การผ่าฝีคัณฑสูตร โดยไม่ต้องตัดหูรูด
“ฝีคัณฑสูตร” คือฝีที่ขอบทวาร เกิดขึ้นจากการติดเชื้อของต่อมขอบทวาร (Anal gland) ซึ่งคนเราจะมีต่อมขอบทวารประมาณ 5 - 10 ต่อม แต่บางคนต่อมจะอยู่ลึกและใหญ่กว่าปกติ และอาจเกิดการอักเสบได้
อาการแบบไหน...บ่งบอกความเสี่ยง
- มีอาการบวมและเจ็บปวดบริเวณรอบๆ ทวารหนักตลอดเวลา
- แม้ช่วงที่ไม่ได้ขับถ่ายก็รู้สึกปวด อาจสันนิษฐานได้ว่ามีฝีคัณฑสูตรอยู่ภายในทวารหนัก
- ผู้ป่วยมักปวดมากขึ้นขณะถ่าย บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย หรือมีน้ำเหลืองซึมออกมา
ใครบ้าง...เสี่ยงโรคฝีคัณฑสูตร
- โรคนี้พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่พบบ่อยในเพศชายประมาณ 4 เท่า
- ส่วนใหญ่พบในคนอายุน้อย เนื่องจากต่อมผลิตเมือกของผู้สูงอายุจะฝ่อไปตามวัย
รักษาอย่างไรให้ห่างไกลโรคฝีคัณฑสูตร
หากมีอาการควรพบแพทย์ เพื่อประเมินการรักษา และรักษาโดยทำการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี แต่วิธีที่นิยม มี 4 วิธี
- ผ่าตัดแบบดั้งเดิม และเย็บขอบแผล (Fitulotomy and marsupialised wound edges)
- ผ่าตัด โดยไม่ต้องตัดหูรูด เทคนิค LIFT (Ligation of intersphincteric fistula tract) เนื่องจากฝีคัณฑสูตรเป็นเส้นที่แทรกไปตามกล้ามเนื้อหูรูด เพราะฉะนั้นการผ่าตัดวิธีดั้งเดิม ทำให้แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดหูรูดด้วย ซึ่งปัจจุบันแพทย์ได้พัฒนาวิธีการผ่าตัด สามารถผ่าตัดฝีคัณฑสูตร โดยไม่ต้องตัดหูรูดออก ผลการผ่าตัด ผู้ป่วยหายขาด 70 - 90% ส่วนน้อยประมาณ 10% อาจต้องผ่าตัดซ้ำ แต่ในที่สุด ฝีคัณฑสูตรจะรักษาหายทุกคน
- ผ่าตัดโดยการตัดหูรูด และเย็บซ่อมหูรูดในครั้งเดียวกัน (FIPS) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
- ผ่าตัดเปิดระบายฝีหนองที่อยู่ภายในทวารหนัก (IAF) เป็นวิธีผ่าตัดฝีที่อยู่สูงภายในทวารหนัก
การผ่าตัดฝีคัณฑสูตรใช้เวลานานมากน้อยเท่าไหร่
- ผู้ป่วยที่มีฝีคัณฑสูตรขนาดเล็ก ใช้เวลาในการผ่าตัด 20 นาที
- หากฝีมีขนาดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง
การดูแลหลังการผ่าตัด
ผู้ป่วยดูแลแผลผ่าตัดด้วยตนเอง ไม่ต้องมาทำแผลที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยจะล้างแผลและทวารหนักด้วยน้ำประปาวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น และหลังถ่ายอุจจาระ โดยไม่ควรนั่งแช่น้ำตามวิธีดั้งเดิม แผลผ่าตัดจะหายสนิทใน 4 - 6 สัปดาห์
สนับสนุนข้อมูลโดย : ศ.กิตติคุณ นพ.อรุณ โรจนสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745