Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

กระดูกสันหลัง…สำคัญกว่าที่คิด

22 ก.พ. 2567



   กระดูกสันหลัง นอกจากเป็นโครงสร้างแข็งแรงที่ปกป้องไขสันหลังและเส้นประสาทยังเชื่อมต่อกับกะโหลกศีรษะ กระดูกสะบัก กระดูกเชิงกรานและกระดูกซี่โครง ซึ่งล้วนแต่เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย

   อาการปวดหลังเป็นปัญหาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่คนส่วนมากกว่าที่จะมาตรวจนั้นมักรอจนปวดแทบทนไม่ไหว โดยคนไข้อาจมีอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียวหรือมีอาการปวดแบบอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดร้าวไปไหล่ แขน มือ ขา หรือเท้า หรือชาตามปลายมือปลายเท้า เป็นต้น แต่รู้หรือไม่ว่าอาการปวดเหล่านี้ที่ดูเผินๆ เหมือนอาการปวดเมื่อยธรรมดานั้นอาจมีสาเหตุมาจากโรคกระดูกสันหลังก็เป็นได้ 

สัญญาณเตือนรีบมาพบแพทย์

  • ปวดร้าวลงขา อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเริ่มมีการกดทับเส้นประสาทของกระดูกสันหลังแล้ว
  • ชาที่ขาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ควบคุมการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ เป็นอาการที่บอกถึงความผิดปกติของเส้นประสาทไขสันหลัง
  • ปวดหลังทันทีหลังยกของหนักหรือหกล้มโดนกระแทก อาจมีกระดูกหักหรือในผู้สูงอายุอาจพบกระดูกสันหลังพรุนหักยุบได้
  • ปวดหลังอย่างไม่ทราบสาเหตุร่วมกับมีไข้สูง ซีด และร่างกายโดยรวมอ่อนเพลีย อาจมีการติดเชื้อบางอย่าง เช่น แบคทีเรีย และวัณโรคกระดูกสันหลัง หากมีไข้ขึ้นตอนกลางคืน เป็นต้น
  • ในผู้ป่วยมะเร็ง การปวดหลังอาจหมายถึงการที่มะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปยังกระดูกสันหลังแล้ว หรือในกรณีที่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อน อาจเป็นอาการที่บอกว่ามะเร็งกลับเป็นขึ้นมาใหม่ที่กระดูก

โรคกระดูกสันหลังที่ไม่ควรมองข้าม…!!

1. กระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท
มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปเกิดจากกระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกและเส้นเอ็นหนาขึ้นกดทับโดนเส้นประสาท
อาการ : จะปวดบริเวณบั้นเอว ร้าวไปที่สะโพกหรือขา
การรักษา :
- การรับประทานยาควบคู่กับการทำกายภาพบำบัดโดยนักกายภาพ
- การผ่าตัดแบบแผลเล็ก วิธีนี้ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะมีความเสี่ยงน้อย ฟื้นตัวไว โดยจะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (Microscope) พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1 – 2 วัน
- การผ่าตัดแบบมาตรฐาน โดยการใช้เหล็กยึดกระดูกและตัดกระดูกที่ทับเส้นประสาทออกจนโล่ง วิธีนี้จะทำให้สามารถกลับมาเดินได้ตามปกติ อาการปวดหายไป พักฟื้นที่โรงพยาบาล 5 – 7 วัน
2. หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
ส่วนมากพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 20 – 40 ปี โดยเฉพาะวัยทำงานที่ต้องยกของหนัก นั่งทำงานเป็นเวลานานๆ หรือการออกกำลังกายแบบหักโหม
อาการ : ปวดบริเวณเอว ร้าวลงที่ก้นหรือขา
การรักษา :
- การรับประทานยาควบคู่กับการทำกายภาพบำบัดโดยนักกายภาพ
- การผ่าตัดแบบแผลเล็ก การจี้ไฟฟ้าที่หมอนรองกระดูก พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1 วัน
- การผ่าตัดแบบมาตรฐาน การผ่าตัดโดยผ่านกล้องหมอนรองกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาทออกไป พักฟื้นที่โรงพยาบาล 2–3 วัน
3. กระดูกสันหลังหัก
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดกระดูกสันหลังหรือคออย่างรุนแรงภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เพราะกระดูกสันหลังมีหน้าที่ห่อหุ้มประสาทไขสันหลังไว้ หากมีกระดูกสันหลังหักและปล่อยไว้นานๆ อาจจะเสี่ยงเป็นอัมพาตได้
การรักษา : สำหรับรายที่กระดูกสันหลังหักที่มีความไม่มั่นคงสูง ต้องทำการผ่าตัดโดยใช้เหล็กยึดกระดูกให้เข้าที่
4. กระดูกสันหลังคด
พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มักจะเกิดจากกระดูกเสื่อม ข้อหลวม กระดูกคดผิดแนว ซึ่งจะทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้สูง
อาการ : จะมีการปวดบั้นเอว ร้าวไปที่สะโพกหรือขา
การรักษา :
- การรับประทานยาควบคู่กับการทำกายภาพบำบัดโดยนักกายภาพ
- การผ่าตัด

   สำหรับกรณีเด็กเล็กผู้ปกครองอาจสังเกตจากลูกมีอาการไหล่เอียง สะโพกเอียง หากไม่รีบรักษา กระดูกสันหลังจะคดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นควรรีบเข้ารับการรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่เริ่มสังเกตเห็น
   การรักษาสำหรับเด็ก : มีอาการคดน้อยไม่รุนแรงใช้วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด แต่กรณีที่มีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการผ่าตัด

5. กระดูกสันหลังยุบ

พบบ่อยในผู้สูงอายุที่กระดูกบาง อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้กระดูกสันหลังยุบตัวลงได้
อาการ : มีอาการปวดหลังบริเวณที่กระดูกสันหลัง นั่งนานไม่ได้
การรักษา : ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโดยการฉีดซีเมนต์กระดูก (Vertebroplasty) ทำให้กระดูกสันหลังที่ยุบตัวเกิดความมั่นคงทันที อาการปวดจะดีขึ้นและสามารถลุกนั่งได้โดยไม่ปวดหลังผ่าตัด พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1 วัน

โรคกระดูกสันหลัง ป้องกันได้

 การป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระดูกสันหลังเกิดขึ้นมีหลายวิธี ซึ่งส่วนมากเกี่ยวข้องกับการรักษาท่าทางที่ถูกต้องในชีวิตประจำวันและการดูแลสุขภาพทั่วไปของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและการปฏิบัติตนสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกสันหลัง บางวิธีที่สามารถช่วยป้องกันโรคกระดูกสันหลังได้ ดังนี้

  • รักษาท่าทางที่ถูกต้อง : ท่าทางที่ถูกต้องในทุกกิจกรรมที่ทำจะช่วยลดแรงกดที่กระดูกสันหลังและลดความเครียดในพื้นที่นั้นๆ ตลอดจนลดความเสี่ยงในการเกิดบาดแผลหรือสาเหตุที่เป็นอันตรายต่อกระดูกสันหลังได้
  • ออกกำลังกาย : การดำเนินกิจกรรมทางกายเป็นส่วนสำคัญของการป้องกันโรคกระดูกสันหลัง ออกกำลังกายที่เหมาะสมสามารถเสริมแรงของกล้ามเนื้อที่รอบกระดูกสันหลังและช่วยปรับสมดุลของร่างกาย
  • รักษาน้ำหนักสมดุล : การรักษาน้ำหนักที่เหมาะสมสามารถลดแรงกระทำที่กระดูกสันหลัง นอกจากนี้ การดูแลน้ำหนักให้สมดุลย์ยังช่วยลดภาระที่บนกระดูกสันหลัง
  • การเลือกที่นั่งที่เหมาะสม : เลือกที่นั่งที่สนับสนุนกระดูกสันหลังให้ดี และรักษาท่าทางที่ถูกต้องเมื่อนั่ง.
  • การปฏิบัติตนที่ดี : ปฏิบัติตนที่ดีในกิจกรรมประจำวัน เช่น การยกของให้ถูกวิธี การเคลื่อนไหวที่มีการตรวจสอบท่าทาง และการป้องกันการบาดเจ็บ
  • การดูแลสุขภาพทางจิต : ความเครียดและภาวะจิตเวชมักมีผลต่อสุขภาพทั่วไปของร่างกาย การดูแลสุขภาพทางจิตสามารถช่วยลดความเครียดและอาจมีผลต่อการป้องกันโรคกระดูกสันหลัง

   การป้องกันโรคกระดูกสันหลังเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญตลอดเวลา เนื่องจากมีผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งทางกายและจิตใจของบุคคล ถ้าคุณมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพกระดูกสันหลังหรือมีอาการที่ไม่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางการแพทย์เพื่อการประเมินและการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

สิ่งที่ไม่ควรทำ หากไม่อยาก “ปวดหลัง”

  1. การนั่งหลังงอ หลังค่อม ติดต่อกันนานๆ เป็นชั่วโมง ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งค้างเกิดการคั่งของกรดแลกติค มีอาการเมื่อยล้าปวดกระดูกผิดรูปตามมา
  2. การนั่งเบาะเก้าอี้ไม่เต็มก้น ทำให้กล้ามเนื้อหลังต้องทำงานหนัก เพราะฐานในการรับน้ำหนักตัวแคบ
  3. การยืนแอ่นพุง/หลังค่อม ควรยืนหลังตรง แขม่วท้องเล็กน้อย เพื่อเป็นการรักษาแนวกระดูกสันหลังช่วงล่างไม่ให้แอ่นและทำให้ไม่ปวดหลัง
  4. การใส่ส้นสูงเกิน 1 นิ้วครึ่ง จะทำให้แนวกระดูกสันหลังช่วงล่างแอ่นมากกว่าปกติ ซึ่งจะนำมาสู่อาการปวดหลัง
  5. การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียว ไม่ควรสะพายกระเป๋าข้างใดข้างหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนเป็นการถือกระเป๋า โดยใช้ร่างกายทั้ง 2 ข้างให้เท่าๆ กัน อย่าใช้แค่ข้างใดข้างหนึ่งตลอด เพราะจะทำให้ต้องทำงานหนักอยู่เพียงซีกเดียว ส่งผลให้กระดูกสันหลังคดได้
  6. การหิ้วของหนักด้วยนิ้วบ่อยๆ จะมีผลทำให้มีพังผืดยึดตามข้อนิ้วมือ

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.กลยุทธ ตัณนิติศุภวงษ์  แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ
ศูนย์ศูนย์ศัลยกรรมกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อเข่า ข้อไหล่ และสะโพก โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1745


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.