Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ลูกพูดช้า แก้ได้

22 ก.ค. 2567


คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองทุกท่านคงเคยสงสัยใช่ไหมคะว่า ลูกเราพูดช้าหรือไม่ ?  

   บางบ้านอาจเคยเปรียบเทียบดูกับพี่น้อง ลูกเพื่อน แล้วเกิดความสงสัย ว่าทำไมลูกเราพูดได้น้อยกว่า หรือยังไม่พูดเลยแต่พัฒนาการทางภาษาในเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน  เด็กแต่ละคนมีความช้าเร็วในพัฒนาการแต่ละด้านไม่เท่ากัน บางคนเดินเร็ว บางคนพูดเร็ว ดังนั้นหมอแนะนำให้ดูจากตารางด้านล่างนี้

พฤติกรรมพัฒนาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าที่ควรได้รับการประเมินสาเหตุ

อายุ    การพูด     ความเข้าใจภาษา
12 เดือน  - ไม่เรียกชื่อคนเลี้ยงดู เช่น พ่อ แม่ ยาย  - ไม่ชี้บอกความต้องการ  ไม่ใช้ภาษาท่าทาง เช่น ส่ายหน้าเพื่อปฏิเสธ โบกมือบ๊ายบาย
15 เดือน

 - ไม่พูดคำพยางค์เดียวที่มีความหมายอย่างน้อย 1 คำ เช่น หม่ำๆ (เวลารับประทาน), ไม่ (เวลาปฏิเสธ), ไป(อยากไปเที่ยว)
 *โดยไม่นับคำที่เป็นการเรียกคนหรือสัตว์เลี้ยงที่คุ้นเคย

 - ไม่มองหรือไม่ชี้วัตถุ 5-10 อย่างตามคำบอก
18 เดือน

 - ไม่พูดคำพยางค์เดียวที่มีความหมายอย่างน้อย 3 คำ
 *โดยไม่นับคำที่เป็นการเรียกคนหรือสัตว์เลี้ยงที่คุ้นเคย

 - ไม่ทำตามคำสั่งที่เด็กคุ้นเคยโดยไม่ใช้ท่าทางประกอบ เช่น ใส่รองเท้า  (เราไม่ต้องช่วยชี้ไปที่รองเท้าแล้ว)
 - ไม่ชี้ชวนให้ผู้อื่นมีความสนใจร่วมกับตนเอง 
2 ปี   - ไม่พูด 2 คำต่อเนื่องกัน เช่น ไปเที่ยว แม่อุ้ม (ไม่นับคำซ้ำๆ เช่น บ๊ายบาย หม่ำๆ)  - ไม่ชี้อวัยวะตามคำบอก 
3 ปี  - ไม่พูดเป็นประโยคที่สมบูรณ์ คือ มีประธาน + กริยา + กรรม เช่น แม่ไปเที่ยว, พ่ออุ้มน้อง  

 - ไม่สามารถทำตามคำสั่ง 2 ขั้นตอน เช่น เราสั่งว่า “ ไปใส่รองเท้า (1) แล้วมานั่งเก้าอี้ (2) ” เด็กสามารถทำได้โดยเราสั่งรวม 2 คำสั่งในประโยคเดียว

 - ไม่เข้าใจบุพบท เช่น บน ใต้ หน้า หลัง
4 ปี   - เล่าเรื่องสั้นๆ ไม่ได้  

 

ดัดแปลงจาก พัฏ โรจน์มหามงคล , หนังสือพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เล่มที่ 4

   เมื่อเราเริ่มสงสัยว่าลูกอาจพูดช้า แนะนำให้กระตุ้นการพูดกับเด็กได้เลย เริ่มจากที่บ้าน เพราะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถือเป็นวัยที่สมองยังเติบโตได้อีก ถือเป็นช่วงเวลาทอง เน้นกระตุ้นเร็ว ยิ่งเร็วเท่าไร ลูกเรายิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น

มาเข้าใจ “ หลักการการกระตุ้นการพูดในเด็ก ”  กันก่อน

  • สิ่งที่เราอยากให้เด็กๆพูดได้ คือ คำที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ได้ใช้สื่อสารจริง + พูดได้ตรงกับสถานการณ์ + มีการมองหน้าสบตาสื่อสารกับผู้พูด เช่น หิวน้ำ พูด “น้ำ” , หิวข้าวพูด “หม่ำๆ”
  • หลักการที่สำคัญ คือ “ ห้ามบังคับ ” แต่ใช้การพูดกับลูกเยอะๆ เด็กจะจำคำศัพท์ไว้ในสมอง เมื่อเด็กพร้อมจะพูดออกมาเอง + ชมเชยเมื่อเด็กพยายามสื่อสารหรือออกเสียงตาม
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี การพูดสามารถเรียนรู้ได้จาก “คน ” จริงๆเท่านั้น โดยสอนผ่านการเล่นและชีวิตประจำวัน ** ไม่สามารถเรียนรู้จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ** เด็กที่ดูสื่อ คุณพ่อคุณแม่อาจจะดีใจที่เด็กพูดได้ บางคนอาจพูดเป็นภาษาอังกฤษตามที่ดูมาด้วย แต่!! ถ้าสังเกตดูดีๆ ลูกจะพูดไม่ตรงกับสถานการณ์นะคะ เช่น เห็นหน้าหมอพูดว่า apple ซึ่งเราไม่ต้องการการพูดในลักษณะนั้น หรือบางคนอาจมาเป็นภาษาต่างดาวเลยก็พบบ่อย เพราะเด็กฟังคำศัพท์ตามในสื่อไม่ทัน
  • สอนตอนเด็กอารมณ์ดีเท่านั้น ร้องไห้ หงุดหงิด งอแงอยู่ไม่ต้องสอน เด็กๆจะเรียนรู้ได้ดีเวลาอารมณ์ดี

เข้าใจหลักการแล้ว เรามาเริ่มกระตุ้นกันเลย โดยเราสอนผ่านการเล่นและกิจวัตรประจำวัน ดังนี้

  1. เล่นกับเด็กให้บอกเด็กด้วยว่าสิ่งนี้คืออะไร เช่น ของเล่น นม โดยเอาของมาไว้ใกล้ๆปาก พูดช้าๆชัดๆ
  2. พากย์กิริยาต่างๆที่เรากำลังทำหรือเล่นอยู่กับเด็ก เช่น อ้า “ปาก” กินข้าว (ชี้ปากไปด้วย), “เปิด” ประตู (ทำท่าเปิด)
  3. ถ้าคำสั่งไหน เราพูดกับเด็กแล้วเด็กไม่เข้าใจ ให้จับมือเด็กทำพร้อมบอกเด็กไปด้วย
  4. ถ้าเด็กต้องการของบางอย่างและกำลังอารมณ์ดี อาจกระตุ้นให้เด็กลองสื่อสารหรือบอกเด็กก่อนยื่นของให้ แต่ถ้าอารมณ์ไม่ดี ร้องไห้ ไม่ต้องสอนให้ของได้เลย
  5. อ่านนิทานทุกวัน

ลองเริ่มกันดู !!!
   แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุการพูดช้าของลูกมีหลายสาเหตุ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองกระตุ้นแล้วยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อประเมินสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะออทิสติก หูไม่ได้ยิน พัฒนาการล่าช้าหลายด้านด้วย

สนับสนุนข้อมูลโดย : พ.ญ.มุทิตา ช่างภิญโญ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก
ศูนย์การแพทย์ ศูนย์พัฒนาการเด็ก ชั้น 2 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1745 ต่อ ศูนย์พัฒนาการเด็ก 

 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.