ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็ก
มะเร็งปากมดลูก
เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตสตรีมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งเต้านม สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า HPV (Human Papilloma Virus) เป็นไวรัสที่พบบ่อย ในกลุ่มสตรีวัยรุ่นและติดต่อได้ง่ายโดยทางเพศสัมพันธ์ กล่าวคือประมาน 50 – 80% ของสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วซึ่งเคยติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่เชื้อไวรัสนั้นหายไปเองจากร่างกาย แต่จะมีไวรัสบางตัวที่ฝังแน่นที่ปากมดลูกเป็นเวลานาน ประมาณ 6 – 16 ปี จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ปากมดลูก จนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
การติดเชื้อไวรัส HPV สามารถติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก จะเพิ่มความเสี่ยงในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย, เปลี่ยนคู่นอนบ่อย, เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือสามีที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น สิ่งสำคัญ คือ ผู้หญิงหรือผู้ชายที่ติดเชื้อไวรัส HPV จะไม่มีอาการที่แสดงออก และถุงยางที่ใช้อาจจะป้องกันไม่ได้ 100 %
การป้องกันแต่แรกเริ่มควรเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก ด้วยการฉีดวัคซีน
วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สามารถป้องกันโรคได้ประมาน 70 – 80% ซึ่งเริ่มฉีดได้ทั้งเด็กหญิงและชายหรือก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ โดยอยู่ในความดูแลจากแพทย์ โดยแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม โดยห่างกัน 6 เดือน ในกรณีที่เด็กอายุมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป จำเป็นต้องฉีด 3 เข็ม เหมือนกับผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิได้เต็มที่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV
โดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก แนะนำให้ฉีดตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป จะได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเด็กยังไม่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้เด็กยังสามารถตอบสนองและสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าผู้ใหญ่ แต่จากการวิจัยสามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ การฉีดวัคซีนจะช่วยสร้างภูมิต้านทานไวรัสได้ 2 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นไวรัสที่พบบ่อยและเป็นสายพันธุ์สำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 นอกจากนี้ วัคซีนป้องกัน HPV ชนิด 4 สายพันธ์ ยังสามารถสร้างภูมิป้องกันหูดหงอนไก่ได้ถึง 90% อีก แต่อย่างไรก็ดีในรายที่ฉีดวัคซีนจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ
นพ.นพดล จันทรเทพเทวัญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล โทรศัพท์ 1745