Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

คืนสุขภาพดีให้ข้อเข่า ด้วยการผ่าตัดข้อเข่าเทียม (Total Knee Arthroplasty)

7 เม.ย. 2567


   ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากความผิดปกติของข้อเข่าที่กระดูกอ่อนผิวข้อสึกหรอไปจากการเสียดสีหรือถูกกระแทก ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ ข้อเข่าโก่งผิดรูป ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของข้อเข่า เวลาลุกขึ้น นั่งลง หรือเดิน จะทำให้เกิดความเจ็บปวดของขาและเข่า โดยมีสาเหตุ ดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น
  • การใช้งานที่มากเกินไปหรือผิดลักษณะ
  • น้ำหนักตัวที่มากเกิน
  • โรคบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่า
  • การบาดเจ็บของข้อเข่ามาก่อน
  • ลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้ขาโก่งงอ

   นพ. เอกพจน์ เกิดดอนแฝก  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedic Surgery) กล่าวว่า อาการแต่ละระยะของโรคข้อเข่าเสื่อม ในระยะตั้งแต่เริ่มต้นคนไข้มีอาการเจ็บตอนลุกขึ้นหรือนั่งลง การขึ้นหรือลงบันได โดยที่การเดินในพื้นราบไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าโรคเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะมีอาการตั้งแต่การเดินพื้นราบ เดินไม่ค่อยได้ มีอาการปวดมาก การเคลื่อนไหวของเข่าจะไม่ค่อยดี คนไข้จะลุกไม่ค่อยไหวหรือนั่งลงไม่ค่อยดี สุดท้ายจะเดินไปได้ไม่ไกล เพราะมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น บางครั้งถ้าเป็นมากจริงๆ ก็จะมีอาการปวดลามไปถึงกลางคืน จนบางครั้งไม่สามารถนอนหลับได้ซึ่งผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • ปวดเข่าตึงหรือขัด เวลาขึ้น-ลงบันไดลำบาก
  • ขยับหรือเคลื่อนไหว มีเสียงเสียดสีของข้อเข่า
  • ปวดข้อเข่าเวลานอน
  • เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด
  • กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง หลวมหรือเบี้ยวผิดรูป

   หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อทำการรักษาได้อย่างตรงจุด เพราะ “โรคข้อเข่าเสื่อม” เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเสี่ยงต่อภาวะทุพลภาพได้ซึ่งแพทย์จะมีเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม ดังนี้

  • วินิจฉัยจากอาการปวดของคนไข้ว่าเป็นมานานแล้วหรือไม่
  • รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การลุก การนั่ง การนอน การเดิน เดินได้ไกลหรือไม่
  • หากเป็นมานานต้องทำการตรวจร่างกาย อาจจะพบว่า เข่าบวม ผิดรูป งอ เป็นต้น
  • ตรวจคัดกรองด้วยการเอ็กซเรย์ เพื่อดูว่าผิวข้อทรุดลงหรือกระดูกชิดกันหรือไม่

   เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์จะทำการรักษาโดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

  • หากเป็นในระยะแรก แพทย์จะแนะนำการออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรง
  • พยายามหลีกเลี่ยงการคุกเข่า นั่งยองๆ หรือขึ้น-ลงบันไดน้อยลง
  • รับประทานยาภายใต้ดุลยพินิจโดยแพทย์ เพื่อบำรุงกระดูกผิวข้อ
  • การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า เพื่อช่วยลดความรุนแรงและยืดอายุการใช้งานข้อเข่า
  • การฉีดเกล็ดเลือดเข้าไปในข้อ ช่วยยืดอายุการใช้งานข้อเข่า
  • กรณีที่คนไข้มีความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ความเจ็บปวดในการใช้งานของข้อเข่า กระทบการใช้ชีวิตของคนไข้ ร่วมกับการตรวจคัดกรองเอ็กซเรย์ข้อเข่า แล้วพบว่า ผิวข้อถูกทำลายไปมาก กระดูกชิดกันแล้ว แพทย์จะแนะนำเรื่องของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

   การผ่าตัดข้อเข่าเทียม (Total Knee Arthroplasty) ช่วยให้ข้อเข่าของคนไข้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทำให้คนไข้เดินได้ นั่งได้ ดีขึ้นไม่เจ็บปวดทรมาน ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น อยากไปไหน หรือ เที่ยวที่ไหนก็สามารถไปได้ปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า (Total Knee Arthroplasty) ถือเป็นอีกทางเลือกในการรักษาข้อเข่าเสื่อม ในกรณีที่รักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตได้ผลดีและเป็นที่นิยมมากขึ้น

   ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

  • เจ็บน้อยกว่า
  • แผลผ่าตัดเล็ก
  • ฟื้นตัวเร็ว สามารถเดินได้โดย Walker 1 วันหลังผ่าตัด
  • สามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าได้อย่างเป็นธรรมชาติ
  • ความปลอดภัยสูง

   หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดแพทย์จะเริ่มให้คนไข้ทำการกายภาพใน 1-2 วันหลังการผ่าตัดภายใน 2-3 วัน คนไข้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้กระตุ้นการฟื้นฟูด้วยการกายภาพบ่อยๆ ภายใน 2 สัปดาห์ คนไข้สามารถเดินเองได้ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม คืนสุขภาพดีให้ข้อเข่าโดยแพทย์ผู้ชำนาญการที่มากประสบการณ์

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. เอกพจน์ เกิดดอนแฝกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedic Surgery)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.