RSV โรคที่ฮือฮา
ช่วงปลายฝนต้นหนาว หนึ่งในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญในวัยทารกและเด็กเล็กที่คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยิน คือ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV” เป็นโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้
รู้จักโรค RSV
RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจอักเสบโดยเฉพาะหลอดลมฝอย ซึ่งมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 4 - 5 วัน RSV มี 2 สายพันธุ์ คือ A และ B ทั้งสายพันธุ์ A และ B มีมากกว่า 10 สายพันธุ์ย่อย จึงทำให้โรคนี้เป็นแล้วเป็นอีกได้เหมือนไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะพบในเด็กเล็กโดยเชื้อนี้ติดต่อกันได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เป็นต้น
ลูกเราเสี่ยงหรือไม่..??ในปีที่แล้วการระบาดของ RSV เป็นสายพันธุ์ B ปีนี้ที่ระบาดหนักเป็นสายพันธุ์ A สายพันธุ์ย่อย ON1 โดยทั่วไปแล้ว RSV ในเด็กที่แข็งแรงดีโรคนี้จะไม่ได้เป็นปัญหามาก แต่สำหรับเด็กที่จะเป็นปัญหาในโรค RSV ได้แก่
- ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
- ทารกเด็กเล็กโดยเฉพาะอายุที่น้อยกว่า 6 เดือน
- ทารกที่น้อยกว่า 2 ปี ที่มีภาวะโรคปอดและหัวใจร่วมด้วย
- เด็กที่มีความผิดปกติทางภูมิคุ้มกัน
- เด็กที่มีความผิดปกติทางระบบกล้ามเนื้อที่ทำให้หายใจอ่อนแรง
อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV บางอย่างอาจคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ (ส่วนใหญ่ไข้ไม่สูงนัก) ไอ จาม แต่ก็มีอาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและสงสัยว่าลูกอาจได้รับเชื้อไวรัส RSV เช่น
- หอบเหนื่อย
- หายใจเร็ว หายใจแรง หรือหายใจครืดคราด
- ตัวเขียว
- มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
- มีเสมหะมาก
- ไอโขลกๆ กระสับกระส่ายไม่กินนม
ปัจจุบันยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ ไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสRSV ทำให้เด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสในช่วงที่แพร่ระบาดได้มากโดยเฉพาะสถานที่ที่เด็กอยู่กันมากๆ ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกไม่ป่วยจากโรคนี้ คือ การดูแลเลี้ยงดูเด็กให้มีร่างกายแข็งแรง ลดการตื่นตระหนก และรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนกินอาหาร
- ไม่สัมผัสหน้าโดยที่ยังไม่ได้ล้างมือ
- หากมีอาการป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน หรือ งดไปในสถานที่แออัด เช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก
- ทำความสะอาดของเล่น
- ผู้ป่วยต้องปิดปากหรือใส่หน้ากากอนามัยเวลาไอจามเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด
สนับสนุนข้อมูลโดย : ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ตับ ทางเดินอาหาร โรคไวรัส
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745