ตัวการท้องเสียของลูกรัก “โนโรไวรัส (Norovirus)”
อาการที่มักพบได้บ่อย
อาการที่พบบ่อยหากได้รับเชื้อโนโรไวรัส ได้แก่
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำได้
- ปวดท้อง
- ปวดศีรษะ
- มีไข้ อ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยตัวตามร่างกาย
สำหรับรายที่มีอาการอาเจียนและถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำรุนแรง จนอาจจะเป็นอันตรายได้ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก มีชีพจรเบาเร็ว และมีความดันโลหิตต่ำได้
การติดต่อและแพร่กระจาย
เชื้อโนโรไวรัส สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโนโรไวรัสปนเปื้อน พบบ่อยในน้ำดื่ม น้ำแข็ง ผักผลไม้สด เป็นต้น เด็กจับหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัสแล้วเอานิ้วเข้าปากหรือการสัมผัสกับอาเจียน หรืออุจจาระของผู้ป่วย
ตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโนโรไวรัส ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อส่งตรวจพิเศษกับห้องปฏิบัติการ เพื่อดูการติดเชื้อ Norovirus หากพบว่าติดเชื้อโนโรไวรัส แพทย์จะทำการดูแลรักษาตามอาการ ในรายที่อาการไม่รุนแรง อาการจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2 – 3 วัน
การป้องกันโนโรต้าไวรัส
เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายและปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รวมถึงยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ แอลกอฮอล์เจลไม่สามารถทำลายเชื้อโนโรไวรัส แต่สามารถป้องกันโดยทั่วไปคือ การดูแลสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด หลังจากเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม เด็กควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จนกว่าจะอาการดีขึ้น
วิธีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ คือ
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 15 วินาที หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนทำอาหารหรือกินอาหาร
- หลีกเลี่ยงน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด เพราะเชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในน้ำได้นาน
- ล้างผัก ผลไม้สด ให้สะอาด ทำหอยนางรมหรือหอยชนิดอื่นให้สุกก่อนกิน
- ทิ้งเศษอาเจียนและอุจจาระอย่างระมัดระวังโดยใช้ผ้าชุปน้ำหมาดๆซับไม่ให้มีการฟุ้งกระจาย และทิ้งลงในถุงพลาสติก
- ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ แยกเสื้อผ้าคนป่วยซักต่างหากและต้องรีบซักให้สะอาดโดยเร็วหรือทิ้งให้เหมาะสม
- เช็ดทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน
- ผู้ป่วยต้องงดการประกอบอาหาร เพราะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้หลังจากมีอาการเป็นระยะเวลา 3 วัน
- เด็กควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางจนกว่าจะหายเป็นปกติ
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สุรัตน์ ตั้งชัยสิน แพทย์เฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์กุมารเวชกรรม