ท้องผูก ขับถ่ายยาก.. ริดสีดวงทวาร ไม่ว่าใครก็ควรระวัง
โรคริดสีดวงทวารหนัก คือ กลุ่มของหลอดเลือดดำบริเวณปลายสุดของลำไส้ใหญ่และที่ขอบรูทวารหนักโป่งพอง ยื่นออกมา และมีการโป่งพองไม่ยุบตัวลงเมื่อขับถ่ายเสร็จ ทำให้มีโอกาสฉีกขาดหรือมีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ
ชนิดของริดสีดวงทวาร
- ริดสีดวงภายนอก (External Hemorrhoid) จะเกิดก้อนที่ผิวหนังบริเวณปากทวารหนัก อาจมีการอักเสบ เนื่องจากลิ่มเลือดหรือเลือดออกจากการฉีกขาด
- ริดสีดวงภายใน (Internal Hemorrhoid) จะเกิดอยู่ด้านในของทวารหนัก ปกคลุมด้วยเยื่อบุผิวทวารหนัก โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ (Grade) ได้แก่
- ระดับที่ 1 เริ่มเห็นริดสีดวง จากการจากการตรวจผ่านทางทวารหนัก
- ระดับที่ 2 เห็นได้ชัดจากการตรวจผ่านทางทวารหนัก สามารถเห็นได้ด้วยตนเอง ยื่นออกมาขณะการขับถ่าย และกลับเข้าไปได้หลังขับถ่ายเสร็จ
- ระดับที่ 3 หัวริดสีดวงยื่นออกมาและไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้ กรณีนี้จะต้องใช้มือดันเข้าไปทุกครั้งที่ขับถ่าย และมีเลือดออกเวลาขับถ่าย
- ระดับที่ 4 หัวริดสีดวงยื่นออกมาตลอดบางครั้งอาจมีการอักเสบของหัวริดสีดวง หรือเกิดลิ่มเลือดร่วมด้วย ทำให้มีอาการปวดรุนแรงได้
สัญญาณบ่งบอกของริดสีดวงทวาร
มีเลือดออกตามหลังอุจจาระ เวลาคลำจะพบก้อนเนื้อบริเวณทวารหนัก มีอาการคันรอบๆ บริเวณปากทวารหนัก ทวารหนักเปียกแฉะ และหากมีอาการอักเสบร่วมด้วยก็จะยิ่งเพิ่มอาการเจ็บปวดบริเวณทวารหนัก
ใครอาจเสี่ยงเป็นริดสีดวง
- ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ขับถ่ายอุจจาระลำบาก
- ผู้ที่มีอาการท้องเสียอยู่บ่อยครั้ง
- ผู้ที่นั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานานๆ เช่น นั่งอ่านหนังสือ นั่งเล่นโทรศัพท์
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ เมื่อฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงประกอบกับมดลูกโตขึ้นจึงทำให้ขับถ่ายลำบาก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ทำงานที่ต้องนั่งอยู่กับที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ผู้ที่มีโรคที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องสูงขึ้น เช่น โรคอ้วน โรคตับแข็ง
การตรวจวินิจฉัยริดสีดวงทวาร
แพทย์ทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กส่องผ่านทวารหนัก และในบางครั้งอาจจำเป็นต้องส่องกล้องทางทวารหนัก เพื่อการตรวจลำไส้ทั้งหมด
รักษาริดสีดวงทวาร
- ระวังอย่าให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำมากๆ และกินผักผลไม้มากๆ ถ้ายังท้องผูกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย ดีเกลือ อีแอลพี หรือสารเพิ่มกากใย
- ถ้าปวดมากเนื่องจากมีการอักเสบ ให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัดๆ วันละ 2 – 3 ครั้งๆ ละ 15 – 30 นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวารจนอาการบรรเทาปกติใช้เวลาประมาณ 7 – 10 วัน
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการซีด พิจารณาให้ยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก
- ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกข้างนอกให้ใส่ถุงมือใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่นแล้วดันหัวกลับเข้าไป ถ้าไม่ได้ผลแนะนำให้ไปโรงพยาบาล
- ถ้ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ บ่อย หรือสงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วย หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจด้วยเครื่องส่องตรวจทวารหนักถ้าหากสงสัยเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่
- ถ้าเป็นมากอาจพิจารณารักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การฉีดยาเข้าที่หัวให้ฝ่อไป
- ใช้ยางรัด ทำให้หัวฝ่อ
- ใช้แสงเลเซอร์รักษา
- การผ่าตัดโดยเครื่องมืออัตโนมัติ (Stapled hemorrhoidopexy)
- การผ่าตัดแบบเสียเลือดเล็กน้อย (Ligasure hemorrhoidectomy)
- การผ่าตัดโดยการตัดออก (Hemorrhoidectomy)
เตรียมเพื่อการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
- ผู้ป่วยควรอาบน้ำ สระผม ตัดเล็บให้สั้นในคืนก่อนวันผ่าตัด
- งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนในคืนก่อนวันผ่าตัด
- พักผ่อนให้เต็มที่ในคืนก่อนวันผ่าตัดอาจจะได้รับยาเพื่อช่วยคลายความวิตกกังวลและได้พักผ่อน
- ขณะทำการผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด เพราะแพทย์จะใช้ยาระงับความรู้สึกช่วงท่อนล่างของร่างกายโดยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง
ปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดริดสีดวงทวาร
- หลังผ่าตัดใหม่ๆ จะรู้สึกชาที่ขา ก้น และสะโพก เนื่องจากฤทธิ์ยาชายังตกค้างอยู่
- ท่านอนหลังผ่าตัด ควรนอนในท่าตะแคงข้างใดข้างหนึ่งเพื่อลดการกดทับและบรรเทาอาการปวดแผล ในรายที่ฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังควรนอนราบอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากยาชาเฉพาะที่
- สามารถเริ่มรับประทานอาหารได้ตามปกติ
- การนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น จะเริ่มในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด โดยใช้น้ำอุ่นใส่ในอ่างที่มีขนาดของปากอ่างพอดีกับก้นเพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดกดทับกับก้นอ่างและแผลได้สัมผัสกับน้ำได้เต็มที่
- หากมีอาการปวดหลังผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบ
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. จักรกฤษ อุ้ยนิรันดรกุล แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ทั่วไป
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป