Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

Check list พฤติกรรมเสี่ยง..... อาจทำให้มีบุตรยาก

14 พ.ย. 2567


ภาวะมีบุตรยากคืออะไร
     ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือ การที่คู่สมรสพยายามมีบุตรด้วยกัน โดยมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ใช้การคุมกำเนิด แต่ยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้  สาเหตุของการมีบุตรยากนั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน อาจเกิดจากฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย หรือทั้งสองฝ่ายร่วมกัน

ปัจจัยในฝ่ายหญิง ได้แก่
     1. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS) อาการนำคือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เป็นสิว หน้ามัน มีขนดกตามแขนขา หน้าท้อง หรือร่วมกับมีภาวะน้ำหนักเกิด
     2. ภาวะพังผืดในอุ้งเชิงกราน / ก้อนซีสต์จากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosi) อาการนำคือ ภาวะปวดประจำเดือนมาก แต่ละเดือนมีอาการปวดมากปวดนานหลายวัน
     3. ภาวะท่อนำไข่อุดตัน (Fallopian tubes obstruction) พบได้ในกลุ่มที่เคยมีการผ่าตัดภายในช่องท้อง กลุ่มที่เคยมีภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
     4. ภาวะก้อนเนื้องอกที่มดลูก (Myoma Uteri) ทั้งเนื้องอกที่อยู่ในตัวมดลูก (Intramural Myoma Uteri) หรือ ก้อนเนื้องอกในโพรงมดลูก (Submucous Myoma Uteri) อาการนำคือมีภาวะปวดประจำเดือนร่วมกับมีเลือดออกมากออกนานกว่าปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือนเช่นออกกะปริบกะปรอยอยู่ตลอด เป็นต้น
     ถ้าหากมีอาการเหล่านี้การตรวจ UItrasound บริเวณอุ้งเชิงกราน การฉีดสีดูท่อนำไข่ จะสามารถทราบถึงสาเหตุเบื้องต้นได้

ปัจจัยในฝ่ายชาย ได้แก่

ภาวะที่ทำให้ปริมาณและคุณภาพของอสุจิลดลง บางครั้งมีความรุนแรงจนทำให้ไม่สามารถมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติได้ ยกตัวอย่างเช่น
     1. ปัจจัยที่พบมาโดยกำเนิด ได้แก่ ภาวะลูกอัณฑะติดข้างในช่องท้อง (Cryptorchidism) , ภาวะทางพันธุกรรม เช่น Klinefelter Syndrome เป็นต้น

     2. ปัจจัยที่พบภายหลัง ได้แก่ เคยเป็นโรคคางทูม(Mumps)ในช่วงวัยรุ่นเป็นต้นมา, เคยผ่าตัดไส้เลื่อนมาก่อน, เคยมีภาวะติดเชื้อบริเวณอัณฑะ, มีภาวะเส้นเลือดขอดบริเวณอัณฑะ (Varicocele) หรือมีประวัติสูบบุหรี่

     ปัจจัยเหล่านี้ในฝ่ายชายสามารถทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ในคนที่มีอายุน้อย การตรวจวิเคราะห์น้ำเชื้อ (Semen Analysis)  เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ตรวจคัดกรองและทราบภาวะเจริญพันธุ์ในฝ่ายชายได้

     อยากมีลูก… มีลูกยากพยายามมีเท่าไหร่ก็ไม่สามารถมีได้ ไม่ใช่แค่เพียงแต่ปัจจัยในข้างต้นที่กล่าวมา คุณอาจยังไม่ทราบว่า พฤติกรรมบางอย่างก็ส่งผลให้มีลูกยากเช่นกัน Ckeck List พฤติกรรมเบื้องต้นว่าคุณทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ?

     - การสูบบุหรี่: สารพิษในบุหรี่ทำลายคุณภาพไข่และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในฝ่ายชายส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณอสุจิ  ทำให้การเคลื่อนไหวของอสุจิลดลง
     - การดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์  ทั้งในฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
     - การใช้สารเสพติด: สารเสพติดต่างๆ เช่น ยาเสพติด  โคเคน  เฮโรอีน  ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมและระบบสืบพันธุ์  ทำให้ยากต่อการตั้งครรภ์
     - ความเครียด: ความเครียดเรื้อรัง ส่งผลต่อฮอร์โมนและการทำงานของระบบสืบพันธุ์  และส่งผลต่อคุณภาพอสุจิ ทำให้ยากต่อการตั้งครรภ์
     - การออกกำลังกายมากเกินไป: การออกกำลังกายอย่างหนัก อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์  และอาจส่งผลต่อการตกไข่ และคุณภาพอสุจิ
     - การรับประทานอาหารไม่สมดุล: การขาดสารอาหารสำคัญ เช่น กรดโฟลิก  วิตามิน  และแร่ธาตุ  อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและการทำงานของระบบสืบพันธุ์
     - การใช้ยาบางชนิด: ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบสืบพันธุ์ ทั้งในฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย  ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาใดๆ

     - การสัมผัสสารเคมีบางชนิด:  สารเคมีบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์

     พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเพียงพฤติกรรมบางส่วนที่อาจส่งผลต่อความยากลำบากในการมีบุตร  ซึ่งสาเหตุของการมีบุตรยากมีความซับซ้อน หมั่นสังเกตตนเอง หากพบสัญญาณปัญหาเหล่านี้ไม่ควรปล่อยให้เวลาผ่านไปนานการตั้งครรภ์จะสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการเจริญพันธุ์ของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  และอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องคู่สมรสที่อยากมีบุตรควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุดเพื่อรับคำแนะนำจะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาภาวะมีบุตรยาก และเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. ธนิก โชคจิรวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์นรีเวชกรรมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ 


 



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.