Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง ทางเลือกการผ่าตัดที่เข้าใจคุณผู้หญิง

18 ม.ค. 2567


  การผ่าตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดในสตรีที่พบมากเป็นอันดับแรก รองจากการผ่าตัดคลอด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษามักเกิดจากสาเหตุเนื้องอกมดลูกที่ในบางกรณีมีอาการเลือดประจำเดือนออกมาก ปวดท้องน้อย ซีด ปัสสาวะบ่อย อีกทั้งในกรณีเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งจะมีอาการคล้ายเนื้องอกมดลูก ทั้งหมดนี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมากส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายตัดสินใจผ่าตัดมดลูก  บางรายจะมีการผ่าตัดนำเอารังไข่ออกด้วย ซึ่งในผู้ที่ยังไม่หมดประจำเดือน จะส่งผลให้ผู้ป่วยหมดประจำเดือนทันทีและขาดฮอร์โมนเพศหญิงร่วมด้วย ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับฮอร์โมนเสริมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

  การผ่าตัดผ่านกล้อง เทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยแพทย์จะใช้วิธีการเจาะช่องที่ผนังหน้าท้อง ส่วนมากเจาะตรงบริเวณสะดือให้เป็นช่องกว้างเพียง 0.5 - 1 เซนติเมตร เพื่อสอดกล้องขยายเข้าไปในช่องท้อง โดยกล้องจะทำหน้าที่นำภาพอวัยวะภายในช่องท้องถ่ายทอดออกมาให้เห็นทางจอโทรทัศน์ จากนั้นแพทย์จะเจาะช่องที่ผนังหน้าท้องขนาดช่องละ 0.5 - 1 เซนติเมตร อีก 2 - 3 ช่อง เพื่อสอดใส่เครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษเข้าไปในช่องท้อง จากนั้นทำการผ่าตัด และนำมดลูกที่ผิดปกติออกมาผ่านช่องที่ผนังหน้าท้อง

การผ่าตัดมดลูก ใช้รักษาโรคใดได้บ้าง?

การผ่าตัดมดลูก จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่เกิดความเจ็บปวดเรื้อรังบริเวณอุ้งเชิงกรานที่เป็นผลมาจากการเจ็บป่วยต่อไปนี้

  1. เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เป็นก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นและเจริญเติบโตภายในมดลูก ซึ่งอาจทำให้มีประจำเดือนมามากผิดปกติ
  2. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปฝังตัวในกล้ามเนื้อของผนังมดลูก
  3. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สร้างความเจ็บปวดเมื่อมีประจำเดือน
  4. ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
  5. ภาวะเนื้อเยื่อปากมดลูกเจริญเติบโตผิดปกติ ซึ่งเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก
  6. ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว (Endometrial hyperplasia)
  7. มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งรังไข่
  8. ภาวะมดลูกหย่อน (Prolapsed uterus and relate conditions) และ/หรือ อุ้งเชิงกรานหย่อน
  9. ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ได้ โดยจะผ่าตัดรักษาต่อเมื่อผ่านการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
  10. การผ่าตัดมดลูกฉุกเฉินหลังการทำคลอดแล้วมีภาวะเลือดออกที่ไม่สามารถควบคุมได้

วิธีการผ่าตัดมดลูก

1. ผ่าตัดมดลูกเปิดหน้าท้อง
เป็นวิธีการดั้งเดิม โดยทั่วไปถือว่าเป็นวิธีมาตรฐานในการผ่าตัด
ข้อดี : แพทย์สามารถเปิดได้เป็นแผลยาวและสามารถขยายแผลได้ ทำให้มองเห็นอวัยวะภายในของคนไข้ได้ชัดเจน ใช้แพทย์ในการผ่าตัดได้หลายคน จึงมีความรวดเร็วในการผ่าตัด
ข้อเสีย : เพราะแผลมีขนาดใหญ่มาก คนไข้จึงรู้สึกเจ็บแผลมาก และมีโอกาสในการติดเชื้อและแผลแยกได้ง่าย
2. ผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องทางหน้าท้อง
โดยแพทย์จะเจาะรูประมาณ 3 - 4 แผล ขนาดประมาณ 3 - 10 มิลลิเมตร
ข้อดี : คนไข้รู้สึกเจ็บแผลน้อยกว่า มีการเสียเลือดน้อยกว่า และฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
ข้อเสีย : หลังผ่าตัดอาจจะเกิดรอยแผลเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง
3. ผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องทางสะดือ

อาจเรียกว่าเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเดี่ยว โดยแพทย์จะใช้เทคนิคการซ่อนแผลในสะดือ
ข้อดี : ขนาดแผลจากการผ่าตัดจะเล็กมาก ประมาณ 1.5 - 2 มิลลิเมตร โดยเมื่อแผลหายดีแล้วจะไม่เห็นรอยแผล
ข้อเสีย : เนื่องจากตำแหน่งในการผ่าตัดแคบ ทำให้ไม่เหมาะกับเคสคนไข้ที่ต้องใช้ความละเอียดสูง

4. ผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องทางช่องคลอด

โดยแพทย์จะสอดกล้องผ่านทางช่องคลอด ทำให้การผ่าตัดวิธีนี้ไม่มีแผลให้เห็นเลย
ข้อดี : การผ่าตัดนี้ไม่เพียงไร้แผล แต่คนไข้ยังฟื้นตัวเร็ว สามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วัน และไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ อาจมีเพียงอาการหน่วงๆ เท่านั้น
ข้อเสีย : เนื่องจากเป็นการสอดกล้องจากมุมข้างล่างซึ่งมีความแคบ ทำให้การมองเห็นอวัยวะข้างบนไม่ชัดเจน แพทย์ที่ทำการผ่าตัดจึงต้องมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก

5. การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด

เป็นการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดมักผ่าตัดในกรณีผู้ป่วยมีมดลูกหย่อน หรือกระบังลมหย่อนร่วมด้วย
ข้อดี : ผู้ป่วยไม่มีบาดแผลบริเวณหน้าท้อง
ข้อเสีย : เหมาะสำหรับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

ข้อจำกัดในการผ่าตัดผ่านกล้อง

  • พิจารณาว่าคนไข้มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการผ่าตัดหรือไม่ เช่น โรคหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคปอด
  • พิจารณาจากโรคทางนรีเวชของคนไข้ เช่น ขนาดของก้อนเมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์ไม่เกิน 16 สัปดาห์ เพราะก้อนที่ใหญ่จะยิ่งเพิ่มเวลาในการผ่าตัดให้นานขึ้น ส่งผลให้ภาวะที่จะเกิดฟองอากาศอุดตันหลอดเลือดมีมากขึ้น
  • พิจารณาจากโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งว่ามีหรือไม่ เพราะหากคนไข้มีเชื้อเซลล์มะเร็งอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้ ควรเลือกการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องอย่างไรก็ตามหากมีการประเมินและเลือกผู้ป่วยอย่างเหมาะสมก็สามารถผ่าตัดแบบผ่านกล้องได้
การตัดมดลูกทิ้ง ไม่เพียงใส่ใจความปลอดภัยทางกาย แต่แพทย์ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพทางใจของคนไข้ การอธิบายถึงตัวโรคและวิธีการผ่าตัดที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้คนไข้อุ่นใจและคลายกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัดมดลูกได้
หลังการผ่าตัดมดลูก ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการตรวจและติดตามประเมินผลการรักษาเป็นระยะๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุผลของการผ่าตัดและโรคของผู้ป่วยนั้นเอง
   
   โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพหลากหลายสาขาที่พร้อมในการดูแล มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคยาก และมีอาการซับซ้อน เพื่อให้การรักษาและการช่วยชีวิตผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติและมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : นาวาเอก นพ.วิศรุฒณ์ เชิดชูไทย แพทย์เฉพาะทางการใช้กล้องเพื่อส่องตรวจและรักษาทางนรีเวช
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์สตรี  โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์สตรี


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.