คำนวณดัชนีมวลกาย ต้องเท่าไหร่เรียกว่าอ้วน?
มาทำความรู้จักกับคำว่า “ค่าดัชนีมวลกาย” กัน
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI : Body Mass Index) เป็นข้อมูลดัชนีทางคณิตศาตร์ที่ใช้การวัดจากน้ำหนัก (Weight) และส่วนสูง (Height) นำมาคำนวณค่า BMI เพื่อหาค่าผลลัพธ์ของปริมาณไขมันทั้งหมด เมื่อหาคำนวณมวลร่างกายได้แล้วแพทย์จะนำคำตอบไปประเมินสภาวะลักษณะร่างกายของผู้ใช้บริการว่าเกณฑ์น้ำหนักจะถูกประเมินอยู่ในระยะร่างกายรูปแบบใด เรียกได้ว่าเป็นค่าความหนาของร่างกาย ใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนหรือผอมในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งคำนวณได้จาก การใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสองซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังสูตรต่อไปนี้
คำนวณ BMI ด้วยตนเอง
วิธีคำนวณ BMI ในการหาค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ÷ ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง
ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิง น้ำหนัก 65 กิโลกรัม ส่วนสูง 155 เซนติเมตร
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 65 ÷ [1.55 x 1.55]
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 27.05
จากตัวอย่างข้างต้น BMI 27.05 สำหรับคนเอเชียจะอยู่ในช่วงของ 25.00 - 29.99 ซึ่งจัดได้ว่าเข้าข่ายอ้วนแล้ว สำหรับตารางดัชนีมวลกายนี้สาเหตุที่จำเป็นต้องแยกระหว่างชาวอเมริกัน ยุโรป แอฟริกัน และชาวเอเชีย เนื่องจากคนเอเชียจะมีรูปร่างสรีระที่เล็กกว่าชาวอเมริกัน ยุโรป และแอฟริกันมาก จึงจำเป็นต้องปรับช่วงของดัชนีมวลกายให้ตรงกับโครงสร้างร่างกายของคนเอเชีย ดังในตาราง
ค่า BMI
|
|
น้อยกว่า 18.5 |
ผอมเกินไป - น้ำหนักน้อยกว่าปกติ ซึ่งก็ไม่ค่อยดีนัก หากคุณมีน้ำหนักน้อยเกินไปอาจเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียง่าย หรือเป็นโรคขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารให้เพียงพอครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะและการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ สามารถช่วยเพิ่มค่า BMI ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ |
18.5 - 25.0 |
น้ำหนักปกติ น้ำหนักเหมาะสม - เป็นน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับคนไทย คือค่า BMI ระหว่าง 18.5-25 จัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ห่างไกลโรคที่เกิดจากความอ้วน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ น้อยที่สุด ควรพยายามรักษาระดับค่า BMI ให้อยู่ในระดับนี้ให้นานที่สุด และควรตรวจสุขภาพทุกปี |
มากกว่า |
เริ่มอ้วน - เป็นน้ำหนักที่เริ่มอ้วนในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ถือว่าอ้วนมาก แต่ก็เริ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับความอ้วนได้เช่นกัน ทั้งโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ควรปรับพฤติกรรมการทานอาหาร เริ่มออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพ |
มากกว่า |
อ้วน - เป็นน้ำหนักที่ค่อนข้างอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงที่แฝงมากับความอ้วน หากค่า BMI อยู่ในระดับนี้ จะต้องปรับพฤติกรรมการทานอาหาร ต้องออกกำลังกาย ควรไปตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์ |
มากกว่า 35.0 |
อ้วนมากผิดปกติ - เป็นน้ำหนักที่อันตรายมากแล้ว มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดโรคร้ายแรงที่แฝงมากับความอ้วน ทั้งโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ควรไปตรวจสุขภาพและปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อหาวิธีแก้ไข |
หมายเหตุ ค่า BMI จากโปรแกรมคำนวณนี้ เป็นค่าสำหรับชาวเอเชียและคนไทย ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเชื้อชาติ ค่า BMI เฉลี่ยของหญิงไทยคือ 24.4 และของชายไทยคือ 23.1 (อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป)
ในกรณีที่มีค่าดัชนีมวลกายสูง และถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากมาย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ระดับโคเลสเตอรอลและระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคข้อเข่าเสื่อม ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับหรือปัญหาในการหายใจ และโรคมะเร็งชนิดต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การแปลผลค่า BMI ในนักกีฬา นักเพาะกายที่มีมวลกล้ามเนื้อสูง หรือผู้ป่วยโรคตับ ไต ที่มีภาวะบวมน้ำ อาจมีค่า BMI สูงได้โดยที่ไม่ได้มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนได้
วิธีการเพิ่มหรือลดค่า BMI
ค่า BMI จะแปรผันตามน้ำหนักตัว หากน้ำหนักตัวเพิ่มก็จะทำให้ค่า BMI เพิ่มขึ้น และหากน้ำหนักตัวลดก็จะทำให้ค่า BMI ลดลงเช่นเดียวกัน โดยแนวทางในการลดน้ำหนักตัวมีดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่ไขมันไม่สูง รับประทานแป้งให้ได้ในปริมาณที่เหมาะสม และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ลดอาหารประเภทข้าว แป้ง น้ำตาล ผลไม้ รวมทั้งน้ำซุป หรือน้ำแกง
- ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มปริมาณการเผาผลาญพลังงานในแต่ละวัน โดยให้สัมพันธ์กับปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป
- ควรรับประทานอาหารเช้า โดยมีผลการวิจัยมาแล้วว่าการไม่ทานอาหารเช้าทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- การนอนหลับมีผลต่อการเผาผลาญพลังงาน ดังนั้นควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
- หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางเพิ่มเติม
ค่าดัชนีมวลกาย เป็นตัวชี้วัดมาตรฐานเพื่อประเมินสภาวะของร่างกายว่ามีความสมดุลของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ จากข้อมูลดัชนีมวลกาย องค์การอนามัยโลกทำการศึกษาพบว่าคนเอเชียที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23 เป็นต้นไป จะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น หรือแปลได้ว่าหากคุณน้ำหนักเกินก็มีโอกาสที่จะเป็นแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ตรวจสุขภาพและวัคซีน โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพและวัคซีน