Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ตรวจวิเคราะห์อสุจิ เตรียมความพร้อมสำหรับคุณพ่อ

29 มิ.ย. 2566


มาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าอสุจิกันเถอะ

   “อสุจิ” เซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายที่ออกจากร่างกายผ่านการหลั่งขณะมีเพศสัมพันธ์ น้ำเชื้อโดยมากสร้างจากต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ ซึ่งเป็นอวัยวะอยู่ที่อุ้งเชิงกราน แต่ว่าตัวอสุจิเองสร้างจากอัณฑะ ส่วนกระบวนการที่นำไปสู่การปล่อยน้ำอสุจิเรียกว่า การหลั่งน้ำอสุจิ ซึ่งในการหลั่งแต่ละครั้งจะมีจำนวนอสุจิอยู่ที่ประมาณ 300 - 500 ล้านตัว แต่ร้อยล้านตัวข้างต้นนั้น ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะมีความแข็งแรงจนสามารถเดินทางไปจนถึงรังไข่และเกิดการปฏิสนธิจนตั้งครรภ์ได้ การที่อสุจิอ่อนแออาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น มีการผิดปกติของลูกอัณฑะแต่กำเนิด มีการใช้ยา เคมีบำบัด และการฉายแสง ส่วนพฤติกรรมการดื่มสุรา สูบบุหรี่ ยาเสพติด มีความเครียด มีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือหักโหมออกกำลังกายเกินพอดีก็สามารถส่งผลเสียได้เช่นเดียวกัน

  สำหรับคุณผู้ชายที่กำลังมีข้อกังวลใจเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการมีบุตร ปัจจุบันมีวิทยาการที่ช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์มากมาย ทั้งการปรับเปลี่ยนอาหารการกิน การไม่ทำพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพ รวมไปจนถึงทางการแพทย์อย่างการเพิ่มคุณภาพให้กับสเปิร์ม เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะป้องกันปัญหาการมีบุตรยากที่อาจเกิดขึ้น นอกจากการดูแลร่างกาย จิตใจ และมีสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว หากเป้าหมายสูงสุดในการมีเพศสัมพันธ์คือการสร้างเจ้าตัวน้อยแล้วละก็ การเตรียมความพร้อมทางร่างกายที่ดีของทั้งคุณผู้ชายตั้งแต่ก่อนมีบุตรจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ พร้อมสำหรับการให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นให้ส่งผลเสียต่อการมีบุตรน้อยที่สุด
  การหลั่งน้ำอสุจิ (Ejaculation) เป็นการหลั่งให้น้ำอสุจิ (Semen) ออกจากทางเดินระบบสืบพันธุ์เพศชาย ซึ่งจะเกิดขึ้นในขณะที่ฝ่ายชายเข้าสู่ภาวะถึงจุดสุดยอด (Orgasm) บางกรณีอาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวในขณะที่นอนหลับ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ฝันเปียก (Wet dream) ในบางกรณีการหลั่งน้ำอสุจิอาจมีความผิดปกติ อันเนื่องมาจากจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในต่อมลูกหมาก (Prostatic disease)หรือบางกรณีฝ่ายชายอาจจะไม่สามารถหลั่งน้ำอสุจิได้เลย จะเรียกภาวะนี้ว่า Anejaculation ส่วนกรณีที่มีการหลั่งน้ำอสุจิได้ แต่ไม่คล่องตัว หรือมีความเจ็บปวดร่วมขณะหลั่งน้ำอสุจิ เรียกภาวะนี้ว่า Dys-ejaculation
สาเหตุที่จำเป็นต้องตรวจความแข็งแรงของอสุจิ

  • อาจมีภาวะหรือโรคประจำตัวที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพตัวอสุจิ เช่น การสูบบุหรี่ โรคตับ โรคไต โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต
  • น้ำอสุจิจะเริ่มมีคุณภาพลดลงเพียงเล็กน้อยหลังอายุ 30 ปี แต่จะเริ่มเห็นผลชัดเจนว่าทำให้อัตราการตั้งครรภ์จากการรักษาภาวะมีบุตรยากแย่ลงในช่วงอายุ 40 ปีเป็นต้นไป
  • เพื่อทราบข้อมูลน้ำอสุจิเพื่อใช้วางแผนการมีบุตรได้เร็วและดีขึ้น ได้แก่
  1. ความผิดปกติของจำนวนตัวอสุจิ อาจเกิดจากท่อนำอสุจิตีบหรือตัน อัณฑะไม่มีการสร้างตัวอสุจิ หรือสร้างน้อยกว่าปกติ
  2. ตัวอสุจิมีการเคลื่อนไหวไม่ดี ส่งผลให้ไม่สามารถว่ายผ่านปากมดลูกของฝ่ายหญิงไปพบกับไข่ในท่อนำไข่ได้
  3. รูปร่างอสุจิ ตัวอสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติจะส่งผลเสียต่อการปฏิสนธิกับไข่ได้

การตรวจวิเคราะห์น้ำเชื้อมีวิธีแบบไหนบ้าง

  1. การตรวจดูด้วยตาเปล่า (Macroscopic Examination) เพื่อตรวจดูลักษณะทั่วไป โดยดูสี ความขุ่นใส และการละลายตัว ดูปริมาตรของน้ำอสุจิ ความหนืด ความเป็นกรดด่างของน้ำอสุจิ
  2. การตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination) เพื่อตรวจจำนวนตัวอสุจิ อัตราการเคลื่อนไหว อัตราการมีชีวิตของอสุจิ เปอร์เซ็นต์ของตัวอสุจิที่มีรูปร่างปกติ เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง
  3. การตรวจตัวอสุจิด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Computer Assisted Sperm Analysis: CASA) สามารถวิเคราะห์คุณภาพของอสุจิเหมือนการตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์ โดยเป็นการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ แต่จะมีอุปกรณ์ที่มีความชัดเจนสูงในการจับภาพตัวอสุจิ โดยเฉพาะการวัดการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิและรูปร่างของตัวอสุจิ ทำให้ผลตรวจวิเคราะห์เชื้ออสุจิมีความถูกต้องยิ่งขึ้น ลดความเบี่ยงเบนจากการตรวจโดยบุคลากรเพียงอย่างเดียว

  ก่อนการตรวจวิเคราะห์ ผู้เข้ารับการตรวจควรงดการมีเพศสัมพันธ์หรือช่วยตัวเองเป็นเวลา 2 - 7 วัน เพื่อให้มีจํานวนน้ำเชื้อมากที่สุด ระหว่างการตรวจวิเคราะห์ แพทย์จะวิเคราะห์น้ำเชื้อเพื่อทดสอบภาวะเจริญพันธุ์ โดยมีรายการสำหรับวิเคราะห์น้ำเชื้อ หลังการตรวจวิเคราะห์แพทย์จะทำการพูดคุยอธิบายผลการตรวจ หากผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่ปกติ แพทย์อาจให้ทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่ามีปัญหาใดๆ หรือไม่ และทำการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

   ทั้งนี้ การดูแลร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมให้มีความพร้อมก่อนการให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ การเตรียมความพร้อมทางร่างกายที่ดีของทั้งคุณผู้ชายและคุณผู้หญิงตั้งแต่ก่อนมีบุตรจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่างๆ ที่จะเกิดกับคุณแม่และลูกน้อยได้ในอนาคต

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.ธนิก โชคจิรวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางสาขาสูติศาสตร์ และนรีเวชวิทยาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.