ฟันปลอม (ทันตกรรมประดิษฐ์) ช่วยทดแทนฟันที่หายไปจากการถอนหรือหลุดร่วง
- โดยหน้าที่ของฟันปลอมนั้น ได้แก่ การช่วยให้ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวดีขึ้น ช่วยให้ความสวยงามส่งเสริมบุคลิกภาพ ช่วยป้องกันฟันคู่สบยืนยาวและฟันซี่ข้างเคียงล้มเข้ามาในช่องว่างที่สูญเสียฟันไป และช่วยในการออกเสียงให้ดีขึ้น
- การพิจารณาชนิดของฟันปลอม โดยหลักแล้วฟันปลอมแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ได้แก่
- ฟันปลอมชนิดถอดได้ ได้แก่ ฟันปลอมฐานอะคริลิก, ฟันปลอมฐานโลหะ, ฟันปลอมชนิดยืดหยุ่นได้
- ฟันปลอมชนิดติดแน่น ได้แก่ ครอบฟันและสะพานฟัน, รากฟันเทียม
ในส่วนของฟันปลอมชนิดติดแน่นนั้น คือ ฟันปลอมที่ติดในช่องปากโดยไม่สามารถถอดออกเพื่อทำความสะอาดได้ ได้แก่ ครอบฟันและสะพานฟัน ซึ่งการใส่ฟันปลอมแบบนี้จะให้ความสวยงามมากกว่าแบบถอดได้ ไม่ต้องอาศัยการปรับตัวมาก เนื่องจากมีขนาดใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ มีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามข้อเสียที่สำคัญมากของการใส่ฟันแบบนี้คือ การที่ฟันธรรมชาติที่อยู่ข้างเคียงช่องว่างที่สูญเสียฟันไปต้องถูกกรอแต่งให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้เป็นหลักของสะพานฟันซึ่งอาจมีปัญหากับฟันภายหลังได้ เพราะต้องอาศัยการดูแลความสะอาดจากคนไข้เป็นอย่างดี
ในปัจจุบันมีฟันปลอมติดแน่นอีกชนิด คือรากฟันเทียม ซึ่งทำจากวัสดุไททาเนียมยึดกับกระดูกขากรรไกรคล้ายกับการปลูกฟันใหม่ขึ้นมา ซึ่งผู้ป่วยจะได้ฟันแบบติดแน่นโดยไม่มีการสูญเสียเนื้อฟัน เพราะไม่ต้องกรอฟัน แต่ข้อเสีย คือ ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนานและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าฟันปลอมชนิดอื่น
สนับสนุนข้อมูลโดย : ทพ.อัครพล เล้าสุทธิพงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมประดิษฐ์
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ศูนย์ทันตกรรมเฉพาะทาง