Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ผู้ปกครองควรรู้ ! วัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย

17 ต.ค. 2566


ผู้ปกครองควรรู้
! วัคซีนที่จำเป็นสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย

  เด็กไทยทุกคนควรได้รับวัคซีนพื้นฐาน โดยเน้นวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ วัคซีนสำหรับเด็กในปัจจุบันมี 2 ชนิด ชนิดแรกคือวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยควรได้รับตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ชนิดที่สองคือวัคซีนเสริม หรือวัคซีนที่อยู่นอกเหนือแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข

วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก คืออะไร

  วัคซีนขั้นพื้นฐาน คือวัคซีนจำเป็นที่เด็กทุกคนควรจะได้รับตามคำแนะนำของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2561 ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดไว้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กไทยในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

  • วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) ควรฉีดตั้งแต่แรกเกิดและ 1 เดือน 6 เดือน ตามลำดับ
  • วัคซีนวัณโรค (BCG) จะฉีดเมื่อแรกคลอด ส่วนมากฉีดที่โรงพยาบาลก่อนกลับบ้านบริเวณที่ไหล่ซ้ายหรือสะโพก
  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DPT) ควรฉีดตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4 และ 6 เดือน และฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน, 4-6 ปี และ 11-12 ปี (ฉีดเฉพาะบาดทะยัก-คอตีบ)
  • วัคซีนโปลิโอ มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดกิน และชนิดฉีดควรให้ตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 2 ปี ครึ่งตามลำดับ
  • วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) / วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) ควรฉีดตามช่วงอายุคือ 1 ปี และ 2 ปี 6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดในเด็กปีละครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 9 ปี สำหรับเด็กในปีแรกฉีด 2 เข็ม และห่างกัน 4 สัปดาห์
  • วัคซีนเอชพีวี (HPV) เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถป้องกันได้ร้อยละ 70-90 ชนิด 2 สายพันธุ์เฉพาะเด็กผู้หญิงเท่านั้น ชนิด 4 สายพันธุ์ และ 9 สายพันธุ์ จะเพิ่มป้องกันหูดอวัยวะเพศได้ด้วย ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ช่วงวัยที่เหมาะสมที่แนะนำคือ 9 ปีขึ้นไป
 

ตารางการรับวัคซีนพื้นฐาน มีอะไรบ้าง

กำหนดการให้วัคซีนในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 12 ปี ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566

อายุ

วัคซีนที่ต้องได้รับ

คำแนะนำ

แรกเกิด

 วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB1)

 ควรให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด

 

 วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG)

 ฉีดให้เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล

1 เดือน

 วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีครั้งที่ 2 (HB2)

 เฉพาะรายที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาหะ

 ของไวรัสตับอักเสบบี

2 เดือน

 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยักไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ ครั้งที่ 1 (DTP-HB-   Hib1)

 ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งที่ 1 ในเด็กที่อายุ

 มากกว่า 15 สัปดาห์

 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน หรือชนิดฉีด ครั้งที่ 1 (OPV / IPV1)

 วัคซีนโรต้าครั้งที่ 1 (Rota1)

4 เดือน

 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยักไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ ครั้งที่ 2 (DTP-HB-   Hib2)

 - ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด 1 เข็ม

 พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน 1 ครั้ง

 - ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กที่อายุมากกว่า 32 สัปดาห์

 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทานหรือฉีด

 ครั้งที่ 2 (OPV / IPV2)

 วัคซีนโรต้าครั้งที่ 2 (Rota2)

6 เดือน

 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยักไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ ครั้งที่ 3 (DTP-HB-   Hib3)

 - ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กที่อายุมากกว่า 32 สัปดาห์

 - ให้ยกเว้นการได้รับวัคซีนโรต้าครั้งที่ 3 ใน

 เด็กที่ได้รับวัคซีน Rotarix มาแล้ว 2 ครั้ง

 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทานหรือฉีด ครั้งที่ 3 (OPV / IPV3)

 วัคซีนโรต้าครั้งที่ 3 (Rota3)

9-12 เดือน

 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมันครั้งที่ 1 (MMR1)

 

1 ปี

 วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ครั้งที่ 1 (LAJE1)

 

1 ปี 6 เดือน

 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนครั้งที่ 4 (DTP4)

 

 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทานครั้งที่ 4 (OPV4)

 

 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมันครั้งที่ 2 (MMR2)

 

2 ปี 6 เดือน

 วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ครั้งที่ 2 (LAJE2)

 

4 ปี

 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนครั้งที่ 5 (DTP5)

 

 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทานครั้งที่ 5 (OPV5)

 

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ประมาณ 7 ปี)

 วัคซีนรวมป้องกันโรค

 หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR)

 เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์

 วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (HB)

 เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์

 วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (LAJE)

 เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์

 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV)

 เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์

 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT)

 เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์

 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ชนิดรับประทาน (OPV)

 เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์

 วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG)

 - ให้ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานว่าเคยได้รับ

 เมื่อแรกเกิดและไม่มีแผลเป็น

 - ไม่ให้ในเด็กติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการของ

 โรคเอดส์

นักเรียนหญิง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ประมาณ 11 ปี)

 วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวีครั้งที่ 1 (HPV1)

 -ระยะห่างระหว่างเข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน

 -กรณีเด็กหญิงไทยที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา

 ให้ฉีดที่อายุ 11-12 ปี

 วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

 จากเชื้อเอชพีวีครั้งที่ 2 (HPV2)

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
(ประมาณ 12 ปี)

 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT)

 

 

วัคซีนเสริมสำหรับเด็ก คืออะไร

   การรับวัคซีนเสริมหรือวัคซีนทางเลือกเพิ่มภูมิต้านทานโรคอื่นๆ ก็จำเป็นเช่นเดียวกัน จะช่วยเสริมให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น วัคซีนเสริมจึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรค ข้อดีของวัคซีนเสริมคือมีวัคซีนชนิดรวมฉีดเข็มเดียวแทนการแยกฉีดหลายเข็ม คุณผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อยๆ โดยวัคซีนเสริมที่แนะนำจะมีดังนี้
  • วัคซีนโรต้า วัคซีนเสริมป้องกันโรคอุจาระร่วง เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งทำให้เกิดอาการ มีไข้ ท้องเสีย อาเจียน และอาจมีอาการรุนแรงจนร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี โดยไวรัสโรต้าเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียที่สำคัญของเด็กเล็กในประเทศไทย ปัจจุบันวัคซีโรต้าอยู่ในรูปแบบรับประทาน มี 2 ชนิดตามสายพันธุ์ที่ใช้ในการผลิตวัคซีน คือ Monovalent (Human) 2 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2 และ 4 เดือน และชนิด Pentavalent (Bovine- Human) 3 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2,4,6 เดือน แนะนำให้วัคซีนในเด็กอายุ 2, 4, และ 6 เดือน หรือ 2, 4 เดือน แล้วแต่ชนิดของวัคซีนที่เลือกใช้
  • วัคซีนนิวโมคอคคัส (IPD) เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส หรือ Pneumoniae ซึ่งก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในเด็กเล็กโดยพบมาก นอกจากนั้นยังเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงได้ วัคซีนนิวโมคอคคัสที่ใช้กันในปัจจุบันสำหรับเด็กเล็กมี 2 ชนิด แตกต่างกันตามจำนวนสายพันธุ์ของเชื้อ โดยแนะนำให้ฉีดในเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ถึง 5 ปี โดยฉีดทั้งหมด 1-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอายุที่เริ่มฉีด ชนิด PCV ฉีดช่วงอายุ 2 ,4 ,6 เดือน และฉีดกระตุ้นช่วง 12-15 เดือน หากเป็นชนิด PS23 ฉีดช่วงอายุ 2 ปีขึ้นไป
  • วัคซีนฮิบ (Haemophilusinfluenzae type b) โรคฮิบ จะพบบ่อยมากในเด็กอายุ 2 เดือนถึง 5 ปี ทำให้เกิดโรคที่สำคัญหลายอย่าง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคปอดอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคไซนัสและโรคหูชั้นกลางอักเสบ ควรฉีดวัคซีนฮิบตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4 และ 6 เดือน และฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุทั้งหมด 2 เข็ม เข็มแรกได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป หากยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส แนะนำให้ฉีดครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี หากอายุเกิน 13 ปี ควรฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 4-8 สัปดาห์ เด็กที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว ยังมีโอกาสเป็นสุกใสแต่อาจเพียงเล็กน้อย
  • วัคซีนตับอักเสบสายพันธุ์เอ ป้องกันการเกิดดีซ่าน ตัวเหลืองตาเหลืองจากเชื้อไวรัสตับอักเสบสายพันธุ์เอ ฉีดช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไป ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน และเข็มที่ 2 ห่างกัน 6- 12 เดือน
  • วัคซีนไข้เลือดออก live-attenuated recombinant dengue2-dengue (Qdenga) สามารถป้องกันต่อเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ถึง 4 สายพันธุ์ ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 80.2% ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล 90.4% ฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 4 - 60 ปี เข้าใต้ผิวหนัง 2 เข็ม เว้นห่างกัน 3 เดือน ทั้งนี้ สามารถฉีดได้ทั้งในผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนได้โดยไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนการฉีดวัคซีน
  • วัคซีนเสริมไข้หวัดใหญ่ เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ฉีดปีละ 1 ครั้ง เมื่อเริ่ม เข้าสู่หน้าฝน หรือเริ่มเข้าสู่หน้าหนาว เด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ที่ได้รับวัคซีนเป็นครั้งแรก ให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1-2 เดือน วัคซีนป้องกันโรคได้ประมาณร้อยละ 60-70
  • วัคซีนเสริมไวรัสฮิวแมนแปปิลโลมา ป้องกันการติดเชื้อโรคร้ายทางปากมดลูก ที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายทางปากมดลูกได้ร้อยละ 70-90 ชนิด 2 สายพันธุ์ใช้กับผู้หญิงเท่านั้นชนิด 4 สายพันธุ์จะเพิ่มป้องกันหูดอวัยวะเพศได้ด้วย ใช้ได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แนะนำ ทั่วไปในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป

   แนะนำให้รับวัคซีนเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ลูกน้อยเพราะระบบภูมิต้านทานของทารกแรกเกิดยังไม่แข็งแรง ทำให้ติดโรคต่างๆและเจ็บป่วยได้ง่าย ทั้งนี้ "วัคซีน" สามารถช่วยสร้างภูมิต้านทานและปกป้องลูกจากการเจ็บป่วยต่างๆที่ร้ายแรงได้

 การปฏิบัติตัวสำหรับการรับวัคซีน

  • ควรนำสมุดบันทึกวัคซีนมาด้วยทุกครั้ง
  • ไม่ควรรับวัคซีนขณะที่มีไข้สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ยกเว้นเป็นหวัด ท้องเสียโดยไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้
  • หลังรับวัคซีนควรอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อดูปฏิกิริยาแพ้ยาหรือส่วนประกอบของวัคซีน
  • หากเคยฉีดยาแล้วมีอาการแพ้ยา แพ้อาหาร เช่น มีอาการแพ้ไข่แบบรุนแรง กรุณาแจ้งกุมารแพทย์หรือพยาบาล

  การสร้างเกราะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้ลูกน้อยด้วยการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะวัคซีนจะทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทาน และปกป้องลูกน้อยของคุณจากการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด ผู้ปกครองสามารถทราบได้จากกุมารแพทย์ว่าลูกควรได้รับวัคซีนพื้นฐานหรือวัคซีนจำเป็นเมื่อใดชนิดใดบ้าง ปัจจุบันวัคซีนสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดมีเพิ่มมากขึ้น ป้องกันโรคได้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ มีสุขภาพที่แข็งแรงยิ่งๆ ขึ้นไป

เอกสารอ้างอิง

  • นพ.สุลักษณ์ อิศราดิสัยกุล และผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนสิริ. (2566). วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย.
  • กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข. (2566). กำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข.
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต). (2566). วัคซีนพื้นฐาน (EPI), Guru Vaccine.

 
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สุรัตน์ ตั้งชัยสิน แพทย์เฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์กุมารเวชกรรม

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.