Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ฝากครรภ์คุณแม่ดูแลลูกรัก

7 มี.ค. 2567


   การฝากครรภ์ หมายความว่า คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีสูติแพทย์ที่คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวระหว่างการตั้งครรภ์ ทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร  การออกกำลังกาย สิ่งที่พึงระวังขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งค้นหาความเสี่ยงการตั้งครรภ์ของคุณแม่ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง
   นอกจากนี้สูติแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย  ซักประวัติ เพื่อค้นหาโรคที่อาจมีผลต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ที่สำคัญคือการฝากครรภ์จะช่วยให้การตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นไปอย่างราบรื่น  และลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง การฝากครรภ์จะช่วยตรวจหาความพิการ  การคลอดก่อนกำหนด และช่วยให้ลูกน้อยคลอดออกมาสมบูรณ์แข็งแรง

การพบแพทย์ขณะตั้งครรภ์

   โดยปกติแล้วเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 28 สัปดาห์  คุณหมอจะนัดตรวจครรภ์เดือนละ 1 ครั้งและ นัดทุก 2 สัปดาห์ ขณะตั้งครรภ์ได้ 28 – 36 สัปดาห์ และนัดทุกสัปดาห์เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เดือนที่ 36 สัปดาห์ ซึ่งในการตรวจครรภ์นี้คุณหมอจะมีเครื่องมือในการตรวจที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ของคุณแม่  ได้แก่

  • การตรวจอัลตร้าซาวด์ ใช้เพื่อดูโครงสร้างร่างกาย  ความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ และเพื่อยืนยันอายุครรภ์
  • การตรวจคัดกรองอื่นๆ
    • ตรวจนับเม็ดเลือดโดยสมบูรณ์
    • ตรวจหมู่เลือด
    • ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และการตรวจหาภูมิคุ้มกัน
    • ตรวจหากามโรคชนิดซิฟิลิส
    • ตรวจหาเชื้อเอชไอวี
    • ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน
    • ตรวจปัสสาวะอย่างสมบูรณ์
    • เจาะเลือดเพื่อการตรวจคัดกรองความผิดปกติด้านจำนวนโคโมโซมของทารกในครรภ์
    • การตรวจเชื้อ GBS ในช่องคลอดของคุณแม่
    • การเจาะเลือดเพื่อหาสารเคมี
    • การตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย
    • การตรวจคัดกรองเบาหวาน
  • การเจาะน้ำคร่ำ ส่วนใหญ่แพทย์จะเลือกเจาะน้ำคร่ำในรายที่ต้องการวินิจฉัยยืนยันความผิดปกติ   โครโมโซมของทารกในครรภ์ ที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของร่างกายและอวัยวะต่างๆ

เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์

ข้อ   เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน
      ประวัติอดีต 
1.  เคยมีทารกตายในครรภ์หรือเสียชีวิตแรกเกิด (1 เดือนแรก)
2.  เคยแท้ง 3 ครั้ง ติดต่อกันหรือมากกว่าติดต่อกัน
3.  เคยคลอดบุตรน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม
4.  เคยคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม
5.  เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์หรือครรภ์เป็นพิษ
6.  เคยผ่าตัดอวัยวะภายในระบบสืบพันธ์ เช่น เนื้องอกมดลูก, ผ่าตัดปากมดลูก, ผูกปากมดลูก ฯลฯ
     ประวัติปัจจุบัน
7.  ครรภ์แฝด
8.  อายุ < 17 ปี (นับถึง วันกำหนดคลอด)
9.  อายุ > 35 ปี (นับถึง วันกำหนดคลอด)
10.  Rh Negative
11.  เลือดออกทางช่องคลอด
12.  มีก้อนในอุ้งเชิงกราน
13.  ความดันโลหิต Diastolic ≥ 90mmHg
14.  โรคเบาหวาน
15.  โรคไต
16.  โรคหัวใจ
17.  ติดยาเสพติด ติดสุรา
18.  โรคอายุรกรรมอื่นๆ เช่น โลหิตจาง ธัยรอยด์ SLE ฯลฯ 


หากมีอาการผิดปกติดังนี้  ควรรีบมาพบแพทย์

  1. มีเลือดออกทางช่องคลอด
  2. มีน้ำเดิน
  3. ปวดท้อง
  4. มีไข้
  5. เด็กดิ้นน้อยลง
  6. ปวดศีรษะ ตามัว จุกแน่นหน้าอก บวม

การนับลูกดิ้น

  1. การนับลูกดิ้น ประเมินสุขภาพทารกในครรภ์เพื่อป้องกันทารกเสียชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะแม่ที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ และใกล้หรือเลยกำหนดคลอด
  2. เริ่มสังเกตและนับความถี่ของการดิ้นของทารกในครรภ์ตั้งแต่ตั้งครรภ์ 6 เดือน เป็นต้นไป จนกระทั่งคลอด
  3. ควรสังเกตลูกดิ้นทุกวัน และจดบันทึก อย่างน้อยวันละ 3 เวลาซึ่งควรเป็นช่วงที่คุณแม่พักผ่อน และเฝ้าสังเกตลูกดิ้น
  4. การสังเกตลูกดิ้นจะทำเมื่อแม่อยู่ว่างๆ ไม่ได้ทำงาน เช่น หลังกินข้าว ก่อนนอน หรือเมื่อตื่นนอน เป็นต้น
  5. ลูกดิ้นคือเมื่อแม่รู้สึกลูกขยับเคลื่อนไปมาในท้อง ถ้ารู้สึกเพียงท้องตึงหรือลูกดึงตัวขึ้นมาไม่นับว่าลูกดิ้น
  6. หากแม่สงสัย ไม่เข้าใจ หรือทำไม่ได้ ต้องถามแพทย์หรือพยาบาลทันที
  7. เวลา 2 ชั่วโมงที่เฝ้าสังเกต แม่ควรรู้สึกลูกดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง หากไม่รู้สึกหรือรู้สึกไม่ถึง 10 ครั้ง ใน 2 ชั่วโมง ให้เว้นระยะ 2 – 3 ชม. แล้วเริ่มสังเกตใหม่ ถ้ายังน้อยกว่า 10 ครั้งใน 2 ชม. ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจลูกด้วยเครื่องมือต่อไป
  8. ถ้าลูกไม่ดิ้นใน 2 ชม. ต้องรีบพบแพทย์เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงของมารดา และทารกในครรภ์ในช่วงสัปดาห์ 

  • การเปลี่ยนแปลงของมารดาและทารกแต่ละช่วงอายุครรภ์ การตั้งครรภ์ก่อน 10 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของทารก การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

  ระยะตัวอ่อน ตั้งแต่อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ - 10 สัปดาห์

  ในระยะนี้จะมีการสร้างอวัยวะ สำคัญต่างๆ เช่น โครงสร้างกระดูกแขนขา,ระบบเส้นเลือดหัวใจ,ประสาทและสมอง

  เกือบสมบูรณ์แล้ว เมื่อส้นสุดระยะนี้ ทารกมีขนาดเกือบ 4 ซม.

 

  การตั้งครรภ์ก่อให้เกิดอาการในระยะแรก โดยมากเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ได้แก่

  1. ปัสสาวะบ่อย เนื่องจาก ปริมาณเลือดมากขึ้นมีผลทำให้ไตทำงานมากขึ้น และขยายตัวของมดลูกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
  2. เต้านมคัดจากการปรับสภาพของต่อมน้ำนมจากผลของฮอร์โมน คลื่นไส้อาเจียนหรือแพ้ท้อง

การตรวจของแพทย์
  • คุณแม่ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ในระยะนี้ ในการฝากครรภ์ แพทย์จะตรวจร่างกาย ตรวจภายใน เฉพาะรายที่จำเป็น และตรวจเลือดเพื่อฝากครรภ์
  • หากอายุครรภ์ 11 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะแนะนำเรื่องการตรวจเลือดเพื่อคัดกรอง ดาวน์ซินโดรม
  • มีการคัดกรองเบาหวานในรายที่มีความเสี่ยงสูงแต่ส่วนใหญ่จะตรวจเป็นมาตรฐาน

Tips

  1. เนื่องจากเป็นระยะสำคัญในการสร้างระบบประสาทและสมอง คุณแม่ควรรับประทาน โฟลิคให้เพียงพอ
  2. การดื่มน้ำขิงและช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้องโดยไม่ต้องพึ่งยา

 

  • การเปลี่ยนแปลงของมารดาและทารกแต่ละช่วงอายุครรภ์ การตั้งครรภ์ระยะ 12 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของทารก การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

  เมื่อสิ้นสุด 12สัปดาห์ ตัวทารกจะยาวประมาณ 6-7 ซม.
  เริ่มมีการแยกนิ้วและนิ้วเท้า,มีการสร้างผิวหนังและเล็บ ในระยะนี้ทารกจะขยับตัวได้ดี

 มดลูกจะเริ่มคลำได้เหนือหัวเหน่าเล็กน้อย ในระยะนี้มารดาจะยังอาการแพ้อยู่
 บางรายอาการจะรุนแรงจนน้ำหนักลด,ขาดน้ำมากหรือเกลือแร่ผิดปกติ


การตรวจของแพทย์
  • ในรายที่หน้าท้องบางอาจฟังเสียงหัวใจทารก โดยเครื่องฟังเสียงหัวใจทารกได้

Tips

  1. เพื่อหลีกเลี่ยงอาการคลื่นไส้อาเจียน ควรหลีกเลี่ยง อาหารมัน หรือมีกลิ่นแรง เช่น ผักชีต้นหอม หากมีอาการคลื่นไส้รับประทานอาหารไม่ได้ ให้ดื่มน้ำผลไม้ และรับประทานขนมปังกรอบ ครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้งขึ้น
  2. แต่หากอาการรุนแรงมากจนขาดน้ำทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ใจสั่น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเช่น ไทรอยด์ เป็นพิษ,ครรภ์แฝด,ครรภ์ไข่ปลาอุก

 

  • การเปลี่ยนแปลงของมารดาและทารกแต่ละช่วงอายุครรภ์ การตั้งครรภ์ระยะ 16 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของทารก การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

 เมื่อสิ้นสุดระยะนี้ทารกจะยาวประมาณ  12   เซ็นติเมตร น้ำหนักประมาณ 110 กรัม
 อาจจำแนกเพศของทารกได้ โดยการอัลตร้าซาวนด์ โดยแพทย์ที่ชำนาญ

  1. มดลูกขยายขนาดมากขึ้น ประมาณ2/3 ระหว่างกระดูกหัวเหน่าและสะดือ
  2. ระยะนี้เริ่มเข้าไตรมาสที่ 2 ปริมาณน้ำเลือดจะเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเลือดแดง อาจมีภาวะซีดจากการตั้งครรภ์

 

การตรวจของแพทย์

  • แพทย์จะตรวจขนาดมดลูกเพื่อเทียบกับอายุครรภ์
  • ฟังเสียงหัวใจของทารก ซึ่งจะได้ยินชัดเจนขึ้น ปกติจะอยู่ที่ 120-180ครั้ง/นาที

Tips

  1. อาหารควรเน้นที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียม โดยปกติแพทย์มักจะให้ธาตุเหล็กเสริมในทุกราย ส่วนแคลเซียมอาจเสริมด้วยการดื่มนมวันละ 2 กล่อง หรือโยเกิร์ต วันละ 2 ถ้วย ในรายที่ดื่มนมไม่ได้แพทย์อาจให้แคลเซียมเม็ดเพื่อทดแทนความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์

  • การเปลี่ยนแปลงของมารดาและทารกแต่ละช่วงอายุครรภ์ การตั้งครรภ์ระยะ 20 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของทารก การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

  เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 20 ถือได้ว่าถึงครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้วน้ำหนักทารกจะมากกว่า 300 กรัม   ผิวหนังที่โปร่งจะทึบขึ้นเริ่มมีขนอ่อนและผมขึ้น ขณะอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ มีใบหูยื่นจากศีรษะแล้ว

  1. มดลูกมารดาจะถึงระดับเดียวกับสะดือ หรือวัดได้ 20 เซ็นติเมตร.จากหัวเหน่า  ส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกลูกดิ้นแล้ว

การตรวจของแพทย์

  • ระยะอายุครรภ์ 16 - 20 สัปดาห์ เป็นช่วงที่เหมาะสมในการทำอัลตร้าซาวด์ ดูทารกเนื่องจากเห็นอวัยวะต่างๆชัดเจนแล้ว และหากพบความผิดปกติ ยังสามารถตรวจหาสาเหตุให้พบได้ในอายุครรภ์ที่ไม่มากเกินไป
  • ในรายที่มีข้อบ่งชี้ในการเจาะน้ำคร่ำ แพทย์มักจะทำในอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์

Tips

  1.  ลูกจะเริ่มได้ยินเสียงคุณแม่แล้ว คุยกับเขาบ่อยๆและเปิดเพลงเบาๆให้เขาฟัง

  • การเปลี่ยนแปลงของมารดาและทารกแต่ละช่วงอายุครรภ์ การตั้งครรภ์ระยะ 24 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของทารก การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

  เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 24 ทารกจะหนักประมาณ 630 กรัมมีกล้ามเนื้อสมบูรณ์ ดิ้นแรงมาก เมื่อมีอาการสะสมไขมันใต้ผิวหนัง,ระบบท่อและถุงลมในปอดพัฒนาจนเกือบสมบูรณ์,ลูกจะจำเสียงพ่อ-แม่ได้

  1. ยอดมดลูกจะอยู่เหนือสะดือ ประมาณ 1ใน 4 ระหว่างสะดือและลิ้นปี่หรือประมาณ 24 ซม.


การตรวจของแพทย์

  • ตรวจขนาดของมดลูก และฟังเสียงหัวใจทารก

Tips

  1. ในระยะนี้คุณแม่จะรู้สึกลูกดิ้นชัดแล้ว ควรนับลูกดิ้นทุกวัน อย่างน้อยวันละ 3 เวลา

  • การเปลี่ยนแปลงของมารดาและทารกแต่ละช่วงอายุครรภ์ การตั้งครรภ์ระยะ 28 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของทารก การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

  เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 28 ทารกจะตัวยาว 25 เซ็นติเมตรน้ำหนักประมาณ 1100 กรัม ระบบประสาทจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว หากทารกคลอดก่อนกำหนดในอายุครรภ์นี้
  จะขยับแขนขาและร้องเบาๆได้ 90% จะรอดชีวิตโดยไม่มีความพิการ

  1. ขนาดของมดลูกอยู่กึ่งกลางระหว่างสะดือกับลิ้นปี่หรือประมาณ 28 สัปดาห์
  2. ฮอร์โมน HPL ที่กระตุ้นให้เกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะสูงขึ้นตั้งแต่ อายุครรภ์ 26 สัปดาห์

การตรวจของแพทย์

  • แพทย์มักตรวจเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ในระยะนี้เพราะผลจะชัดเจน เนื่องจากเป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน HPL

Tips

  1. คุณแม่ควรนับลูกดิ้นเนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ หากทำถูกวิธีพบว่าได้ผลดีไม่แพ้เครื่องตรวจคลื่นหัวใจทารกเลยทีเดียว

  • การเปลี่ยนแปลงของมารดาและทารกแต่ละช่วงอายุครรภ์ การตั้งครรภ์ระยะ 32 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของทารก การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

   ในระยะนี้วัดความยาวจากศีรษะถึงก้นกบได้ 28 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1800 กรัม ผิวหนังยังแดงและย่น ทารกที่คลอดอายุครรภ์นี้ มักจะมีชีวิตรอด


  1. ส่วนยอดของมดลูกจะอยู่ใกล้ๆลิ้นปี่ หรือวัดจากยอดมดลูกถึงหัวเหน่าได้ประมาณ 32 เซนติเมตร
  2. ความเข้มข้นของเลือดอาจลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำเลือดที่เพิ่มขึ้น หรือเรียกว่าภาวะซีดจากการตั้งครรภ์

การตรวจของแพทย์

  • นอกจากจะติดตามการเจริญเติบโตของทารกแล้ว อาจมีการตรวจความเข้มข้นของเลือดซ้ำ เพื่อประเมินภาวะซีดจากการตั้งครรภ์

Tips

  1. คุณแม่ควรนับลูกดิ้นทุกวัน อย่างน้อยวันละ 3 เวลา
  2. รับประทานธาตุเหล็กที่แพทย์จัดให้อย่างสม่ำเสมอ

  • การเปลี่ยนแปลงของมารดาและทารกแต่ละช่วงอายุครรภ์ การตั้งครรภ์ระยะ 36 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของทารก การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

   

  เมื่อสิ้นสุด 36 สัปดาห์ วัดความยาวจากศีรษะถึงก้นกบได้ 32 เซนติเมตร
  น้ำหนักประมาณ 2500 กรัม

  • ลำตัวกลมขึ้นและรอยย่นที่ใบหน้าจะหายไป เนื่องจากมีการสะสมของไขมันใต้ผิวหนังมากขึ้น
  • ทารกจะรับรู้ความมืดและความสว่างได้ลืมตามองสิ่งต่างๆในน้ำคร่ำได้
  • ทารกที่คลอดระยะนี้จะรอดชีวิต ภายใต้การดูแลที่เหมาะสม
  1. ส่วนยอดของมดลูกจะอยู่ที่ลิ้นปี่ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด ขนาดมดลูกที่โตอาจไปกดเส้นเลือดดำ ทำให้ขาบวมได้

การตรวจของแพทย์

  • ในรายที่มีความเสี่ยง แพทย์อาจตรวจภายในเพื่อเพาะเชื้อ GBS เพื่อหายาป้องกันการติดเชื้อในระยะคลอด
  • ตรวจความเข้มแข็งของทารกในครรภ์ โดยการตรวจคลื่นหัวใจของทารก
  • ตรวจความดันโลหิตและดูโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งมีการตรวจทุกครั้งที่มาตรวจครรภ์ตามนัดอยู่แล้ว

Tips
      นอกจากคุณแม่จะนับลูกดิ้นเพื่อประเมินสุขภาพทารกแล้ว คุณแม่ต้องเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองด้วย เช่น

  1. ขาบวม ตัวบวมมาก น้ำหนักขึ้นเร็ว
  2. ปวดศีรษะ
  3. ปวดบริเวณชายโครงขวา
      หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะครรภ์เป็นพิษ


  • การเปลี่ยนแปลงของมารดาและทารกแต่ละช่วงอายุครรภ์ การตั้งครรภ์ระยะ 40 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของทารก การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

   ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ รวมทั้งปอดและผิวหนัง พร้อมที่จะคลอดแล้ว


  1. ยอดมดลูกจะมีขนาดต่ำลงจากการที่ทารกเริ่มเคลื่อนต่ำ มารดาจะรู้สึกปวดบริเวณหัวเหน่า เดินลำบากจากการที่ศีรษะทารกกดบริเวณ กระดูกเชิงกราน
  2. จะเริ่มมีการบีบตัวของมดลูกถี่มากขึ้น หากนอนพักแล้วไม่ดีขึ้น แสดงว่าเริ่มเข้าสู่ระยะคลอด โดยเฉลี่ยอยู่ที่อายุครรภ์ 38 สัปดาห์

การตรวจของแพทย์

  • ตรวจสุขภาพของทารก
  • หากมีการบีบตัวของมดลูกบ่อยครั้ง มีการตรวจภายใน เพื่อประเมินระยะคลอด
  • พิจารณาวิธีการคลอดและระยะเวลาในการคลอดตามข้อบ่งชี้ โดยปกติ หากไม่มีการเจ็บครรภ์ ไม่ควรรอเกิน 41 สัปดาห์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ทารกจะขาดออกซิเจนในครรภ์ได้

Tips
      สังเกตอาการเข้าสู่ระยะคลอด ได้แก่ การบีบตัวของมดลูก น้ำเดิน มีมูกเลือด


พัฒนาการของเจ้าตัวน้อยเริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์ จากเสียงเพลงดนตรี  

   การส่งเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์ด้วยวิธีง่ายๆ แต่ได้ผล โดยการใช้เสียงเพลง เช่น  เพลงสำหรับแม่ท้อง เพลงสำหรับทารกในครรภ์ แม้ว่าจริงๆ แล้วการให้ทารกในครรภ์ฟังเพลงอาจจะไม่ใช่วิธีทำให้ลูกฉลาดตั้งแต่ในครรภ์ แต่เป็นการสร้างพื้นฐานพัฒนาการทารกในครรภ์ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านอารมณ์ ทำให้เขาคลอดออกมาร่าเริง เลี้ยงง่าย ซึ่งส่งผลไปถึงมีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัวเพื่อพัฒนาไปสู่ความฉลาดในอนาคตได้นั่นเอง
   เพลงสำหรับกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อลูกได้ยินเสียงเพลง ได้ยินจังหวะของเพลงเขาจะขยับตัวหรือดิ้นไปตามเสียงเพลง เช่น ถ้าเป็นเพลงช้าฟังสบาย เขาจะขยับตัวช้าๆ เหมือนกำลังว่ายน้ำอยู่ในท้องแม่อย่างสบายใจ หากเพลงมีจังหวะเร็วเขาอาจจะขยับตัวบ่อยหรือดิ้นแรงขึ้นเหมือนเต้นตาม ซึ่งการขยับตัวของทารกในครรภ์ตามเสียงเพลงหรือเสียงที่ได้ยินก็เป็นสัญญาณบอกถึงพัฒนาการทารกในครรภ์ที่ยอดเยี่ยมนั่นเอง  คุณแม่ตั้งครรภ์ควรฟังเพลงเพื่อพัฒนาการทารกในครรภ์ที่ยอดเยี่ยมด้วยวิธีต่อไปนี้ 
  1. เพลงสำหรับทารกในครรภ์ควรเป็นเพลงฟังสบาย จะเป็นเพลงช้าหรือเร็วก็ได้ หรือแม้แต่เพลงร็อคก็ฟังได้ และเน้นให้ลูกได้ยินเสียงและรู้สึกถึงจังหวะเพื่อไปกระตุ้นพัฒนาการทางการได้ยิน การเคลื่อนไหวในท้อง และความรู้สึกผ่อนคลายในท้องแม่เป็นหลัก
  2. ควรใช้หูฟังแบบครอบศีรษะ หรือหูฟังเพลงสำหรับทารกในครรภ์ เพราะเสียงและจังหวะของเพลงจะดังไป ถึงลูกในท้องได้ดี หูฟังชนิดใส่ในรูหูจะมีความดังไม่มากพอให้ลูกในท้องได้ยินเสียงเพลง
  3. ไม่ควรเปิดเสียงเพลงดังเกินไป เพราะลูกในท้องอาจตกใจและดิ้นแรงกว่าปกติได้ ระดับเสียงที่พอดีอาจวัดจากคุณแม่ลองใส่หูฟังฟังเองก่อน แล้วปรับความดังในระดับที่หากคุณพ่อมาคุยด้วยก็ยังพอได้ยินเสียงแบบพอจับใจความได้ หรือเรียกแล้วยังได้ยินนั่นเอง
  4. ทารกในครรภ์จะได้ยินเสียงเพลงได้ดีเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน เนื่องจากมีการพัฒนาระบบประสาทการได้ยินแล้ว แต่แม่ท้องสามารถให้ลูกในท้องฟังเพลงได้ตั้งแต่รู้ว่าท้อง เพราะตัวแม่เองก็จะรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด ส่งผลไปถึงความสบายของลูกในท้องด้วย
  5. ทารกในครรภ์จะตื่นตัวดีในช่วงบ่ายเป็นต้นไป คุณแม่ควรให้ทารกในครรภ์ฟังเพลงช่วงบ่าย และใช้เวลาฟังเพลงประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ลูกในท้องได้พักผ่อนด้วย
  6. คุณแม่ที่เข้าใจว่าฟังเพลงคลาสสิกแล้วจะทำให้ลูกฉลาด ลองเปลี่ยนความคิดกันใหม่ เพลงคลาสสิกไม่ได้ช่วยให้ลูกฉลาดตั้งแต่ในท้อง เพราะความฉลาดมีปัจจัยหลักมาจากพันธุกรรมของพ่อแม่ สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ การส่งเสริม และอาหาร แต่การให้ทารกในครรภ์ฟังเพลงจะเป็นการทำให้ลูกผ่อนคลาย กระตุ้นพัฒนาการทางการได้ยินและพัฒนาการทางร่างกายตั้งแต่ในท้องด้วยการขยับตัวและดิ้นไปตามจังหวะเพลงที่ได้ยิน ซึ่งเมื่อคลอดออกมา เขาจะมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและอารมณ์ที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยความคล่องแคล่ว คล่องตัว และอารมณ์ดี
   นอกจากเสียงแล้ว การสัมผัสและสิ่งเร้าจากภายนอก ก็สามารกระตุ้นพัฒนาการได้เช่นกัน ในช่วงไตรมาสสุดท้าย คุณแม่อาจใช้ไฟฉายเล็กๆซึ่งมีแสงไม่แรงนักส่องไปที่จุดต่างๆ ของหน้าท้อง ประมาณครั้งละ 5 วินาที เพื่อกระตุ้นระบบการมองเห็นและรับภาพของลูกน้อย โดยคุณแม่จะรู้สึกว่า ลูกน้อยหันหน้าหลบไปหลบมา แต่ไม่ควรเล่นนานจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกน้อยหงุดหงิดได้
   การกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์นอกจากจะส่งผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์แล้ว  คุณแม่เองก็มีความสุขไปด้วย ทุกการสัมผัสที่เริ่มต้น ลูกน้อยสามารถเรียนรู้และจดจำได้ เมื่อถึงวันที่ลูกได้ลืมตาดูโลกใบนี้   คุณแม่เป็นคนแรกที่เขาจะจำได้
 
หลังคลอด คุณแม่ควรรู้
   หลังจากคลอดลูกแล้ว คุณแม่จะวุ่นวายกับการเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อย จนบางครั้งอาจละเลยการดูแลสุขภาพตัวเองหลังคลอดไปบ้าง  การดูแลหลังคลอดก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ เพราะคุณแม่ที่แข็งแรง สุขภาพดี  จะสามารถดูแลลูกน้อยที่เกิดมาได้เป็นอย่างดี
   ตรวจหลังคลอด  แพทย์จะนัดตรวจหลังออกจากโรงพยาบาล  1 สัปดาห์  เพื่อติดตามอาการทั่วไป  ดูแผลผ่าตัด หรือแผลฝีเย็บว่ามีอาการอักเสบ บวมแดงหรือไม่   หลังจากนั้นจะนัดตรวจหลังคลอด ประมาณ 4 – 6 สัปดาห์หลังคลอด  ตรวจอาการผิดปกติต่างๆ  ตรวจภายในเพื่อตรวจมดลูก และตรวจมะเร็งปากมดลูก  ให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัว
   โภชนาการ   การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกเอง หลังคลอด ร่างกายของคุณแม่ต้องการพลังงานมากกว่าตอนขณะตั้งครรภ์ 500 กิโลแคลอรีต่อวัน พลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกนำไปใช้สร้างน้ำนมและชดเชยพลังงานที่เสียจากการคลอด    เพราะฉะนั้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ  จะช่วยให้แม่หลังคลอดฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ช่วยซ่อมแซมให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค ลดอาการอ่อนเพลียจากการสูญเสียเลือดและน้ำขณะคลอดได้   ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อช่วยผลิตน้ำนม ป้องกันการขาดน้ำ  และอาการท้องผูก  ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ นม อย่างน้อยวันละ 2 - 3 แก้ว เนื้อสัตว์ต่างๆ รวมทั้งผัก ผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน แป้ง ของหวาน เพราะจะทำให้คุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ควรงดอาหารรสจัด ของหมักดอง น้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ยาขับน้ำคาวปลา หรือยาดองเหล้า
   พักผ่อนให้เพียงพอ  ช่วงเวลาที่ลูกน้อยหลับ คุณแม่ก็ควรนอนพักผ่อนด้วยเช่นกัน  ภายหลังคลอด 6 สัปดาห์ ไม่ควรทำงานหนัก เช่น การยก แบกหาม ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออวัยวะในอุ้งเชิงกรานและแผลฝีเย็บ
   รับมือกับความรู้สึกซึมเศร้าหลังคลอด   หลังคลอด 2 - 3 เดือนแรก คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกซึมเศร้า หมดหวัง ร้องไห้บ่อย รู้สึกผิดและไม่มีค่า ตื่นกลัว เป็นต้น อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้  เนื่องจากระดับของฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงทันทีทันใดหลังคลอด แต่ความรุนแรงในแต่ละคนอาจแตกต่างกัน  หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้  การนอนหลับอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่เหมาะสม  พูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนๆ จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นได้  หากไม่ดีขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.นพดล จันทรเทพเทวัญ แพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช
ศูนย์สตรี ชั้น 8 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์สตรี





 

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.