Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดความเสี่ยง “ภาวะไขมันพอกตับ”

1 ก.ย. 2566


   ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) หรือ ภาวะไขมันเกาะตับ เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่รับประทานไปใช้ได้หมด จึงสะสมเป็นไขมันในเซลล์ตับ หากไม่รักษาอาจส่งผลให้กลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในอายุ 40-50 ปีขึ้นไปที่ประสิทธิภาพการทำงานของระบบการเผาผลาญอาหารเริ่มลดลง

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ

  1. จากการเผาผลาญพลังงานที่ผิดปกติ (Metabolic Syndrome)
    • รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ เช่น แป้ง น้ำตาล ไขมัน
    • มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมากเกินไป ดัชนีมวลกายมากกว่า 25 (BMI > 25)
    • ไม่ออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายน้อย
    • เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
  2. จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ ประเภท และระยะเวลาที่ดื่ม เรียกว่า Alcoholic fatty liver

ไขมันพอกตับบ้างอาจเสี่ยงกับใครบ้าง

  • คนอ้วน ผู้ชายรอบเอวเกิน 40 นิ้ว / ผู้หญิง รอบเอวเกิน 35 นิ้ว
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ผู้ที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ผู้ที่มีไขมันดี หรือ HDL ต่ำ ผู้ชาย น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้หญิง น้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่ออกกำลังกายน้อย

อาการของไขมันพอกตับ

   ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ จนกว่าเกิดภาวะตับแข็งในระยะท้าย ซึ่งมีอาการตาเหลือง ท้องโต ขาบวม พร้อมด้วยอาการปวดท้องที่เกิดจากมะเร็งตับ

การวินิจฉัยโรค

อาจใช้การตรวจและข้อมูลดังต่อไปนี้ช่วยกันในการวินิจฉัย

  1. ประเมินจากประวัติสุขภาพ และการตรวจเลือดดูค่าเอนไซม์ตับ
  2. การตรวจอัลตร้าซาวด์
  3. การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  4. การเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ
  5. การตรวจระดับความแข็งของตับและวัดปริมาณไขมันในตับด้วยเครื่อง Fibro Scan

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดความเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับ

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เช่น อาหารที่มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
  • หากเป็นเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดีด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

   โรคที่เกิดขึ้นกับตับที่พบบ่อยอย่างโรคตับแข็ง ซึ่งมีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเกิดจากการมี “ไขมันพอกตับ” ทำให้เกิดพังผืดสะสม หรือเกิดจากภาวะพิษสุราเรื้อรัง เชื้อไวรัส และการได้รับสารพิษต่างๆ สะสมในร่างกาย ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการที่ชัดเจนจึงไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือเกิดโรคแล้ว แนะนำทุกท่านให้ไปพบแพทย์ และทำการตรวจสุขภาพตับเป็นประจำ ก่อนที่จะมีอาการลุกลามหรือเป็นหนักจนรักษาให้หายได้ยาก

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.พรพรรณ เทียนชนะไชยา แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.