลือด
  • เริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพโดยรวมตั้งแต่การรับประทานอาหารที่พอเหมาะทั้งชนิด และปริมาณ ออกกำลังกายแบบแอโรบิคสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
  • หากมีโรคประจำตัว ควรรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ถ้าสังเกตุว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที
  • สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการตรวจคัดกรองสุขภาพ โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคหัวใจหลายชนิดสามารถตรวจพบ และรักษาได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ
 
การดูแล และการรักษาหัวใจขาดเลือด
  • เส้นเลือดหัวใจตีบและหัวใจขาดเลือด ไม่จำเป็นต้องเจ็บแน่นหน้าอกเสมอไป อาจมีอาการเพียงแค่เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง หรืออาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ดังนั้นหากตรวจพบแต่แรก อายุรแพทย์โรคหัวใจสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
  • โดยทั่วไปแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถทำบอลลูนขยายเส้นเลือด ต่อด้วยการใส่ขดลวดได้ เว้นแต่มีโรคร่วมอื่นๆ เช่นเบาหวาน ลิ้นหัวใจตีบ หรือเส้นเลือดตีบหลายเส้น และหลายตำแหน่งอาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • ยาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก นอกจากควรรับประทานสม่ำเสมอแล้ว ยังต้องสังเกตผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยาด้วย หากมีอาการผิดปกติ และปรึกษาแพทย์ สามารถปรับยาเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้มากที่สุด
  • ในผู้ป่วยบางรายที่แม้จะได้รับการขยายเส้นเลือดและปรับยาแล้ว แต่หัวใจยังบีบตัวได้น้อย มีความจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์โรคหัวใจเฉพาะทางสรีระไฟฟ้าหัวใจ เพื่อพิจารณาการใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ทั้งนี้เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • การคัดกรองและรักษาโรคหัวใจมีความสำคัญ และรายละเอียดมาก หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจได้ที่ ศูนย์หัวใจ ชั้น 3 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

มั่นใจในการรักษากับศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
  โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพหลากหลายสาขาที่พร้อมในการดูแล มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคยาก และมีอาการซับซ้อน เพื่อให้การรักษาและการช่วยชีวิตผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติและมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ธารา เรืองวีรยุทธ แพทย์เฉพาะทางด้านสรีระไฟฟ้าหัวใจ 
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์หัวใจ

 
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.