Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ทำความรู้จัก ไตวายเรื้อรัง

7 ก.ย. 2566


ไตวายเรื้อรัง คืออะไร 

   ไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะที่มีการทำลายเนื้อไตช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ระยะเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี เป็นการทำลายถาวร ทำให้ไตค่อยๆ มีขนาดเล็กลง จนไม่สามารถฟื้นมาทำหน้าที่ได้ปกติ ดูได้จากค่าอัตราการกรองของไตที่ผิดปกติ มากกว่า 3 เดือน ขึ้นไป

อาการของโรคไตวายเรื้อรัง

  1. ระยะแรกจะมีการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน มีสีจาง และเมื่อการทำงานของไตเสื่อมลงหรือไตวาย ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะออกน้อยมาก
  2. ขาบวมและกดบุ๋ม เกิดจากมีเกลือและน้ำคั่งในร่างกาย หรือมีโปรตีนรั่วมาในปัสสาวะมาก หากบวมมากจะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยจากการมีน้ำคั่งในปอด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
  3. ความดันโลหิตสูง
  4. คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร คันตามร่างกาย อ่อนเพลีย
  5. ในเพศหญิงอาจมีอาการขาดประจำเดือนหรือไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ส่วนเพศชายจะมีความรู้สึกทางเพศลดลงและการสร้างอสุจิลดลง

สาเหตุและผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดไตวายเรื้อรัง

  • ผู้เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่ได้รับยาหรือสารบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ชนิดที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs) , ยาชุด, ยาหม้อ, สารทึบรังสี
  • ผู้เป็นโรคไตอักเสบชนิดต่างๆ เช่น โรคเอสแอลอี (SLE)
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไตวายเรื้อรัง หรือมีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำในไต
  • ผู้ที่ตรวจพบนิ่วในไต
  • ผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหลายครั้ง
  • ผู้เป็นโรคอ้วน
  • ผู้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เป็นไตวายเรื้อรัง

  • สาเหตุของไตวายเรื้อรังหลายอย่าง สามารถป้องกันได้ หากได้รับการรักษาในระยะแรก เช่น การควบคุมเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
  • ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด
  • เลี่ยงการกินอาหารรสเค็ม
  • เลี่ยงการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น
  • ยาแก้ปวด ชนิดที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs), ยาชุด, ยาหม้อ
  • ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น เจนตามัยซิน, คานามัยซิน
  • เลี่ยงการใช้สารทึบรังสีโดยไม่จำเป็น

การรักษาไตวายเรื้อรังทำได้อย่างไร

   เมื่อไตเสื่อมหน้าที่อย่างเรื้อรัง การทำงานของไตจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไตฝ่อ เข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยการคุมอาหารและกินยาเหมือนโรคไตเรื้อรังระยะอื่นๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตร่วมด้วย ซึ่งมี 3 วิธี ได้แก่

  1. ล้างไตทางช่องท้อง คือการใช้สายยางฝังไว้ในช่องท้องแบบถาวรและใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง เพื่อฟอกของเสียในเลือดออก รวมถึงปรับสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีต่างๆ โดยต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาทุกวัน วันละ 4 – 6 ครั้ง สามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีเพื่อลดโอกาสติดเชื้อในช่องท้อง
  2. ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คือการนำเลือดของผู้ป่วยออกจากร่างกายโดยการใช้เครื่องไตเทียมเป็นการกำจัดของเสีย ปรับระดับเกลือแร่ในเลือด และปรับสมดุลของน้ำในร่างกายของผู้ป่วยไตวายให้เป็นปกติ ผู้ป่วยจะต้องมารับการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลโดยขณะทำต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญฟอกไต
  3. ปลูกถ่ายไต คือการผ่าตัดนำไตจากผู้บริจาคที่เป็นญาติหรือผู้เสียชีวิต มาทำหน้าที่แทนไตเดิมของผู้ป่วย วิธีการผ่าจะใช้ไตเพียงข้างเดียว โดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานแล้วต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดของผู้ป่วย ให้ทำงานได้เหมือนภาวะปกติ หลังจากปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิกินยาตลอดชีวิต โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะติดเชื้อและไม่มีโรคหัวใจรุนแรง

   ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแต่ละรายอาจใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เนื่องจากผู้ป่วยมักมีโรคอื่นร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและประเมินจากอายุรแพทย์โรคไต เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. อดิศร ดีประสิทธิพงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคไต
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.