Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

บริจาคโลหิต ต่อชีวิตให้คนมากมาย

22 ส.ค. 2566


   “การบริจาคโลหิต” หรือ “บริจาคเลือด” คือ การนำโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็น เพื่อนำไปแบ่งปันให้กับผู้ป่วยที่ต้องการโลหิตเพื่อการรักษา ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโลหิต เพราะร่างกายของแต่ละคนมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ แต่ร่างกายจะใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ โดยสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน เมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายกลับมามีเท่าเดิม หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุ ในการบริจาคโลหิตเจ้าหน้าที่จะเลือกเจาะโลหิตที่เส้นโลหิตดำบริเวณแขน แล้วเก็บโลหิตบรรจุในถุงพลาสติก (Blood Bag) ประมาณ 350 - 450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค 

โลหิต 1 ถุง นำไปช่วยผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง ? 

   การจัดหาโลหิตบริจาคให้เพียงพอและปลอดภัยต่อทั้งผู้ให้และผู้รับ จากผู้มีจิตศรัทธาที่มีสุขภาพดี แบ่งเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยการรับโลหิตต่อเนื่องตลอดชีวิตกว่าร้อยละ 23 และอีกร้อยละ 77 สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุเพื่อใช้ในการผ่าตัด ซึ่งมักจะเป็นการใช้โลหิตในปริมาณมากและเร่งด่วน รวมถึงโรคนานาชนิด อีกประการหนึ่ง คือ ในบางช่วงอาจเกิดโรคระบาดที่ต้องการใช้โลหิต เช่น โรคไข้เลือดออก ทำให้ปริมาณการใช้โลหิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

   การบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง จะถูกนำไปปั่นแยกเป็น 3 ส่วนประกอบ ช่วยชีวิตได้มากกว่า 3 ชีวิต และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตได้อีกมากมาย เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้ ดังนี้ 

  • เม็ดโลหิตแดง (Packed Red Cells) มีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย ใช้รักษาผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตจากการอุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดจากการคลอดบุตร ผู้ป่วยที่มีภาวะซีด หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเม็ดโลหิตแดง เช่น ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
  • พลาสมา (Plasma)  มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลือง ประกอบไปด้วยโปรตีนต่างๆ ได้แก่ อัลบูมิน โกลบูลิน อิมมูโนโกลบูลิน ปัจจัยการแข็งตัวของโลหิต เป็นต้น ใช้รักษาผู้ป่วยที่ขาดโปรตีน ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากการขาดน้ำ ผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • เกล็ดโลหิต (Platelet) มีหน้าที่ช่วยทำให้โลหิตแข็งตัว และช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นโลหิต ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาโลหิตออกไม่หยุดจากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด

คุณสมบัติสำหรับผู้ที่สามารถบริจาคโลหิตได้ และไม่แนะนำให้บริจาคโลหิต มีดังนี้ 
สามารถบริจาคโลหิตได้ 

  • ผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 17 – 70 ปี
    • กรณีการบริจาคโลหิตครั้งแรกต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
    • กรณีที่อายุ 17 ปี ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองด้วย
  • น้ำหนักร่างกายต้องมากกว่า 50 กิโลกรัม
  • ในวันที่บริจาคมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดี ไม่เป็นไข้ ไม่เป็นหวัด ไม่มีอาการท้องเสีย หรือาการผิดปกติใด ๆ

ไม่แนะนำให้บริจาคโลหิต 

  • คุณผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน
  • กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ห้ามบริจาค ส่วนคุณผู้หญิงที่เพิ่งคลอด (ไม่ได้ให้นมบุตร) หรือเพิ่งแท้งลูก ต้องเว้นระยะอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะสามารถบริจาคได้
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น มีคู่นอนหลายคน เปลี่ยนคู่นอนบ่อยและไม่ได้มีการป้องกัน หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • มีประวัติการใช้ยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษในระยะเวลา 3 ปี ก่อนบริจาคโลหิต
  • เพิ่งได้รับการผ่าตัด ในระยะเวลา 6 เดือนก่อนการบริจาคโลหิต
  • ผู้ที่เพิ่งสัก หรือเจาะร่างกาย ภายในระยะเวลา 4 เดือน ก่อนการบริจาคโลหิต
  • ผู้ที่เข้าไปในเขตชุมชนที่มีการระบาดของมาลาเรีย ภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนการบริจาคโลหิต
  • ผู้ที่เป็นโรคโควิด โรคไข้หวัด ไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา ภายในระยะเวลา 1 เดือน ก่อนการบริจาคโลหิต
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง (หรือตามดุลยิพินิจของแพทย์ผู้รักษา/รับบริจาคโลหิต)
    • โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ต้องให้ไขมันในเลือดปกติ และต้องไม่มีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ถึงจะบริจาคได้
    • โรคเบาหวาน ที่ต้องฉีดอินซูลิน ส่วนผู้ที่ไม่ต้องฉีดอินซูลิน ไม่มีโรคแทรกซ้อน และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติได้ ก็สามารถบริจาคได้
    • โรคมะเร็งทุกชนิด ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
    • โรคหอบหืด ชนิดรุนแรง เป็นบ่อย มีอาการแทรกซ้อน ไม่สามารถบริจาคได้ ส่วนผู้ป่วยหอบหื่นไม่รุนแรง ควบคุมได้ แพทย์อาจพิจารณาให้บริจาคได้
    • โรคตับอักเสบชนิดเอ เมื่อรักษาหายแล้วสามารถบริจาคได้ ส่วนชนิดอื่นๆ งดบริจาคเลือดถาวร
    • ไทรอยด์เป็นพิษ หรือผู้ที่เป็นไทรอยด์ที่ระดับฮอร์โมนผิดปกติ และยังมีอาการผิดปกติอยู่ เช่น น้ำหนักลด กินจุ เหนื่อย ใจสั่น ฯลฯ งดบริจาคเลือด ส่วนผู้ที่ควบคุมฮอร์โมนได้และไม่ผิดปกติ สามารถบริจาคได้
    • ผู้ที่เป็นลมชัก ภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนการบริจาคเลือด
    • ผู้ที่เป็นวัณโรคที่ได้รับยาเม็ดสุดท้าย เกิน 2 ปีแล้ว สามารถบริจาคได้
    • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเกิน ค่าบน 160 และค่าล่างสูงเกิน 100 (160/100) และมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ เกิน 100 ครั้งต่อนาที
    • ผู้ที่เพิ่งถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และรักษารากฟัน ต้องเว้นระยะอย่างน้อย 3 วัน ก่อนบริจาคเลือด
    • รับประทานยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบหรือยาแก้ปวดต่างๆ ต้องเว้นระยะ 1 สัปดาห์ถึงจะบริจาคได้ 

* ในขั้นตอนของการคัดกรองผู้บริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตต้องตอบคำถามด้วยความจริง เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งผู้ป่วย และผู้บริจาคโลหิตเอง 

สำหรับผู้ที่ผ่านเกณฑ์ข้างต้น ควรเตรียมตัวอย่างไร 
ก่อนบริจาคโลหิต 

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในเวลานอนปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคโลหิต
  • สุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะใดๆ เช่น ยาแก้อักเสบ ต้องหยุดยาแล้วอย่างน้อย 7 วัน
  • รับประทานอาหารประจำมื้อก่อนมาบริจาคโลหิต ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง ภายใน 6 ชั่วโมง ได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู เพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้
  • การดื่มน้ำก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไปในการบริจาค จะทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวะการเป็นลมจากการบริจาคโลหิตได้
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

ขณะบริจาคโลหิต 

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
  • เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
  • ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต
  • ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการ ผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที
  • หลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อยนอนพักบนเตียง 5 - 10 นาที ก่อนลุกจากเตียง อาจทำให้เวียนศีรษะเป็นลมได้ ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี จึงลุกไปดื่มน้ำ และรับประทานอาหารว่างที่จัดไว้รับรอง

หลังบริจาคโลหิต 

  • พักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เจ้าหน้าที่จัดไว้บริการ และนั่งพักอย่างน้อย 15 นาทีให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน 
  • ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที
  • หลีกเลี่ยงการขึ้นลงลิฟท์ บันไดเลื่อน อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้
  • หากมีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อซ กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล
  • หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ ไม่ใช้กำลังแขนที่เจาะบริจาค เช่น ยกของหนักเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังการบริจาคโลหิต 
  • ควรพักผ่อนและหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาทิ การเดินซื้อของ อยู่ในบริเวณที่แออัดหรืออากาศร้อนอบอ้าว เป็นต้น
  • ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน
  • หลังจากบริจาคโลหิต ให้รับประทานอาหารตามปกติ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยโลหิตที่บริจาค
  • รับประทานธาตุเหล็กวันละ 1 เม็ด จนหมด ชดเชยเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต และป้องกันการขาดธาตุเหล็ก เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ
  • การรับประทานธาตุเหล็กบำรุงโลหิต พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง หรือน้ำมะเขือเทศจะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี ยกเว้นชาเขียว เพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก 

   การบริจาคโลหิตสามารถต่อชีวิตให้กับผู้คนได้มากมายและยังไม่มีสิ่งใดทดแทนได้ มีผู้ที่ต้องการโลหิตในทุกวินาที การบริจาคโลหิต 1 ถุง ช่วยผู้ป่วยได้อย่างน้อย 3 ชีวิต เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และส่งผลดีต่อสุขภาพไปพร้อมๆ กัน 

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สัมพันธุ์ ธนกิจจำรูญ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ตรวจสุขภาพและวัคซีน
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพและวัคซีน

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.