Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ภาวะมีบุตรยากกับสาเหตุในปัจจุบัน

8 มิ.ย. 2564


  ด้วยสภาวะทางสังคมในปัจจุบันโดยเฉพาะการใช้ชีวิตในสังคมเมืองที่มีเป้าหมายการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมากและรวดเร็ว ทำให้หลายครอบครัวไม่ได้วางแผนที่จะมีบุตรในช่วงเวลาที่เรียกว่ามีบุตรง่าย มีหลายคู่คิดจะมีบุตรเมื่อทุกอย่างในครอบครัวนั้นมั่นคงเพื่อเตรียมรอรับสำหรับเจ้าตัวน้อยที่จะเกิดมา แต่เวลาที่ผ่านเลยไปกลับต้องมาเจอกับปัญหาใหม่นั่นคือภาวะมีบุตรยากนั่นเอง แม้ความหมายในทางระบาดวิทยา องค์การอนามัยโลกจะหมายถึงในรายที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธ์และพร้อมมีบุตรแต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ในช่วงเวลาตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปว่าเป็นผู้มีบุตรยาก แต่ในทางเวชปฏิบัติทั่วไปถ้าคู่สมรสที่ไม่ได้คุมกำเนิดและมีเพศสัมพันธ์ตามปกติคือ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ภายใน 1 ปี แล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ทางการแพทย์จะจัดว่าเป็นผู้ป่วยมีบุตรยาก (WHO-ICMART glossary) แต่จะวินิจฉัยว่าเป็นผู้มีบุตรยากหลังจาก 6 เดือนเท่านั้น ถ้าฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไปแล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ ได้สำเร็จ

   ทั่วโลกมีการประเมินความชุกของภาวะมีบุตรยากมาโดยตลอด ซึ่งจะพบมากขึ้นตามอายุของฝ่ายหญิงเป็นหลัก โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป สามารถพบภาวะมีบุตรยากได้ถึงร้อยละ 25 ยิ่งไปกว่านั้นในกลุ่มนี้สามารถพบสาเหตุการมีบุตรยากได้ไม่ทั้งหมด นั่นหมายความว่า กลุ่มผู้มีบุตรยากส่วนหนึ่งนั่นคือประมาณร้อยละ 15 จะจัดอยู่ในกลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ หรือเรียกว่ากลุ่ม ‘Unexplained Infertility’ 

   ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักสาเหตุการมีบุตรยากโดยทั่วไปก่อน  สาเหตุเหล่านี้มักตรวจพบเมื่อคู่สมรสเข้ามาปรึกษาเรื่องการมีบุตร ได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง รวมทั้งการตรวจพิเศษเพิ่มเติมในฝ่ายชายคือการตรวจน้ำเชื้อ (semen analysis) ส่วนฝ่ายหญิงคือการตรวจภายใน ทำอัลตร้าซาวด์ การฉีดสีเพื่อดูท่อนำไข่ในรายที่มีข้อบ่งชี้ และเจาะเลือดเพื่อดูฮอร์โมนที่สำคัญต่อการทำงานของรังไข่ หลังจากนี้คู่สมรสส่วนหนึ่งก็จะพบสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก เช่น คุณภาพหรือปริมาณน้ำเชื้อต่ำกว่าค่ามาตรฐาน (the 5th edition of the manual : WHO, 2010) ในฝ่ายหญิงอาจจะพบว่าเป็นภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง มีเนื้องอกที่รังไข่หรือมดลูก พบภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือพบภาวะท่อนำไข่อุดตัน สาเหตุเหล่านี้ถ้ามารับการรักษาอย่างถูกวิธีในช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็มักจะสามารถตั้งครรภ์มีบุตรได้สำเร็จในเวลาไม่ช้า แต่คนไข้ในกลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ หรือเรียกว่ากลุ่ม ‘Unexplained Infertility’  คนไข้กลุ่มนี้จะพบว่าเมื่อตรวจคัดกรองเบื้องต้นจะไม่พบความผิดปกติทั้งนี้ที่ตรวจไม่พบเพราะสาเหตุที่จริงนั้นมีความซับซ้อนถึงระดับความพร้อมที่แท้จริงของเซลล์สืบพันธุ์  ขั้นตอนความสามารถในการปฏิสนธิของเซลล์ไข่กับอสุจิรวมถึงความสามารถและความพร้อมของตัวอ่อนและโพรงมดลูกที่จะฝังตัวเพื่อให้การตั้งครรภ์นั้นเกิดขึ้นได้ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทางการแพทย์จะมีแนวทางการรักษาโดยใช้ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ Assisted reproductive technology (ART) มาช่วยทำการรักษาควบคู่กับการหาสาเหตุ ที่เรียกว่า Therapeutic Diagnosis หรือการวินิจฉัยด้วยการรักษา ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคู่สมรส (lifestyle modification) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรักษา คือการตั้งครรภ์มีบุตรได้สำเร็จนั่นเอง

   สำหรับการวินิจฉัยด้วยการรักษาคนไข้ในกลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ หรือ ‘Unexplained Infertility’  โดยใช้ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ Assisted reproductive technology (ART) จะต้องคำนึงถึง ผลสัมฤทธิ์ของการรักษา ความปลอดภัยและค่าใช้จ่าย กับคนไข้ทุกคู่ที่มาเข้ารับบริการว่ามีความสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลในแง่ของการช่วยให้ตั้งครรภ์ให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่นในกลุ่มคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี สามารถเริ่มด้วยการรับประทานยาเพื่อให้ฟองไข่โต แล้วตรวจตืดตามโดยทำอัลตร้าซาวด์เพื่อวัดขนาดฟองไข่ ถ้าไข่โตได้ขนาดดี ก็สามารถให้ยาเพื่อกำหนดวันและเวลาที่ไข่ตกได้แน่นอน แล้วหลังจากนั้นจะให้คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติหรือนัดมาฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก IUI (Intrauterine Insemination ) ตามวันเวลาที่กำหนด  วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีเบื้องต้นที่สามารถทำให้คู่สมรสตั้งครรภ์ได้ เพราะสามารถแก้ปัญหาเรื่องมีบุตรยากที่ตรวจไม่พบสาเหตุมาก่อน เช่น กำหนดวันไข่ตกได้ไม่แน่นอน ปริมาณน้ำอสุจิปกติแต่ไม่มากพอที่จะเข้าสู่โพรงมดลูกโดยวิธีธรรมชาติ (lower normal limit) เป็นต้น แต่สำหรับคู่สมรสที่มีอายุมาก โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป จะมีปัจจัยในเรื่องคุณภาพและปริมาณเซลล์ไข่ที่ลดลง ในกลุ่มนี้เมื่อคำนึงถึงประสิทธิภาพในการรักษาและอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ อาจต้องใช้เทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF- in vitro fertilization) หรือการทำ ICSI (intracytoplasmic sperm injection) ในรายที่ฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องคุณภาพและปริมาณน้ำเชื้อไม่ผ่านเกณฑ์ร่วมด้วย

   กล่าวโดยสรุปการรักษาด้วย เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ Assisted reproductive technology (ART) ไม่ว่าจะเป็นการทำ IUI, IVF หรือ ICSI ในกลุ่มคนไข้ ที่หาสาเหตุไม่พบ หรือ ‘Unexplained Infertility’  สามารถช่วยแก้ปัญหาการมีบุตรยากในขั้นตอนการคัดเลือกเซลล์สืบพันธุ์ที่ดีและสมบูรณ์ของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย การปฏิสนธิที่ได้ผลดี การได้เลี้ยงตัวอ่อนให้เจริญเติบโตและมีความพร้อมก่อนที่จะฝังตัวในโพรงมดลูก การแก้ไขและรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกให้เป็นปกติเพื่อพร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน  ทั้งนี้ lifestyle modification ของคู่สมรส ได้แก่ การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดหรือสูบบหรี่ให้น้อยลง ควบคุมการดื่มกาแฟ และ แอลกอฮอลล์อย่างเหมาะสม รวมทั้งตรวจหาโรคประจำตัวอื่นๆที่อาจมีผลต่อการมทีบุตรล้วนเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติในคนไข้ที่เข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก เพื่อให้สามารถมีบุตรได้ดังตั้งใจ

เอกสารอ้างอิง


สนับสนุนข้อมูลโดย : นายแพทย์ธนิก โชคจิรวัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์นรีเวชกรรมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.