ภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา อาการและวิธีรักษา
ภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา (Subconjunctival hemorrhage) เกิดจากเส้นเลือดขนาดเล็กๆ ที่อยู่ในชั้นเยื่อบุตามีการฉีกขาด ทำให้มีเลือดขังอยู่ใต้เยื่อบุตา จึงเห็นเป็นจุดเลือดออกแดงๆ เป็นปื้นๆ หรืออาจจะพบเป็นสีแดงกระจายทั่วใต้เยื่อบุตา จึงทำให้สังเกตเห็นได้ชัดเจน คนไทยเรามักจะเรียกเยื่อบุตา ชั้นใต้เยื่อบุตา และเนื้อเยื่อตาขาว รวมๆกันว่าตาขาวภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตานี้ พบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบในผู้ใหญ่ได้บ่อยกว่าในเด็ก
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่
- อุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทกบริเวณศีรษะ ใบหน้า เบ้าตา อาจพบมีภาวะอื่น เช่น เลือดออกในช่องหน้าลูกตา เลือดออกในวุ้นตา จอตาฉีกขาด เลนส์ตาเคลื่อนหลุด เป็นต้น
- หลังผ่าตัดภายในลูกตา หรือผ่าตัดบริเวณเปลือกตา
- ภาวะเพิ่มแรงดันภายในเบ้าตา เช่น การเบ่ง ยกของหนัก ไอจามรุนแรง อาเจียนรุนแรง การเบ่งคลอดบุตร เป็นต้น
- การขยี้ตาอย่างรุนแรง ในระหว่างไม่รู้สึกตัวขณะนอนหลับ
- ผู้สูงอายุ มักจะมีเลือดออกได้ง่ายกว่าวัยหนุ่มสาวเนื่องจากการความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป
- ไม่มีสาเหตุ
อาการและอาการแสดงของภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา
ผู้ป่วยมักไม่มีอาการอื่นนอกจากสังเกตเห็นจุดเลือดออกสีแดง เป็นปื้นๆ บริเวณที่เรียกว่า ตาขาว เมื่อส่องตรวจหน้ากล้องจะพบเป็นปื้นแดงเลือดออกในชั้นใต้เยื่อบุตา โดยไม่มีพบตาแดงจากการอักเสบผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทราบว่ามีเลือดออกใต้เยื่อบุตา จนกระทั่งสังเกตเมื่อส่องกระจก หรือมีคนรอบตัวมาทักว่ามีตาแดง
กรณีที่มีอาการตาแดงมาก หรือมีอาการทางตาอื่นๆ เช่น เคืองตามาก น้ำตาไหลมาก ปวดตามาก ตามัวลง หรือมีภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตาหลังอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ ใบหน้า เบ้าตา หรือมีเลือดออกมากขึ้น ไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม โดยทั่วไปภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตานี้ เป็นภาวะที่ไม่อันตราย สามารถตรวจวินิจฉัยและหายเองได้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ โดยแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการอีกครั้ง อาการผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตาจากอุบัติเหตุ ถ้ามีเลือดออกมากขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
การรักษา
ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตานี้ สามารถหายเองได้โดยจุดแดงเลือดออกนี้จะค่อยๆจางหายไปแล้วแต่ขนาดและปริมาณเลือดที่ออกมา ถ้าจุดแดงเลือดออกนี้มีขนาดเล็ก ไม่ได้กระจายทั่วทั้งตาขาว มักจะหายได้หมดเองประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีเลือดค้างอยู่มาก อาจใช้เวลานานถึง 3-4 สัปดาห์ได้ในรายที่มีอาการเคือง รู้สึกตาหนัก ๆ ไม่สบายตา อาจใช้น้ำตาเทียม หรือยาลดการระคายเคืองเพื่อบรรเทาอาการ
การป้องกัน
- ไม่ควรขยี้ตา จับตารุนแรง และระวังอุบัติเหตุที่เกิดกับบริเวณศีรษะ ใบหน้า และเบ้าตา
- ระวังเรื่องการเพิ่มแรงดันในตา เช่น การเบ่ง ยกของหนัก ไอจามรุนแรง
- ดูแลรักษาโรคประจำตัวให้ดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดต่างๆ
ดวงตานั้นเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อการมองเห็น ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาหรือตรวจรักษา นอกจากนี้แนะนำตรวจสุขภาพตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองโรคทางตา การตรวจสุขภาพตา จะช่วยทำให้ตรวจพบความผิดปกติของโรคทางตาได้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. พิชชาทร จิตต์นิลวงศ์ จักษุแพทย์เฉพาะทาง
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ตาเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ ศูนย์ตาเฉพาะทาง