Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

6 โรคที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง อาจเป็นอันตรายกับลูกน้อยได้

16 ธ.ค. 2567


     คุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์ทันที อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป ช่วงของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่สำคัญตลอดทั้ง 9 เดือน คุณแม่ต้องไปฝากครรภ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยแพทย์จะนัดเป็นระยะ นอกจากนี้คุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะกังวลเกี่ยวกับลูกน้อยในครรภ์ว่าลูกน้อยจะปกติดีไหม มีโรคหรือภาวะติดเชื้ออะไรจากการป่วยของคุณแม่หรือเปล่าที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อย เพราะการนัดพบแพทย์ในระหว่างการตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรฝากครรภ์ตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้ตนเองว่าตั้งครรภ์ และควรมีความรู้ เพิ่มการใส่ใจในการดูแลตัวเองให้พ้นจากโรคติดเชื้อต่างๆ ที่จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ เพื่อให้ลูกน้อยที่คลอดออกมามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากโรค

     คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรระวังโรคต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อย ในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด หรือระหว่างการเลี้ยงดูลูกน้อย โรคบางประเภทสามารถแพร่จากแม่สู่ลูกได้

     1.HIV/AIDS: โรคเอดส์ หรือ acquired immunodeliciency syndrome (AIDS) มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม RNA retrovirus ชื่อ human immunodeficiency virus (HIV) มีสองสายพันธ์สำคัญคือ HIV-1 และ HIV-2 โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่ที่ระบาดทั่วโลกเกิดจากเชื้อHIV-1 รูปแบบการติดต่อคล้ายกับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B virus) โดยผ่านทางการมีเพศสันพันธ์เป็นหลัก และยังสามารถติดต่อผ่านทางเลือด การได้รับผลิตภัณฑ์เลือดที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือติดต่อผ่านจากมารดาไปยังทารก และทารกอาจได้รับเชื้อจากมารดาได้ 3 ทาง ได้แก่

          1.1. การได้รับเลือดมารดาที่มีเชื้อเอชไอวีผ่านทางรกขณะที่มีการหดรัดตัวของมดลูก (transplacental maternal-fetal microtransfusion)

          1.2 การปนเปื้อนเชื้อเอชไอวีจากสารคัดหลั่งและเลือดในช่องทางคลอดของมารดาขณะคลอด
(maternal cervicovaginal secretions and blood exposure at delivery)

          1.3 การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (breastfeeding) สำหรับ MTCT จากมารดาที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส (antiviral drugs: ARV) ไปสู่ทารกที่ไม่ได้รับนมแม่มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 15 - 40 (เฉลี่ยประมาณร้อยละ 25) โดยคาดว่าร้อยละ 20 ได้รับเชื้อก่อนอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ร้อยละ 50 ได้รับเชื้อในระยะใกล้คลอด และร้อยละ 30 ได้รับเชื้อในระยะคลอด

     2.Hepatitis B (ไวรัสตับอักเสบ B) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของตับ นำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของสาธารณสุขประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 5 ของประชากร โดยการติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจาก “การแพร่เชื้อจากแม่ไปสู่ลูก” (maternal to child transmission) และมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีถึงร้อยละ 8 ในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นการตรวจคัดกรองและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อจากแม่ไปสู่ลูก จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญหน้าที่หนึ่งของสูติแพทย์หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B อาจแพร่เชื้อไปยังทารกได้ในระหว่างการคลอด

     3.Rubella (โรคหัดเยอรมัน) หัดเยอรมันเป็นไวรัส FNA ที่มีฤทธิ์แรงในการก่อลูก วิรูป (teratogen) แม้อุบัติการณ์โดยรวม ๆ ลดลงอย่าง มากจากการให้วัคซีน แต่สตรีวัยเจริญพันธุ์ยังมีความไวต่อเชื้อนี้อยู่ถึงร้อยละ 10 และประมาณร้อยละ 6 ของผู้ที่มีความไวอยู่จะมี seroonversion ขณะตั้งครรภ์
     การติดเชื้อหัดเยอรมันในมารดา มักมีความเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ได้แก่ มีผื่น (มักจะกินเวลา 3 วัน) ต่อมน้ำเหลืองโตทั่ว ๆ ไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง postauricular และ occipital) ซึ่งอาจนำมาก่อนผื่น และข้ออักเสบชั่วระยะสั้น ๆ ระยะฟักตัวราว 14-21 วัน การติดต่อเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับมูกจากนาโสฟาริงซ์ของคนที่มีเชื้อ ระยะที่ติดต่อได้ง่ายที่สุดคือ 2-3 วันก่อนมีผื่น ปวดข้อพบได้บ่อยกว่าข้ออักเสบ แอนติบอดีขึ้นสูงสุดราว 1-2 สัปดาห์หลังเริ่มมีผื่น หรือ 2-3 สัปดาห์หลัง onset ของ viremia ซึ่งเกิดนำมาก่อนผื่นราว 1 สัปดาห์


     4.ไวรัสอีสุกอีใส (varicella-zoster virus; VZV)
เป็นไวรัสดีเอนเอกลุ่ม herpes ที่เป็นสาเหตุของอีสุกอีใส(chickenpox)และงูสวัด (shingles หรือ herpes zoster) อีสุกอีใสเป็นความเจ็บป่วยที่มักเกิดในเด็ก ร้อยละ 90 ของสตรีตั้งครรภ์มีภูมิคุ้มกันแล้วพบการติดเชื้อ VZV ขณะตั้งครรภ์ได้ราว 1-5 ต่อ 10,000 การตั้งครรภ์ ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะรุนแรงมากกว่าในเด็ก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม มีการอักเสบของสมองกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น สำหรับงูสวัด พบน้อยแต่พบบ่อยขึ้นในคนสูงอายุ หรืออิมมูนต่ำ แต่ไม่บ่อยหรือรุนแรงขึ้นในคนตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มตุ่มน้ำใส ๆ มีฐานผื่นแดงกระจายไปตามเดอมาโตม มักไม่รุนแรง มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์น้อยมากผลของการตั้งครรภ์ต่อโรค อุบัติการณ์ไม่ได้เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ แต่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะกรณีปอดอักเสบผลของโรคต่อการตั้งครรภ์ อีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ดังนี้

          4.1. อาจมีภาวะแท้ง (กรณีโรครุนแรงในไตรมาสต้น ๆ)

          4.2. ทารกโตช้าในครรภ์

          4.3. คลอดก่อนกำหนด

          4.4. มีการติดเชื้อของทารก การติดเชื้อในครรภ์ หรือติดเชื้อโดยกำเนิด (con-genital varicella syndrome: CVS)โรคของทารกแรกคลอด (neonatal chickenpox)หรือติดเชื้อระยะคลอด (perinatal infection) / งูสวัด (zoster หรือ shingles) ปรากฏขึ้นในเวลาเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี หลังคลอด

     5.Herpes Simplex Virus (HSV) คือการติดเชื้อเริม ความสำคัญเชื้อไวรัสเริมหรือ herpes simplex virus (HSV) อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งผู้ใหญ่ หารกแรกคลอดและทารกในครรภ์ สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเริม มีโอกาสถ่ายทอดเชื้อไปยังหารกได้ ซึ่งถ้าทารกแรกคลอดติดเชื้อไวรัสนี้จะเป็นอันตรายมาก เนื่องจากทารกมีโอกาสติดเชื้อได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะคลอด การวินิจฉัยให้ได้แต่เนิ่น ๆ และเลือกทางคลอดที่เหมาะสมจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อของทารกลงได้ ชนิดของเชื้อไวรัสHSV เป็นไวรัสชนิด DNA แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามคุณสมบัติทางชีวเคมีและแอนติเอน คือ (1) HSV type I ทำให้เกิดพยาธิสภาพบริเวณอื่นที่ไม่ใช่อวัยวะสืบพันธุ์ (2) HSV type II ทำให้เกิดพยาธิสภาพที่อวัยวะสืบพันพันธุ์

ผลของการติดเชื้อ HSV ต่อการตั้งครรภ์

     5.1. อัตราการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายติดเชื้อปฐมภูมิ

     5.2. การติดเชื้อของทารก ซึ่งการติดเชื้อ HSV จากมารดาผ่านไปยังทารกเป็นไปได้ 2 แบบ คือการติดเชื้อโดยกำเนิด (congenital) หรือติดเชื้อในครรภ์ พบน้อยคือร้อยละ 5 มักจะพบในมารดาที่มี viremia และเชื้อไวรัสผ่านรกไปยังทารกในช่วง 3เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ความพิการที่อาจพบได้ ได้แก่ microcephaly, micropthalmia, retinaldysplasia และ cerebral calcitication เป็นต้น การติดเชื้อปริกำเนิด (perinatal) พบได้บ่อยกว่าการติดในครรภ์ คือติดช่วงระยะคลอดร้อยละ 85 และหลังคลอดร้อยละ 10 ส่วนใหญ่ทารกได้รับเชื้อจากปากมดลูกหรือบริเวณช่องทางคลอด

     6.Toxoplasmosis เกิดจากเชื้อ Toxoplasma gondii ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสัตว์เลือดอุ่นหลายชนิด โดยเฉพาะแมว มี 3 ฟอร์ม คือ 1)tactyzoite ซึ่งติดเชื้อเข้าไปแบ่งตัวอยู่เซลล์ เป็นฟอร์มแอคทีฟที่ติดผ่านรถไปยังทารก 2) bradyzoite เป็นระยะแฝงในเนื้อเยื่อที่อยู่ในรูปของ cyst และ 3) sporozoite เป็น cyst ที่ถูกถ่ายออก (ในอุจจาระแมว เป็นต้น) และกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ คนจะได้รับเชื้อโดยการกินเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกที่มี cyst อยู่ หรือกินของปนเปื้อนจากอุจจาระแมว ผลต่อการตั้งครรภ์

          6.1.การคลอดก่อนกำหนด: มารดาที่มีการติดเชื้อจะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและการแท้งสูงขึ้น แต่ไม่ทำให้โตช้าในครรภ์ ยกเว้นกรณีทารกติดเชื้อในครรภ์

          6.2.ทารกติดเชื้อในครรภ์: มีการติดเชื้อผ่านรกได้ ทารกส่วนใหญ่จะติดเชื้อแบบไม่รุนแรง แต่มีทารกส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรง ประมาณร้อยละ 40 ของทารกแรกคลอดที่มารดาติดเชื้อเฉียบพลันขณะตั้งครรภ์จะมีหลักฐานการติดเชื้อในทารก ความเสี่ยงของทารกที่จะติดเชื้อเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ที่แม่มีการติดเชื้อ จากร้อยละ 15 ที่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ เป็นร้อยละ 71 ที่ 36 สัปดาห์แต่ความรุนแรงของการติดเชื้อจะมากเมื่ออายุครรภ์น้อยโอกาสที่ทารกที่ติดเชื้อในครรภ์แล้วมีอาการจะลดลงจากร้อยละ 61 ที่ 13 สัปดาห์เป็นร้อยละ 9 ที่ 36 สัปดาห์      

     โรคที่สามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกนั้นจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของโรค โดยบางโรคสามารถได้รับการป้องกันหรือรักษาได้ผ่านการตรวจคัดกรองและการดูแลรักษาในช่วงตั้งครรภ์ได้ การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์และการตรวจสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ  เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อตรวจหาและรักษาโรคต่างๆ  และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน หากมีอาการผิดปกติใดๆระหว่างตั้งครรภ์ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำและการดูแลที่เหมาะสม 

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.กิตติ วงษ์กิติโสภณ แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

ศูนย์การแพทย์ :  ศูนย์สตรี ชั้น8 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ ศูนย์สตรี

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.