Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

เนื้องอกมดลูก มีผลกับการมีบุตร หรือไม่ ?

8 มิ.ย. 2564


เนื้องอกมดลูกกับการมีบุตร

   เนื้องอกมดลูก (Myoma or Fibroids) พบได้ 30-70% ในสตรีวัยวัยเจริญพันธุ์ เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง บางคนมีก้อนแต่ไม่มีอาการ แต่ทั้งนี้ทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ เช่น

  • ปวดท้องประจำเดือน
  • เลือดประจำเดือนออกมาก ออกนาน ออกไม่เป็นรอบ
  • ภาวะมีบุตรยาก

เนื้องอกมดลูก แบ่งเป็น 3  ชนิดใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

  •  เนื้องอกที่โตยื่นออกไปจากตัวมดลูก (Subserous myoma)
  •  เนื้องอกที่โตในกล้ามเนื้อมดลูก (Intramural myoma)
  • เนื้องอกที่โตในโพรงมดลูก (Submucous myoma)

เนื้องอกมดลูกสัมพันธ์กับการมีบุตรยากอย่างไร

   พบในสตรีที่มีบุตรยาก ประมาณ 5 - 10% กลไกที่ทำให้มีบุตรยาก คือ

  • ตัวก้อนกดเบียดทำให้อสุจิเคลื่อนเข้าสู่โพรงมดลูกได้ลำบาก
  • ตัวก้อนกดเบียดบริเวณท่อนำไข่ ทำให้มีผลต่อการปฏิสนธิของเซลล์ไข่และอสุจิ รวมทั้งการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก
  • เนื้องอกขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนบริเวณในโพรงมดลูก
  • เนื้องอกที่มดลูกทำให้เกิดการเปลื่ยนแปลงของแส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูก มีผลต่อการฝังตัวและการเจริญเติบโตของตัวอ่อน

วิธีการรักษาเป็นอย่างไร

   นอกจากเนื้องอกที่มดลูกแล้วในผู้ป่วยที่มีบุตรยากจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุอื่นๆที่ทำให้มีบุตรยากด้วยเสมอ เพื่อที่จะได้รักษาควบคู่กันไป ทั้งนี้การรักษาเนื้องอกที่มดลูกมีตั้งแต่การผ่าตัดใหญ่เพื่อนำเนื้องอกที่มดลูกออก การส่องกล้องในโพรงมดลูก (Hysteroscope) เพื่อผ่าตัดเนื้องอกชนิดที่อยู่ในโพรงมดลูกซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technologies หรือ ART) ในการรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดใหญ่ในกรณีที่แพทย์ลงความเห็นว่าการผ่าตัดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มากกว่า และไม่ได้เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

สนับสนุนข้อมูลโดย : นายแพทย์ธนิก โชคจิรวัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์นรีเวชกรรมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.