Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

น้ำเชื้อแบบไหนท้องง่ายท้องยาก

8 มิ.ย. 2564


น้ำเชื้อหรือน้ำอสุจิ (semen) ที่หลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชาย ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
  1. ส่วนที่เป็นเซลล์ ได้แก่ ตัวอสุจิ (spermatozoa) เซลล์เยื่อบุ และเม็ดเลือดขาว
  2. ส่วนที่เป็นของเหลว (seminal fluid) ซึ่งจะมีสารต่างๆ เป็นส่วนประกอบเพื่อหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ เช่น สังกะสี (zinc) ฟลาวีน (flavine) กรดซิตริค (citric acid) เป็นต้น
   ในบางราย เช่น ชายที่เป็นหมันจะไม่มีการสร้างตัวอสุจิแต่ยังคงมี seminal fluid หรือน้ำกามอยู่ เรียกว่า(azoospermia) หรือมีตัวอสุจิแต่น้อยเรียกว่า (oligozoospermia)
   สำหรับคู่สมรสที่ไม่ได้คุมกำเนิดและมีเพศสัมพันธ์ตามปกติคือ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ภายใน 1 ปี หรือ 6 เดือนในรายที่ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี แล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ถือว่ามีความเหมาะสมที่ฝ่ายชายจะมาตรวจวิเคราะห์น้ำเชื้อเพื่อหาสาเหตุการมีบุตรยาก
น้ำอสุจิที่ดีต้องเป็นอย่างไร?
   ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO, 2010) เกณฑ์ของการวิเคราะห์น้ำอสุจิที่ถือว่าปกติมีดังต่อไปนี้
  • ปริมาตร : 1.5 - 5.0 มิลลิลิตร
  • ความหนาแน่นของตัวอสุจิ : > 15 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร
  • จำนวนตัวอสุจิทั้งหมด : > 39 ล้านตัว
  • การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ : > ร้อยละ 40
  • รูปร่าง ลักษณะ : มีตัวอสุจิที่มีรูปร่างลักษณะปกติ มากกว่า ร้อยละ 14 เมื่อใช้ Strict criteria
น้ำอสุจิไม่ผ่านเกณฑ์จะท้องได้หรือไม่?
   ท้องได้แต่อาจไม่ใช่วิธีธรรมชาติ เนื่องจากการตั้งครรภ์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติต้องมีตัวอสุจิที่หลั่งไปที่ช่องคลอดอย่างน้อย 10-15 ล้านตัวจึงจะเพียงพอเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่บริเวณปีกมดลูกได้

น้ำอสุจิไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องทำอย่างไร?

   ภาวะมีบุตรยากที่มีสาเหตุจากฝ่ายชายปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 20 ของสาเหตุทั้งหมด ปัจจัยสำคัญ ร้อยละ 85 ในกลุ่มนี้คือความผิดปกติทั้งในเรื่องของปริมาณ การเคลื่อนไหวและรูปร่างของตัวอสุจิ การมารับคำปรึกษา ตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ทำให้สามารถทราบสาเหตุและเลือกเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อให้ตั้งครรภ์ได้สำเร็จ
มีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อะไรบ้างที่ช่วยรักษาสาเหตุจากฝ่ายชายที่มีความผิดปกติของอสุจิ?

   วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของความผิดปกติยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • IVF; in vitro fertilization-การทำเด็กหลอดแก้ว
  • ICSI; intracytoplasmic sperm injection-การปฏิสนธิด้วยวิธีการนำตัวอสุจิไปฉีดเข้าเซลล์ไข่โดยตรง
  • SURGICAL SPERM RETRIEVAL (SSR)-การผ่าตัดเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะหรือท่อนำอสุจิ
    • PESA (Percutaneous epididymal sperm aspiration)
    • TESE (Testicular sperm extraction)

มีคำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมสำหรับมีบุตรอย่างไรบ้าง?

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้ง passive smoking (การอยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่เป็นเวลานานๆ)
  • หลีกเลี่ยงภาวะที่มีผลเสียต่อการสร้างอสุจิ เช่น ความร้อน สารเคมี โดยไม่จำเป็น
  • ในรายที่พบว่ามีการอักเสบติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศหรือระบบทางเดินปัสสาวะควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์
  • การใช้สาร antioxidant เช่น วิตามิน E, วิตามิน C, Zn และ Se อาจมีผลทำให้ sperm function ดีขึ้น

   หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการดูแลรักษาและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธภาพ

สนับสนุนข้อมูลโดย : นายแพทย์ธนิก โชคจิรวัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์นรีเวชกรรมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.