Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

สัญญาณเตือน อาการไหนใช่ มะเร็งผิวหนัง

8 ก.พ. 2566


   มะเร็งผิวหนัง  คือ การที่ผิวหนังมีการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติไปจากเดิมเกิดเป็นเนื้อร้ายขึ้นมา  สามารถเกิดได้ในทุกตำแหน่งของร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่สัมผัสแสงแดดเป็นประจำ เช่น บริเวณใบหน้า แขน และหลัง โดยชนิดที่พบบ่อย มี 3 ชนิด คือ

  1. มะเร็งชนิดเบซัลเซลล์ (Basal cell carcinoma)
  2. มะเร็งชนิดสแควมัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma)
  3. มะเร็งชนิดเมลาโนมา (melanoma)
   มะเร็งชนิดเบซัลเซลล์ (Basal cell carcinoma) และมะเร็งชนิดสแควมัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma) นั้นการดำเนินโรคส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงมากนัก  แต่หากทิ้งไว้ไม่รักษาอาจมีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นภายในร่างกายได้

   ส่วนมะเร็งชนิดเมลาโนมา (melanoma) นั้น เป็นมะเร็งเม็ดสีของผิวหนัง  มีการดำเนินโรคที่ค่อนข้างเร็วและรุนแรง  สามารถกระจายไปทางระบบเลือดและน้ำเหลืองของร่างกายและลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง

  1. แสงแดด
  2. สารเคมี เช่น สารหนูหรือ arsenic
  3. ผู้ที่มีสีผิวขาว เช่น ชาวยุโรปหรืออเมริกา
  4. โรคทางพันธุกรรมผิวหนังบางชนิด
  5. โรคผิวหนังบางชนิด
  6. ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเช่นผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ติดเชื้อ HIV
  7. การสูบบุหรี่

อาการของมะเร็งผิวหนัง 
   มะเร็งผิวหนังมักจะไม่มีอาการ แต่ลักษณะที่ควรสงสัยมะเร็งผิวหนัง คือ 

  • ตุ่มหรือผื่นที่เป็นมานานไม่หาย
  • ตุ่มหรือผื่นที่เป็นมานานและมีการแตกเป็นแผล มีเลือดออก 
  • ไฝที่โตเร็วผิดปกติ
  • ไฝที่มีสีเปลี่ยนแปลง
  • ไฝที่ขอบเขตไม่เรียบ
  • ไฝที่มีไฝเม็ดเล็กกระจายออกข้างๆ

   หากมีลักษณะดังกล่าวข้างต้น แนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การรักษามะเร็งผิวหนัง

การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับชนิดและระยะของมะเร็ง 

  1. การผ่าตัด
  2. การฉายรังสี
  3. การให้เคมีบำบัด

   การรักษามะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุด คือ การเริ่มรักษาตั้งแต่ระยะแรก สามารถรักษาโดยการผ่าตัดได้  หากมีตุ่มที่น่าสงสัยควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

การปกป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนัง

  1. ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด
  2. ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน
  3. หากจำเป็นต้องออกแดด ควรใส่หมวกปีกกว้างหรือกางร่ม ใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว
  4. ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  5. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหม้อ ยาสมุนไพร
  6. หมั่นสำรวจผิวหนังตัวเอง หากมีตุ่มที่มีลักษณะน่าสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  7. ในผู้ที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน หรือผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานกลางแดดเป็นประจำ หรือชาวยุโรปหรืออเมริกัน ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนังตั้งแต่ระยะแรกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.วงศิยา เวียรศิลป์  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตจวิทยาและตจศัลยศาสตร์ เฉพาะทางโรคผิวหนัง มะเร็งผิวหนัง ความงามและศัลยกรรมเลเซอร์ผิวหนังโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล  
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ศัลยกรรมเพื่อความงามและผิวหนัง


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.