Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

31 ต.ค. 2566


“ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ”

   หนึ่งในโรคหัวใจที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งความรุนแรงของโรคอาจส่งผลให้เสียชีวิตแบบกระทันหันได้ ซึ่งวันนี้ทาง โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล จะมาบอกถึงอาการเบื้องของโรคนี้ว่าเป็นอย่างไร

   ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เป็นภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ หรือไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจพบอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจหอบ เหงื่อออกมาก หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ  คล้ายจะเป็นลม เป็นต้น

   โดยทั่วไปอัตราการเต้นของหัวใจ จะอยู่ที่ประมาณ 60 - 100 ครั้งต่อนาที มีจังหวะการเต้นสม่ำเสมอ โดยหัวใจห้องข้างบนและข้างล่างจะเต้นในจังหวะที่สัมพันธ์กัน โดยทั่วไปสามารถแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิด ปกติเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

สาเหตุหลักๆ ของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • กรรมพันธุ์ จากความผิดปกติของวงจรไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่กำเนิด
  • การเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าหัวใจ มักเกิดในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ เนื่องจากหัวใจทำงานมาเป็นเวลานาน จึงเกิดความเสื่อมตามอายุการใช้งาน ระดับพลังงานที่กระตุ้นหัวใจจึงทำงานน้อยลง ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าผิดปกติ
  • โรคบางชนิด ส่งผลให้เกิดการเต้นผิดจังหวะ เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคเบาหวาน และผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • ยา และสารเสพติดบางชนิด การทานยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น ยารักษาโรคหวัด ยาขยายหลอดลม ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ และยาทางระบบประสาทบางชนิด

อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นอย่างไร?

  • ในกรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยจะรู้สึกหัวใจเต้นสะดุด ใจหาย เหนื่อย บางรายอาจมีอาการสะอึก หรือไอตามการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ
  • ในรายที่หัวใจเต้นช้าผิดปกติ จะมีอาการเด่นที่สำคัญคือ อาการที่ร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ถ้าหัวใจเต้นช้าไม่มากก็จะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการเหนื่อยในขณะพัก ถ้าเต้นช้าขั้นรุนแรงจะมีอาการหน้ามืด หมดสติหรือถึงขั้นอันตรายจนเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นได้
  • ในรายที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง เหนื่อยง่ายในผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคหัวใจอ่อนกำลังอยู่เดิม อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ เกิดหัวใจล้มเหลว หมดสติหรือถึงขั้นอันตรายจนเสียชีวิตได้

วิธีการตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ

   ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เบื้องต้นแพทย์จะทำการวินิจฉัยลักษณะอาการของผู้ป่วย โดยทำการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยการตรวจคัดกรอง ดังนี้

  • ตรวจด้วยการเอกซเรย์หน้าอก (Chest X-ray)
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG)
  • ตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST)
  • ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram: Echo)
  • ติดเครื่อง Monitor หัวใจ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีวิธีการรักษาอย่างไร?

   การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะเลือกรูปแบบการรักษา โดยพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และระดับความรุนแรงของโรค เนื่องจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด คนไข้อาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่ในบางชนิดจะต้องรับการรักษาให้ทันท่วงที เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ซึ่งแนวทางในการรักษาสามารถทำได้ ดังต่อไปนี้

  • การใช้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจ ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะช่วยควบคุมหัวใจของผู้ป่วยให้เต้นตามปกติ การใช้ยาจะได้ผลดีกับภาวะหัวใจเต้นบางชนิด จะช่วยลดความถี่ของภาวะนี้ และลดความรุนแรงได้ แต่จะไม่ช่วยให้หายขาดได้
  • การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion) จะใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นเร็วเกินไป ซึ่งมีโอกาสเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยแพทย์จะใช้แผ่นแปะบริเวณหน้าอกของผู้ป่วย แล้วส่งกระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งเข้าไปยังหัวใจ เพื่อปรับจังหวะการเต้นหัวใจให้เป็นปกติ
  • การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) เป็นการฝังเครื่องมือตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ เป็นเครื่องมือที่มีขนาดเล็กฝังไว้ใต้ผิวหนัง ใต้กระดูกไหปลาร้า จากนั้นจึงสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุม และกระตุ้นหัวใจให้เต้นตามปกติ เมื่อตรวจพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillator : ICD) วิธีนี้จะช่วยปรับอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ นิยมใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเรื่องหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ โดยอุปกรณ์ชนิดนี้จะทำหน้าที่กระตุ้นหัวใจ หากหัวใจเต้นช้าเกินไป และปล่อยพลังงานไฟฟ้าหากหัวใจเต้นเร็ว เพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ
  • การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Ablation Therapy) เป็นวิธีการรักษาต่อจากการตรวจระบบนำไฟฟ้าในหัวใจ โดยแพทย์จะสอดสายสวนเข้าไปยังจุดที่คาดว่าเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ แล้วปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูง เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจตรงส่วนที่เป็นสาเหตุ โดยปล่อยเป็นจุดเล็กๆ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะให้หายขาดได้โดยไม่ต้องใช้ยา และยังมีภาวะแทรกซ้อนต่ำอีกด้วย

ป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างไร?

      ถึงแม้ว่าภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจจะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่มีวิธีที่จะสามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ให้น้อยลง ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและOmega 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า รวมไปถึงผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ เพื่อบำรุงหัวใจให้แข็งแรง ให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
  • ควบคุมอาหาร ลดอาหารที่มีไขมันสูง เพื่อควบคุมความดันโลหิต และช่วยรักษาระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นระบบหมุนเวียนโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง และช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีนสูงมากเกินไป เพราะเป็นการกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น
  • ตรวจสุขภาพและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากพบความปกติก็จะรักษาได้อย่างทันท่วงที

   นอกจากการรับประทานที่มีประโยชน์ครบถ้วนในการดูแลร่างกายแล้ว ควรรับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจหารอยโรค หรือความผิดปกติต่างๆ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่ามีอาการหรือไม่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

 

สนับสนุนข้อมูลโดย: นพ. วิจารณ์ เทวธารานันท์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์หัวใจ



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.