Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ปวดท้องประจำเดือน เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

7 พ.ย. 2567



อาการปวดประจำเดือนคืออะไร ?
     ส่วนมากมักมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน หรือระหว่างมีประจำเดือน อาการมีตั้งแต่อาการปวดหน่วง ปวดเกร็งเล็กน้อย ปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น
     เมื่อวันนั้นของเดือนมาถึง อาการปวดท้องประจำเดือนเรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องเผชิญทุกเดือน การปวดท้องประจำเดือนมี 2 แบบ คือ การปวดท้องประจำเดือนแบบปกติ และการปวดท้องประจำเดือนแบบผิดปกติ สามารถนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตหรือเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้

อาการปวดท้องประจำเดือนเป็นสัญญาณเตือนโรคอะไรได้บ้าง?
1.เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์
     การลอกหลุดของเยื่อบุโพรงมดลูกในแต่ละรอบเดือนทำให้เกิดเลือดประจำเดือนในสตรี  ดังนั้นเมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญอยู่ผิดที่ในที่ต่าง ๆ และมีการลอกหลุดในแต่ละรอบเดือน ก็จะเกิดแผลและมีเลือดประจำเดือนขังอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ บริเวณที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญอยุ่จะทำให้บริเวณนั้นๆ เป็นพังผืดมองเห็นเป็นจุดเลือดออก โดยส่วนมากจะพบว่ามีการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงและมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกเดือน หรือมีอาการปวดและเจ็บลึกๆ ที่ช่องคลอดหรือท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งหากตรวจแล้วพบโรค ก็สามารถทำการรักษาได้

การรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ปกติแล้ว จะเลือกรักษาจาก 2 วิธีหลักๆ คือ
     การรักษาด้วยยา การใช้ยา ก็เพื่อยับยั้งการทำงานของรังไข่ ซึ่งอาจทำให้ไม่มีประจำเดือน หรือลดอาการปวดขณะมีประจำเดือน ผลการรักษาด้วยวิธีนี้มักขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละคน โดยการใช้ยาจะมีการติดตามและประเมินอาการเป็นระยะๆ จากแพทย์ ถ้าการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดต่อไป
     การผ่าตัด จะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำถุงช็อกโกแลตซีสต์ออก ซึ่งเป็นทั้งการรักษาและสามารถนำชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ด้วย ซึ่งในปัจจุบันผู้ป่วยมักนิยมการผ่าตัด 2 วิธีนี้ คือ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องจะช่วยลดปัญหาการเกิดพังผืด แผลเล็กกว่า เจ็บน้อยกว่า และผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
2.เนื้องอกมดลูก
     โดยส่วนมากพบว่า มีประจำเดือนมามากและนาน หรือมีลิ่มเลือดปนเป็นก้อน ปวดประจำเดือนมากขึ้น หรือในบางครั้งอาจมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือน ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงการมีประจำเดือน ซึ่งก้อนเนื้องอกอาจเติบโตไปกดทับอวัยวะใกล้เคียงทำให้มีอาการแทรกซ้อนหรือเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้
     การรักษาเนื้องอกมดลูกปกติแล้ว หากเนื้องอกมดลูกยังมีขนาดเล็กก็มักจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าเป็นจนกว่าตรวจพบความผิดปกติ ซึ่งมักพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี จากการตรวจภายใน หรือการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรพิจารณาเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำ หากตรวจพบโรคเร็วก็สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น

     - การฉีดสารเพื่อให้เกิดการอุดเส้นเลือดที่เลี้ยงเนื้องอกมดลูกโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการรักษาโดยใช้เทคนิคทางรังสีวิทยา ด้วยการสอดสายผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบไปจนถึงเนื้องอก แล้วทำการฉีดสารเพื่อให้หลอดเลือดอุดตัน ก้อนเนื้องอกที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะฝ่อลง เหมาะกับการรักษาเนื้องอกก้อนที่ยังไม่ใหญ่มาก
     - การผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกออก หากเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่ แพทย์มักแนะนำให้ทำการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งผ่าตัดส่องกล้องทางช่องคลอด ผ่าตัดแบบเปิดผนังท้อง และแบบส่องกล้องผ่านหน้าท้อง ซึ่งการจะเลือกผ่าตัดแบบใดนั้นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ประกอบ เช่น ระดับอาการ ขนาด และตำแหน่งของก้อนเนื้องอกโรคอื่นๆ ที่เป็นอยู่ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และความต้องการในการมีบุตรในอนาคต

     อาการปวดประจำเดือนเป็นภาวะที่พบได้บ่อย และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ทุกคน อาการมากบ้างน้อยบ้าง แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเฉพาะ ดังนั้น สตรีที่มีอาการผิดปกติ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีตั้งแต่เริ่มต้น  ซึ่งโรคภายในช่องท้องและระบบสืบพันธุ์สตรี ส่วนใหญ่แล้วหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพหรือตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ ก็มักพบเมื่อมีอาการมากแล้ว ทำให้การรักษายากขึ้น และผู้ป่วยต้องเจ็บตัวหรือมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ดังนั้นการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ การตรวจอัลตราซาวด์เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และช่วยนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพ

สนับสนุนข้อมูลโดย  :  นพ. วิศรุฒณ์ เชิดชูไทย แพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
ศูนย์การแพทย์     :  ศูนย์สตรี ชั้น 8 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์สตรี

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.