Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

PMS รักษาอาการปวดเมื่อยได้ โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

23 พ.ค. 2567

     หากพูดถึงกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมแล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นกลุ่มอาการของคนยุคใหม่ ที่มักต้องทำงานแบบประจำอยู่กับที่ มีการเคลื่อนไหวน้อย หรือมักต้องเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในลักษณะเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นประจำ
     Peripheral Magnetic Stimulation หรือ PMS เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้การส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นส่วนต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อบำบัดอาการปวดและชา และกระตุ้นฟื้นฟูเนื่อเยื่อและประสาทส่วนปลายที่เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) คืออะไร
     Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) คือ วิธีการกระตุ้นประสาทส่วนปลายด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นเทคนิคการบำบัดรักษาอาการปวด ชา และอาการทางประสาทต่าง ๆ ด้วยการส่งคลื่นไปกระตุ้นเนื้อเยื่อ และการไหลเวียนของเลือดในตำแหน่งนั้น ๆ โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะโดยรอบ
การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยเครื่องกระตุ้นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า PMS มีหลักการทำงาน คือ เครื่องจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ผ่านเสื้อผ้าลงไปจนถึงกล้ามเนื้อชั้นลึก ๆ ที่ต้องการกระตุ้น
     จากนั้นเครื่องจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดเกิดการหดและคลายตัวสลับกันตามความถี่ที่กำหนดไว้คล้ายกับการสั่นที่กล้ามเนื้อ จึงช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดในบริเวณที่ถูกกระตุ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายในขณะรักษา
     นอกจากนี้ PMS ยังช่วยฟื้นฟูความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาท ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของระบบประสาท (Neuroplasticity) ที่ผิดปกติให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดเรื้อรังของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

PMS ถูกใช้ในการบำบัดรักษากลุ่มโรคและอาการต่าง ๆ ดังนี้

  1. ใช้รักษาออฟฟิศซินโดรม และอาการปวดต่าง ๆ : ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเฉียบพลัน หรืออาการปวดเรื้อรังที่มาจากการใช้งานกล้ามเนื้อในลักษณะซ้ำ ๆ เป็นประจำอย่างออฟฟิศซินโดรม ก็สามารถรักษาได้โดยใช้ PMS โดยเห็นผลทันทีตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มเข้าไปรักษาเลย
  2. กลุ่มอาการชา : ไม่ว่าจะเป็นมือชา ขาชา เท้าชา ซึ่งเป็นผลมาจากเส้นประสาทถูกกดทับ ความผิดปกติของปลายประสาท หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
  3. อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา : หากเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก เช่น อาการเคล็ดขัดยอกต่าง ๆ เราสามารถใช้ PMS เพื่อกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อและซ่อมแซมระบบประสาทส่วนที่มีการเสียหายให้กลับมาเป็นปกติได้เร็วยิ่งขึ้น
  4. กลุ่มโรคกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง : โดยพบว่าคลื่นแม่เหล็กสามารถใช้ในการกระตุ้นลงลึกได้ถึงเส้นประสาทโดยตรง อีกทั้งยังช่วยเร่งการฟื้นตัวของเส้นประสาทที่บาดเจ็บการกดทับเส้นประสาทที่คอและเอวจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเสื่อมได้อีกด้วย
  5. กลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาต จากหลอดเลือดสมอง : เราสามารถใช้ PMS เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้ เพราะการยิงคลื่นแม่เหล็กกระตุ้น จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและชะลอการฝ่อของกล้ามเนื้อ และยังช่วยลดอาการเกร็งของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
     นอกจากนี้ PMS ยังช่วยในการฟื้นฟูระบบประสาทส่วนที่เสียหายไปได้ด้วย โดยแพทย์จะใช้คลื่นกระตุ้นตามแนวเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณที่มีปัญหา แต่จะได้ผลเร็วหรือช้าแค่ไหนนั้น จะขึ้นอยู่กับรอยโรคในสมองของผู้ป่วยแต่ละคน

ระยะเวลาในการรักษาแบบ PMS

  1. การใช้เครื่องกายภาพ PMS ช่วยรักษากลุ่มที่มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือจากโรคออฟฟิศซินโดรม อาการปวดจะดีขึ้นใน 1-2 ครั้ง ใช้ระยะครั้งละ 20-40 นาที
  2. การใช้เครื่องกายภาพ PMS ช่วยรักษากลุ่มที่มีปัญหากล้ามเนื้อ เส้นเอ็น อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการเกร็ง จะใช้ระยะเวลารักษาด้วยเครื่อง PMS 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้ขยับดีขึ้น
  3. การใช้เครื่องกายภาพ PMS ช่วยรักษาผู้ที่มีอาการเรื้อรังจากข้อไหล่ติด การทำ PMS ร่วมกับเทคนิคทางกายภาพจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถยกแขนได้ดีขึ้น

ทำไมถึงควรใช้เทคโนโลยี PMS ในการรักษาออฟฟิศซินโดรม

     เมื่อมีการนำ PMS ไปใช้งานเพื่อการรักษาออฟฟิศซินโดรมแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาดีเยี่ยม โดยสามารถสรุปข้อดีของเทคโนโลยีดังกล่าวได้ดังนี้

  • กระตุ้นเส้นประสาท
  • ฟื้นฟูเส้นประสาทที่เสียหาย
  • ทำให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • เพิ่มการไหลเวียนของเลือด

ประโยชน์ในการใช้เทคโนโลยี PMS

  • รักษาได้ทั้งอาการและสาเหตุของการปวดเฉียบพลัน ปวดกึ่งเฉียบพลัน ปวดเรื้อรัง และลดอาการชาได้
  • รักษาได้ทั้งอาการปวดที่มาจากระบบประสาท และอาการปวดที่ไม่ได้มาจากระบบประสาท เช่น อาการปวดจากกล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก
  • ช่วยกระตุ้นให้มีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
  • ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมส่วนของประสาทที่เสียหาย เช่น เส้นประสาทแขนขา แขนขาอ่อนแรง การกดทับรากประสาทที่คอและหลัง (ที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเสื่อม)
  • ช่วยกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้างของเส้นประสาท (neuroplasticity) ที่มีพฤติกรรมผิดเพี้ยนไปจากปกติให้กลับมาเป็นปกติ เช่น อาการปวดเรื้อรังจากโรคทางกล้ามเนื้อต่าง ๆ
  • มีส่วนในการเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อได้ แม้แต่กล้ามเนื้อที่เป็นอัมพาตหรือมีอาการอ่อนแรง
  • หากเป็นการรักษาต่อเนื่อง จะได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก ๆ ตั้งแต่ครั้งแรก ๆ
  • จำกัดวงในการรักษาได้ดี ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ
  • ใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างสั้น ประมาณครั้งละ 20-40 นาที
  • เมื่อพิจารณาจากประโยชน์ต่าง ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า ในแง่ของความสะดวกสบายในการรักษาออฟฟิศซินโดรมนั้นการรักษาด้วยเทคนิค PMS นับว่าตอบโจทย์กลุ่มคนทำงานที่มีเวลาไม่มากได้ดีทีเดียว

ขั้นตอนการรักษาโดยใช้เทคนิค PMS

     แพทย์จะเป็นผู้ประเมินให้ว่า อาการของแต่ละคน ต้องทำการยิงคลื่นกระตุ้นที่กล้ามเนื้อมัดไหนอย่างไรบ้างขึ้นอยู่อาการหรือบริเวณที่ผู้ป่วยรู้สึกปวด โดยปกติแล้วการรักษาออฟฟิศซินโดรมโดยใช้เครื่อง PMS นั้น จะใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ไม่เกิน 60 นาที

     ขั้นตอนการรักษานั้นก็ไม่ยุ่งยาก แพทย์หรือนักกายภาพจะใช้ส่วนหัวคอยล์ของเครื่องทาบลงบนกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องการรักษา แล้วค่อย ๆ เลื่อนไปมา ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ รู้สึกเหมือนมีอะไรมา กระทบเป็นจังหวะ ในตำแหน่งที่มีการยิงคลื่น

ข้อควรระวังเมื่อทำ PMS

  • การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นนั้น มีโอกาสทำให้กล้ามเนื้อระบมหรือเป็นตะคริวได้หลังจากเข้ารับการรักษาประมาณ 2-3 วัน แต่หลังจากนั้นจะกลับมาเป็นปกติ
  • ความร้อนจากการเหนี่ยวนำด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เทคนิคการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนสะสมที่วัสดุโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ จึงมีข้อแนะนำว่า ให้ถอดอุปกรณ์หรือโลหะต่าง ๆ ออกให้หมดก่อนเข้ารักษาออฟฟิศซินโดรม ไม่ว่าจะเป็น หัวเข็มขัด กระดุมบนกางเกง เป็นต้น

ใครที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยเทคนิค PMS ได้

     การรักษาด้วยเครื่อง PMS มีข้อจำกัดกับคนไข้บางกลุ่ม คือผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ยังทำการรักษาผู้ใส่สายสวนหัวใจใส่เพสเมกเกอร์ หรือเครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ผู้ป่วยที่มีคลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองในสมอง  เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติและประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องกระตุ้นได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่ติดขดลวด เหล็ก โลหะในร่างกาย และจำเป็นต้องถอดเครื่องประดับที่เป็นโลหะติดตัว อุปกรณ์สื่อสารอิเลคทรอนิคส์ต่างๆ ออก วางให้มีระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อป้องกันความเสียหาย

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. อรจิรา วงษ์ดนตรี แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด




Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.