Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

จี้ไฟฟ้าหัวใจ รักษาหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ให้กลับมาปกติ โดยไม่ต้องผ่าตัด

3 เม.ย. 2567


   ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ สามารถมีอาการหัวใจเต้นแรง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นสะดุด หรือบางครั้งหัวใจเต้นช้า มีอาการเหมือนกับหัวใจหยุดเดินไป 1 - 2 จังหวะ ในบางรายมีอาการใจหวิว วูบ ในรายที่มีรุนแรงอาจมีอาการเป็นลม หมดสติ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิด สามารถรักษาได้ โดยใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ หากไม่ดีขึ้นสามารถรักษาร่วมกับการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation) โดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาดมสลบ และมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่ำ 0.8 เปอร์เซ็นต์ในโรคที่มีความซับซ้อนต่ำ, และ 6 เปอร์เซ็นต์ในโรคที่มีความซับซ้อนทางหัตถการสูง
 
สาเหตุการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
   หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) คือ ภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจเดินทางผิดปกติ สามารถเกิดจากการสร้างกระแสไฟฟ้าที่มากกว่าปกติ หรือมีการหมุนวนของไฟฟ้าในหัวใจก็ได้ สามารถเป็นได้ทั้งชนิดเต้นเร็วหรือช้าเกินไป ทำให้มีอาการผิดปกติได้ หัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มอายุที่แตกต่างกัน ก็จะมีโรคที่พบบ่อยแตกต่างกัน อย่างเช่น การหมุนวนของไฟฟฟ้าหัวใจผิดปกติระหว่างห้องบนและห้องล่างมักพบในผู้ป่วยอายุน้อย โรคที่เกิดจากการหมุนวนของไฟฟ้าผิดปกติที่บริเวณรอยต่อของหัวใจพบในผู้ป่วยวันกลางคนถึงอายุมาก โรคที่การเกิดสร้างไฟฟ้าผิดปกติจากหัวใจห้องล่างซ้ายมักพบในผู้ที่มีโรคหัวใจมาก่อน และอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
   ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด พฤติกรรมการใช้ชีวิต ความเสื่อมตามอายุ หรือไม่ทราบสาเหตุก็ได้ ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ การสูบบุหรี่ กัญชา สารเสพติดต่างๆ หรือแม้แต่ความเครียดก็ได้ โรคร่วมเรื้อรังที่ควบคุมได้ไม่ดี อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์ผิดปกติ ความผิดปกติแต่กำเนิดที่ส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่วเป็นต้น และส่วนมากผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองมีโรคร่วมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อยู่
 
อันตรายของการปล่อยให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
   โรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติบางชนิดไม่ส่งผลเสียต่อหัวใจ เพียงแค่มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่ายเท่านั้น แต่หลายโรคของหัวใจที่เต้นผิดจังหวะ หากปล่อยให้เป็นซ้ำบ่อยๆ ทำให้การบีบตัวของหัวใจแย่ลง เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอื่นๆ ตามมา และอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วย

“อาการ” ที่น่าสังเกต
   อาการสำคัญ คือ ใจสั่น หรือใจเต้นเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ อยู่ดีๆ หัวใจก็เต้นเร็ว หรือผิดจังหวะอย่างกระทันหัน บางรายมีเพียงแค่อาการเหนื่อย หรืออาจหน้ามืด เป็นลมก็ได้ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที
 
ตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกตินำมาก่อน จึงทำให้ยากต่อการวินิจฉัย แต่หากสังเกตว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ แพทย์สามารถวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์เดิม และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงโดยใช้ Holter Monitoring การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) การเอกซเรย์หน้าอก (Chest X-ray) เพื่อตรวจความผิดปกติของหัวใจ และการตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)

ประเภทของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด แต่ละชนิด มีการรักษาที่แตกต่างกัน ทั้งรับประทานยา และการจี้ไฟฟ้าหัวใจ
  1. ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC (Premature ventricular contraction) เกิดจากหัวใจห้องล่างเกิดการบีบตัวก่อนเวลาที่ควรจะเป็น โดยทั่วไปแล้วเมื่อหัวใจห้องล่างโดนกระตุ้นไปแล้วจะต้องรอกระแสไฟฟ้ารอบใหม่จากหัวใจห้องบน (SA node) ในระหว่างที่รอนั่นเอง กลับมีกระแสไฟฟ้าแปลกปลอมที่ไม่ได้มาจากหัวใจห้องบน แต่มาจากหัวใจห้องล่างแทน ทำให้หัวใจถูกกระตุ้นให้มีการบีบตัวหรือเต้นก่อนเวลาที่ควรจะเป็น มักทำให้มีอาการใจสั่นเหมือนหัวใจจะกระโดด หัวใจเต้นสะดุด เต้นไม่สม่ำเสมอ
  2. ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (Supraventricular Tachycardia – SVT) เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่หัวใจห้องบน ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที มักอยู่ในช่วง 150 - 250 ครั้งต่อนาที มีจังหวะการเต้นของหัวใจที่เร็วและสม่ำเสมอ ทำให้มีอาการใจสั่นคล้ายจะเป็นลม บางรายมีอาการเหนื่อยทั้ง ๆ ที่นั่งอยู่เฉยๆ สามารถเกิดขึ้นและหายเองได้อย่างรวดเร็ว
แนวทางการรักษา ภาวะใจสั่น
   การรักษามีอยู่สามทางเลือก คือ หนึ่ง ไม่ทำอะไรเลยสำหรับคนที่เป็นน้อยๆ เป็นนานๆ ครั้ง หรือเป็นในระยะเวลาสั้นๆ สองกลุ่มที่มีอาการเกิดขึ้นนานพอสมควร ต้องรับประทานยาเพื่อช่วยคุมอาการ ซึ่งในขณะทานยาอยู่ยังสามารถเกิดอาการได้ หากเกิดอาการแบบเฉียบพลันสามารถใช้ยาฉีด หากไม่ดีขึ้นจึงต้องอาศัยการกระตุกไฟฟ้าหัวใจให้กลับเป็นจังหวะปกติ หลังจากนั้นต้องรับประทานยาต่อไปเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และสามการไปจัดการทางลัดวงจรไฟฟ้า หรือการจี้ไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนต่ำ ไม่มีแผลผ่าตัดเนื่องจากเป็นใส่สายไฟสำหรับตรวจและจี้ไฟฟ้าผ่านทางหลอดเลือดต่ำใหญ่ที่ขาหนีบ และจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง หัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูงนี้
 
การจี้หัวใจ รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
   การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด มักไม่ต้องใช้ยาดมสลบและอาจมีความรู้สึกร้อนขณะทำการจี้ไฟฟ้าเท่านั้น
   หัวใจเต้นผิดจังหวะหลายโรคสามารถรักษาให้หายขาดด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ หรือหากไม่หายขาด ความถี่ของอาการผิดปกติที่เกิดจากโรคก็จะลดลง ทำให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น มีความจำเป็นต้องทานยาลดลง
    บางกรณีการจี้ไฟฟ้าหัวใจยังสามารถลดความจำเป็นต่อการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจลงได้ด้วย
 
วิธีการจี้ทำลายวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ทำอย่างไร
  ก่อนที่จะเข้าไปถึงหัวใจ เราก็จะต้องเจาะเส้นเลือดดำที่ขาเพื่อเป็นทางผ่านสำหรับสายไฟที่ใช้ในการวินิจฉัย และจี้ไฟฟ้าหัวใจ เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่ำ หลังจากที่นำสายไปวางไว้ที่ที่เหมาะสมแล้ว จะมีการกระตุ้นหัวใจเพื่อตรวจทางสรีระไฟฟ้าหัวใจและเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำก่อนทำการจี้ไฟฟ้าหัวใจ หลักจากที่ได้โรคที่แน่นอนแล้วจะมีการปล่อยคลื่นวิทยุไปยังปลายสายจี้ไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนเพื่อรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งระยะเวลาในการจี้ไฟฟ้าจะแตกต่างกันไปในแต่ละโรคและตำแหน่งของหัวใจที่ต้องทำการจี้ไฟฟ้า
 
การจี้ไฟฟ้าหัวใจใช้เวลานานเท่าไร รักษาแล้วหายขาดหรือไม่?
   ในการทำหัตถการนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากเจาะเส้นเลือดแล้วต้องนอนพักฟื้น 1 คืน หลังจากนั้นก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดมีโอกาสหายขาดถึง 95% มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเพียงแค่ 1% เท่านั้น ภาวะโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงต่ำเช่น มีโอกาสโดยรวมเพียง 0.8% เท่านั้นที่จะเกิดหัวใจทะลุ มีโอกาสเสียชีวิตหลังจากการจี้ไฟฟ้าหัวใจเพียง 0.1 - 0.3% เกิดจ้ำเลือดบริเวณที่เจาะประมาณ 0.4% ในโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดไม่ซับซ้อน จะเห็นว่าภาวะแทรกซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้ แต่มีโอกาสน้อยและยังมีการป้องกันในหลายๆ ขั้นตอน ในขณะจี้ไฟฟ้าหัวใจคนไข้จะรู้สึกร้อนบริเวณหน้าอก หรือแน่นหน้าอกเพียงเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายๆ ชนิด
 
รูปแบบของการจี้ไฟฟ้าหัวใจ
   การจี้ไฟฟ้าหัวใจ 2 มิติ เป็นการตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าหัวใจรวมถึงตำแหน่งที่ผิดปกติแล้วทำการรักษาด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง โดยใช้ภาพเอ็กเรย์เป็นตัวช่วย ส่วนใหญ่จะใช้ในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ หรือ SVT (Supraventricular Tachycardia)
   การจี้ไฟฟ้าหัวใจ 3 มิติ (3D mapping) เป็นการตรวจประเมินหาตำแหน่งจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ โดยแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติ แบบเรียลไทม์ พร้อมใช้สายสวนจี้ตรงจุดที่ผิดปกติของการเต้นของหัวใจและการลัดวงจรที่เกิดขึ้นด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง มีข้อดี คือ ให้การรักษาที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการทำหัตถการ ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทำการจี้ไฟฟ้าหัวใจ วิธีนี้เป็นวิธีมาตราฐานที่สามารถใช้รักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เกือบทุกชนิด เช่น ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ชนิด PVC หรือ PAC, ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หรือ AF (Atrial Fibrillation) หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีทางลัดของไฟฟ้าหัวใจอย่าง Wolff-Parkinson-White Syndrome เป็นต้น
 
การเตรียมตัวก่อนทำหัตถการจี้หัวใจ
  ก่อนการทำหัตถการจี้หัวใจด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง ผู้ป่วยจะต้องงดรับประทานยาต้านการเต้นของหัวใจผิดจังหวะอย่างน้อย 3 วัน หรืออยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และให้นำยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำมาด้วยในวันทำหัตถการ งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ในวันทำการรักษาควรนำญาติมาด้วยเพื่อร่วมตัดสินใจในการรักษาของแพทย์ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมผิวหนังบริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้างหรือคอด้านขวาขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แพทย์จะใส่สายสวน รวมทั้งจะได้รับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำบางรายจะได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะด้วย
 
การปฏิบัติตัวหลังการทำหัตถการจี้หัวใจ
  หลังทำการรักษาเสร็จเรียบร้อยผู้ป่วยจะต้องพักอยู่ที่ห้องพักฟื้น 1 คืน เพื่อรับการติดตามดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อถึงห้องพักต้องนอนราบห้ามงอขาข้างที่ทำอย่างน้อย 4 - 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการมีเลือดออกและมีก้อนเลือดได้ผิวหนัง หากมีอาการแน่นหน้าอกเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ เวียนศีรษะ มีไข้และรู้สึกอุ่นๆ ขึ้นๆ หรือพบว่ามีเลือดออกหรือมีก้อนเลือดใต้ผิวหนังบริเวณแผลขาหนีบ ควรแจ้งให้แพทย์พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทราบทันที วันรุ่งขึ้นถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
 
  ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะควรดูแลรักษาตนเองโดยทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ สังเกตอาการผิดปกติเพื่อบอกเล่าให้แพทย์ฟังเมื่อมาติดตามอาการ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป การใช้สารเสพติด หากมีโรคร่วมต่าง ๆ ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่หากรู้สึกว่าอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติไม่ดีขึ้น หรืแแน่นหน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในช่วงที่มีอาการทันที เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว
 
มั่นใจในการรักษากับศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
  โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพหลากหลายสาขาที่พร้อมในการดูแล มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคยาก และมีอาการซับซ้อน เพื่อให้การรักษาและการช่วยชีวิตผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติและมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ธารา เรืองวีรยุทธ แพทย์เฉพาะทางด้านสรีระไฟฟ้าหัวใจ 
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์หัวใจ
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.