Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ทางเลือกฟื้นฟูระบบประสาทและสมอง ด้วย “TMS”

25 ก.ค. 2566


   TMS หรือ Transcranial Magnetic Stimulation
เป็นเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามากระตุ้นสมองหรือกล้ามเนื้อโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยมีการใช้เครื่องมือในการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาเหนี่ยวนำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการทำงานของสมอง ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือการตกค้างของรังสีภายในร่างกาย ช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีภาวะชา อ่อนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ายังสามารถช่วยลดและป้องกันการปวดศีรษะเรื้อรัง การปวดไมเกรน ปวดกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง (office syndrome)  ช่วยลดอาการและความรุนแรงในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า TMS เป็นเครื่องมือที่มีความปลอดภัยสูงไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและมีผลข้างเคียงน้อย หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลและสามารถกลับบ้านได้ทันที
การกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่างๆ ดังนี้
  1. โรคซึมเศร้า
  2. โรคอัมพฤกษ์/อัมพาต
  3. ชามือ ชาเท้า จากเส้นประสาทถูกกดทับ หรือเบาหวาน
  4. กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  5. ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน
  6. การบาดเจ็บของสมองและไขสันหลัง
  7. โรคพาร์กินสัน
  8. โรคความจำบกพร่อง หรืออัลไซเมอร์
  9. อาการปวดเรื้อรังจากภาวะต่างๆ
  10. อาการปวดกล้ามเนื้อ office syndrome, fibromyalgia
  11. โรคทางระบบประสาท สมอง และกล้ามเนื้ออื่นๆ
ข้อดีของการรักษาด้วยเครื่อง TMS
  1. มีความปลอดภัยสูง ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด ผลข้างเคียงต่ำ
  2. เห็นผลทันทีหลังการรักษาครั้งแรก
  3. ช่วยลดปริมาณการกินยา ลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการกินยา
  4. พบว่าเมื่อรักษาอย่างต่อเนื่องทำให้ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะดีขึ้นจนถึงหายสนิทรวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ
  5. ช่วยปรับการทำงานฟื้นฟูของสมองที่บกพร่องให้คงที่
  6. ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย
  7. เพิ่มประสิทธิภาพเมื่อควบคู่กับกายภาพบำบัด
ข้อห้ามในการรักษาด้วยเครื่อง TMS
  1. ผู้ที่มีอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ฝังในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องหูเทียมไฟฟ้าชนิดฝังในตัว สายระบายน้ำในโพรงสมองแบบอัตโนมัติ เป็นต้น
  2. ผู้ที่มีอาการชักที่ไม่สามารถควบคุมได้
  3. ผู้ที่มีโลหะฝังบริเวณศีรษะ เช่น ตะแกรงขยายหลอดเลือดสมอง คลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองในสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีโลหะในบริเวณอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยตรงสามารถทำได้
  4. นอกจากนี้ก่อนเข้ารับการรักษาจะได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้ชำนาญในการใช้เครื่อง TMS เพื่อตรวจสอบว่ามีข้อควรระวังอื่นๆ ในการรักษาหรือไม่
มีผลข้างเคียงหรือไม่?
   ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่พบอาการข้างเคียงภายหลังการรักษา ผลข้างเคียงที่สำคัญแต่พบได้น้อยมากคืออาการชัก ซึ่งพบได้ประมาณ 0.02 - 0.2% ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียหรือง่วงนอนภายหลังการกระตุ้น
ใช้เวลานานเท่าไหร่?
   ระยะเวลาในการรักษาต่อครั้งอยู่ที่ 15 - 60 นาที ความถี่ในการรักษาประมาณ 1 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์แล้วแต่อาการและโรคของผู้ป่วยแต่ละราย

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.