Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ท่อน้ำนมอุดตัน ปัญหาคุณแม่หลังคลอด

18 เม.ย. 2567



  “ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน เป็นปัญหาที่พบบ่อยในคุณแม่หลังคลอด” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่น้ำนมบริเวณท่อน้ำนมเกิดการอุดตัน ข้นมากขึ้นจนอุดตันคั่งค้างอยู่ในท่อน้ำนม
สาเหตุของท่อน้ำนมอุดตัน
  • ผู้ที่มีน้ำนมมากจนเกินไป และไม่ได้ระบายออกตามเวลา
  • ปั๊มนมบ่อยในช่วงกลางวันแล้วกลางคืนหลับยาว ไม่ตื่นมาให้นมหรือปั๊มนม
  • การให้ลูกดูดนมไม่บ่อยพอ หรือดูดน้อยทำให้นมค้างเต้า ระบายออกไม่หมด
  • ปล่อยให้เต้านมคัดเป็นเวลานาน
  • ใส่เสื้อชั้นในที่คับแน่นจนเกินไป ทำให้น้ำนมไหลเวียนได้ไม่สะดวก
  • ใส่เสื้อชั้นในที่หลวม ไม่กระชับ ทำให้เต้านมหย่อนคล้อย กดทับท่อส่งน้ำนม
  • เต้านมใหญ่ยานเกินไปทำให้การระบายน้ำนมออกไม่ดี
  • การรับประทานอาหารที่หวาน มัน  แป้ง  หรือมีน้ำตาลมากเกินไป
  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือร่างกายขาดน้ำ
อาการนี้ใช่เลย...ท่อน้ำนมอุดตัน !!!
  • มีอาการนมคัด เต้านมขยายใหญ่ กดแล้วเจ็บ
  • เต้านมแข็ง เป็นแผ่นหนา หรือคลำพบเป็นก้อนอยู่ใต้ผิวหนังหรือท่อน้ำนมอุดตัน ส่งผลให้น้ำนมไม่ไหลหรือไหลช้า
  • ลักษณะหัวนมและลานนมผิดรูปไป บางครั้งอาจมีอาการเส้นเลือดปูดออกมาอย่างเห็นได้ชัด
  • ลูกดูดนมไม่ออก หรือดูดได้เพียง 20%เท่านั้น
  • บางครั้งอาจจะพบจุดสีขาวที่หัวนม (White dot)
  • ปวดเต้านม เจ็บระบบเต้านมไปถึงหัวนม มีอาการบวมแดง และอาจมีไข้ร่วมด้วย
อาการท่อน้ำนมอุดตัน สามารถพัฒนาไปเป็นเต้านมอักเสบได้ หากปล่อยทิ้งไว้นาน และไม่ได้รับการรักษา
การป้องกันไม่ให้ท่อน้ำนมอุดตัน
ดูดเร็ว : เริ่มให้ลูกน้อยดูดนมเร็ว ตั้งแต่วันแรกๆ หลังคลอด
ดูดดี : ดูให้แน่ใจว่าลูกน้อยดูดนมได้ดี น้ำนมไหลออกดี
ดูดเยอะ : ให้ลูกน้อยดูดนมโดยไม่จำกัด
การดูแล รักษาอย่างเข้าใจภาวะท่อน้ำนมอุดตัน!!! 
  1. การใช้ความร้อนลึก ด้วยการทำอัลตร้าซาวด์บริเวณเต้านม คลื่นอัลตร้าซาวด์จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในท่อน้ำนม ช่วยขยายท่อน้ำนมและเปิดท่อน้ำนม
  2. การใช้ความร้อนตื้นประคบบริเวณเต้านม เพราะความร้อนจะช่วยขยายท่อน้ำนมและช่วยสลายไต และก้อนแข็ง
  3. การนวดและประคบอุ่นเต้านม จะส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณเต้านมขยายตัวและเพิ่มการไหลของน้ำนม
  4. สำหรับจุดสีขาว (White dot) ที่หัวนม ให้ใช้เข็มสะอาดสะกิดออก หรือ บีบออกตอนอาบน้ำอุ่นที่ได้อาจจะเป็นน้ำนมไหลพุ่งออกมาได้ แต่ต้องแน่ใจว่าเข็มหรือมือสะอาดเพียงพอ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว หลังจากหัวนมเปิด อาจจะติดเชื้อ เข้าสู่ท่อน้ำนม ทำให้เป็นเต้านมอักเสบได้ ในบางกรณี white dot สามารถหลุดออกได้เองจากการที่ลูกดูดนม
  5. วิธีระบายน้ำนม ป้องกันเต้านมคัด ควรใช้วิธีใช้นิ้วมือรีดน้ำนมออก มากกว่าการปั๊มนม เพราะการปั๊มนมเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้น นั่นก็อาจจะไม่เป็นผลดีหากคุณเป็นคนที่มีน้ำนมเยอะเกินกว่าที่ลูกต้องการและเครื่องปั๊มนม จะไม่ได้รีดกระเปาะน้ำนมที่อยู่รอบๆ ลานนม ทำให้น้ำนมคั่งค้าง อันเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท่อน้ำนมอุดตัน เราจะสังเกตได้ว่า หากเราใช้นิ้วมือ 2 นิ้ว คือ นิ้วโป้งและนิ้วชี้รีดน้ำนมโดยรีดจากบริเวณลานนมน้ำนมจะพุ่งออกมาได้ดี
การบีบน้ำนมด้วยมือ
  • วางนิ้วมือและหัวแม่มือ
  • นิ้วมือควรจะวางหลังลานหัวนม (ส่วนที่เป็นสีน้ำตาล)
  • กดลงบนเต้านมเบาๆ รีดไปข้างหน้าแล้วปล่อยมือ ทำหลายๆ ครั้งจนกว่าน้ำนมจะไหล
  • บีบน้ำนมใส่ภาชนะที่สะอาด
  • เปลี่ยนบริเวณที่บีบเต้านมไปเรื่อยๆจนรอบเต้า
วิธีรักษาที่ได้ผลที่สุด คือ รักษาด้วย Deep heat โดยการทำ อัลตร้าซาวด์เปิดท่อน้ำนม เป็นการใช้คลื่นเหนือเสียงลงไปในระดับเซลล์ ซึ่งทำให้เกิดการสั่นสะเทือน ส่งผลให้เกิดความร้อนลึกแล้วหลอดเลือดขยายตัว และทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น สำหรับกรณีที่คุณแม่มีก้อนอุดตัน การทำอัลตร้าซาวด์จะช่วยให้ก้อนที่อุดตันสลายได้ง่ายขึ้น
การป้องกันไม่ให้เกิดโรค     
  1. อย่าใส่เสื้อชั้นในที่คับ หรือหลวมจนเกินไป
  2. หลีกเลี่ยงเสื้อชั้นในที่มีโครง หรือรัดใต้ราวนมจนแน่น
  3. อย่าปล่อยให้นมคัด ควรระบายออก หากลูกไม่ดูด
  4. ดื่มน้ำมากๆ เพราะในน้ำนมจะมีตะกอนอยู่ จะเห็นได้จากที่ว่าเมื่อไหร่เราดื่มน้ำไม่เพียงพอ เวลาปั๊มนมออกมา น้ำนมจะมีตะกอนปนออกมาด้วย ตะกอนนี้แหละที่จะทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน
  5. หมั่นนวดเต้านมทุกครั้งระหว่างอาบน้ำ ทำให้เต้านมไม่แข็งเป็นก้อน หรืออาจจะระบายน้ำนมออก โดยการใช้มือรีดน้ำนมระหว่างที่อาบน้ำไปด้วยก็ได้
ข้อควรระวัง
  • อย่าปล่อยให้อาการท่อน้ำนมอุดตันนานเกิน 24 ชั่วโมง อาจจะทำทำให้เกิดฝีได้ นั่นหมายถึงคุณอาจจะต้องผ่าฝีออก และไม่สามารถให้นมลูกไปอีกพักใหญ่
  • อย่าบีบเค้นก้อนไตที่เต้านม เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบได้ การนวดเต้านม ควรทำหลังจากที่ประคบร้อนแล้ว ทุกครั้ง เพราะความร้อนจะช่วยขยายท่อน้ำนม และช่วยสลายไตได้บ้าง
  • สามารถประคบเย็นได้หลังจากนวดเต้านมเสร็จแล้ว เพื่อลดอาการปวด บวม
   ถ้ามีปัญหาหัวนมเจ็บหรือแตก ควรใช้ครีมทาตามแพทย์สั่ง และงดให้นมข้างนั้นจนกว่าจะหาย ระหว่างให้นมควรบีบนมทิ้งเพื่อการกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของน้ำนม เมื่อหายเจ็บหัวนมแล้วจะมีน้ำนมให้ทารกได้ตามปกติ

สนับสนุนข้อมูลโดย :  พญ. อรจิรา วงษ์ดนตรี แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.