Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ไขข้อข้องใจ....โรคไอกรน โรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวัง

15 พ.ย. 2567


     โรคไอกรน ที่ระบาดอยู่ขณะนี้ จากข่าวที่มีการพบโรคไอกรน ในวัยรุ่น นักเรียน การระบาดของโรคไอกรน (Pertussis) ในเด็กเกิดขึ้นได้ง่ายและเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือมีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ

โรคไอกรนเกิดจากอะไร ?

     โรคไอกรนเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis เป็นโรคตั้งแต่โบราณ มีวัคซีนในการป้องกันและใช้ใน ประเทศไทยมาร่วม 50 ปี ทำให้เกิดโรค ทางเดินหายใจมีอาการ ไอเรื้อรัง ไอเป็นชุด ฯ แล้วหายใจมีเสียงวู๊ป จึงเรียกว่า Whooping cough โรคนี้จะเป็นอันตรายในเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี

     โดยเฉพาะถ้าต่ำกว่า 3 เดือนอาจทำให้เสียชีวิตได้ และอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอมีโรคประจำตัว ในเด็กโต และวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงเหมือนโรคทางเดินหายใจโรค ที่มียาปฏิชีวนะรักษา

     ภูมิต้านทานต่อไอกรน ในประชากรไทยมีภูมิต้านทานต่อไอกรนสูงมากใน 10 ปี แรก เมื่อหลังอายุ 10 ปี ไปแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ได้ฉีดกระตุ้น ภูมิต้านทานจะลดลงโดยเฉพาะในวัยรุ่น ตรวจพบภูมิต้านทานได้ ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะโรคไม่รุนแรง

เราจะสามารถตรวจหาเชื้อได้อย่างไร ?

     การตรวจหาเชื้อไอกรน ในอดีตทำได้ยากมากเพราะต้องใช้วิธีการเพาะเชื้อ และเชื้อนี้ขึ้นได้ยาก ใช้เวลาในการตรวจ ปัจจุบันการตรวจโรคทางเดินหายใจทำได้ง่ายด้วยหลักการตรวจ  DNA ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และสามารถทำได้ถึง 10-23 เชื้อ รวมไอกรนด้วย ดังนั้นเด็กเมื่อไม่สบายทำการตรวจเพื่อหาเชื้อด้วยวิธี  PCR และถ้าตรวจจำนวนมาก ก็จะพบได้ และเมื่อพบเชื้อแล้วก็จะตื่นตระหนก ทั้งๆท่ีอาการน้อย หรือการพบเชื้อนี้อาจเป็น เชื้อท่ีเกาะอยู่ (colonization) โดยไม่ได้ก่อโรค หรือเป็นการพบโดยบังเอิญจากเชื้อก่อโรคอาจจะเป็นตัวอื่นก็ได้ และอาการของเด็กก็ไม่ได้มากโดยเฉพาะในเด็กโต  

การพบเชื้อไอกรนในปัจจุบัน

     การตรวจเชื้อไอกรนในปัจจุบัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่การตรวจใช้ เทคโนโลยี PCR ที่ทำได้ง่ายและรู้ผลเร็ว แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องตรวจในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ

     เมื่อมีการตรวจพบและตรวจมากขึ้น ก็จะพบว่ามีการระบาด  และมักจะอยู่ในโรงเรียนที่ พ่อแม่สามารถตรวจเชื้อนี้ได้เท่านั้น ด้วยราคาที่แพง

     เมื่อพบการระบาดเกิดขึ้น มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องปิดโรงเรียน เนื่องจากโรคนี้มีความรุนแรงน้อยในเด็กโต อาจจะน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่เสียอีก หรือน้อยกว่าโควิด 19 ส่วนใหญ่จะเหมือนกับไข้หวัดทั่วไป ที่มีไอร่วมด้วย และโรคนี้สามารถ ป้องกันด้วยวัคซีน การปิดโรงเรียนไปแล้ว เมื่อเปิดมาก็จะพบเหตุการณ์แบบนี้อีก

     ดังนั้นเมื่อตรวจพบ ก็ทำการรักษาไปด้วยยาปฏิชีวนะ และป้องกันไม่ให้เกิดในโรงเรียน ควรทำดังนี้   ผู้ป่วยควรหยุดเรียน ใส่หน้ากากอนามัย และในเด็กนักเรียนร่วมชั้น โรงเรียน ก็ควรจะได้รับวัคซีนไอกรน หรือให้พร้อมกันทั้ง คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดสำหรับผู้ใหญ่หรือ เด็กโต โดยทำการตรวจเช็กว่าเด็กที่ฉีดวัคซีนเมื่อ 10-12 ปี ที่มีไอกรนอยู่แล้ว อาจจะไปฉีดอีกครั้งทุก 10 ปี เด็กที่ ไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตอนอายุ 10-12 ปี ก็ควรจะได้รับการกระตุ้น

เราจะสามารถป้องกันโรคไอกรนได้อย่างไร ?

     เราใช้วัคซีนในการป้องกัน ไอกรน ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข ในเด็กเล็ก ที่ให้ตั้งแต่ 2 เดือนมาเกือบ 50 ปี โดยใช้วัคซีนรวมที่มีส่วนประกอบไอกรน และให้ตามกำหนดที่ 2 4 และ 6 เดือน กระตุ้นที่ขวบครึ่ง, 4 ขวบ รวมแล้วอย่างน้อย 5 ครั้ง และแนะนำให้มีการกระตุ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่สามารถจ่ายได้ ที่อายุ 10-12 ปี ด้วยใช้วัคซีนรวม โรคคอตีบ ไอกรน และ บาดทะยักสำหรับผู้ใหญ่ จะเป็นชนิดท่ีเรียกว่า ไร้เซลล์ หรือรีคอมบิแนนท์ มีอาการข้างเคียงน้อย ฉีดด้วยความสมัครใจ เพราะ       โรคในผู้ใหญ่ไม่ร้ายแรง ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี และมีร่างกายอ่อนแอ มีโรคประจำตัว วัคซีนที่ฉีดในระยะหลังนี้มี 3 ชนิด ชนิดท่ีทำมาจากเซลล์ทั้งตัว ชนิดไร้เซลล์ และชนิดรีคอมบิแนนท์ ชนิดไร้เซลล์ และรีคอมบิแนนท์ และมีราคาแพงกว่า อาการข้างเคียงน้อยกว่า วัคซีนนี้จึงไม่ได้อยู่ในข้อบังคับของกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ที่จะให้บริการฉีดวัคซีนไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงฉีดกันเฉพาะกลุ่มที่ผู้ปกครองสามารถจ่ายได้

     ประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมไม่แตกต่างกันทั้ง 3 ชนิด แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด วัคซีนที่ได้จากกระทรวงหรือ สปสช อาจทำให้มีไข้ ได้ นอกจากป้องกันโรคได้แล้วยังสามารถป้องกันการเกาะติด ของเชื้อไอกรนที่หลอดลมทางเดินหายใจได้เป็นอย่างดี ส่วนวัคซีนชนิดไร้เซลล์และรีคอมบิแนนท์ อาการข้างเคียงน้อย จะไม่สามารถป้องกันการเกาะติดของเชื้อแบคทีเรีย colonization ได้ แบคทีเรียยังสามารถ มาอยู่ที่คอและเพิ่มจำนวน แพร่กระจายได้ แต่ไม่ก่อโรคหรือถ้ามีการติดโรคก็มีอาการน้อยมาก ในเด็ก ส่วนใหญ่จะได้แบบของฟรี ส่วนเด็กที่พ่อแม่ให้ความสนใจและกลัวความเสี่ยงที่มีไข้ ก็จะฉีดชนิดไร้เซลล์ โดยเฉพาะเด็กใน โรงเรียนที่มีชื่อทั้งหลาย โอกาสที่จะพบเชื้อที่คอจึงมีมากกว่า

     ดังนั้นโอกาสที่เชื้อไอกรน จะตรวจพบได้มีมากกว่า แต่การก่อโรคไม่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็กโตหรือ ผู้ใหญ่ และในอดีตที่ผ่านมาก็เชื่อว่ามีเชื้อในประเทศไทยมาตลอด เพราะวัคซีนฉีดครั้งสุดท้ายที่อายุ 6 ขวบ เราเพิ่งเอาวัคซีนไอกรนมาฉีดใน เด็กโตหรือผู้ใหญ่ ในระยะ 10 กว่าปี ที่ผ่านมา และฉีดอยู่ในกลุ่มที่สมัครใจ เสียเงินเอง

     เมื่อเด็กได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ภูมิต้านทานจะขึ้นได้ดีหลัง 7 วัน โรคก็จะสงบ และไม่มีความ จำเป็นที่จะต้องปิด โรงเรียน เพราะการเรียนของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ

     การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กไทย การเรียนในโรงเรียนดีกว่าเรียนออนไลน์แน่นอน การให้วัคซีนเป็นการป้องกันระยะยาวอย่างน้อยก็ 10 ปี ขึ้นไป   

     การตรวจเพื่อหาเชื้อ 10-23 โรคเลย เมื่อตรวจมาแล้วบางครั้ง พบเชื้อหลายชนิดพร้อมกัน  ไม่รู้เลยว่าชนิดไหนก่อโรค และก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษามากมาย นอกจากในผู้ที่เป็นรุนแรง และการตรวจนั้นมาประกอบการรักษา โดยเฉพาะโรคที่มียาต้านไวรัส จะเป็นประโยชน์ เช่นตรวจไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19 เพราะ 2 โรคนี้มียาต้านไวรัส

     ข้อคิดที่ให้มาทั้งหมดเป็นความรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ สำหรับผู้ปกครองเพื่อลดการตื่นตระหนก หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยหรือไม่แน่ใจว่าอาการที่ลูกของเราเป็นนั้นจะเข้าข่ายการเป็นโรคไอกรนหรือไม่ สามารถมาปรึกษาและพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างเหมาะสม เพื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือให้วัคซีนป้องกันโรคให้ครบตามกำหนด

สนับสนุนข้อมูลโดย
: ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์เฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์โรคตับ ทางเดินอาหาร และโรคไวรัส

ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745 ต่อ ศูนย์กุมารเวชกรรม

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.