ภาวะลำไส้ขี้เกียจ ทำไมถึงขี้เกียจ?
ภาวะลำไส้ขี้เกียจคืออะไร?
ลำไส้ใหญ่ มีหน้าที่ในการดูดซึมสารอาหาร น้ำ และเกลือแร่ บีบตัว ขับกากอาหารออกจากร่างกาย เมื่อลำไส้ทำงานได้ช้าลง จะส่งผลให้ไม่สามารถบีบขับกากอาหารออกมาได้ตรงตามเวลา หรือทำให้มีการขับถ่ายที่ยากขึ้น หรือรู้สึกอยากถ่ายน้อยลง ซึ่งโรคลำไส้ขี้เกียจเกิดจากกล้ามเนื้อ หรือเส้นประสาทของลำไส้นั้นมีการทำงานน้อยลง จึงทำให้มีอาการแน่นท้อง ท้องผูก หรือถ่ายเหลวได้ โดยการวินิจฉัยภาวะนี้จะต้องแยกจากโรคในลำไส้อื่นๆ ที่ต้องมีการรักษาเฉพาะทาง เช่น มะเร็งลำไส้ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ลำไส้แปรปรวน ภาวะลำไส้ขี้เกียจสามารถเกิดได้กับทุกช่วงอายุ แต่จะพบบ่อยในเพศหญิงและผู้สูงอายุ
อาการแบบไหนที่บ่งบอกได้ว่าลำไส้อาจกำลังขี้เกียจ
อาการจะรุนแรงมากหรือน้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยอาการจะมีดังต่อไปนี้
- ถ่ายอุจจาระยาก หรือท้องผูก
- ถ่ายเหลว
- ปวดท้อง มีลมในท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
ปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะลำไส้ขี้เกียจ
- โรคในระบบประสาท ที่ส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคไทรอยด์ทำงานน้อย
- ได้ยาแก้ปวด หรือยาอื่นๆ ที่ทำให้ลำไส้ทำงานช้าลง
- ดื่มน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีกากใยไม่เพียงพอ
- มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
การรักษาภาวะลำไส้ขี้เกียจ
- การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าวันละ 2 ลิตร หรือ 6-8 แก้วต่อวัน
- การรับประทานอาหารที่มีกากใยให้เยอะขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ อาจเป็นผักต้มสุก 4-5 ทัพพีต่อวัน หรือผักผลไม้สด 8 ทัพพีต่อวัน
- หลีกเลี่ยงอาหารมัน ของทอด อาหารที่มีไขมันสูง
- ออกกำลังกายอย่าสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้
- ไม่กลั้นอุจจาระ แนะนำให้เข้าห้องน้ำเมื่อปวดทันที หรือในกรณีที่ไม่สามารถเข้าห้องน้ำทันทีได้ ให้สังเกตพฤติกรรมตัวเองว่าจะรู้สึกปวดท้องเข้าห้องน้ำเมื่อไหร่ และคำนวณเวลาเพื่อเตรียมเข้าห้องน้ำในเวลานั้นๆ
- ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาใช้ยารักษา เช่น กลุ่มยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ กลุ่มยาที่เพิ่มน้ำในอุจจาระ ยาระบาย หรือหากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด
หากท่านมีอาการขับถ่ายผิดปกติ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดี และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ลดโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ในอนาคต
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. พรพรรณ เทียนชนะไชยา แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ