Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

ภูมิแพ้ เริ่มต้นที่คุณแม่ต้องเข้าใจ

18 ม.ค. 2562


การทดสอบภูมิแพ้สำหรับเด็ก (Skin Prick Test)
   การวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ชนิดเฉียบพลันนั้น  นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว  ยังควรทำการทดสอบภูมิแพ้ เพื่อหาสาเหตุที่แพ้  ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือด  หรือการทดสอบทางผิวหนัง  โดยทั่วไปแล้วนิยมวิธีการทดสอบทางผิวหนัง  เพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว ไม่เจ็บ ให้ผลทันทีและสิ้นเปลืองน้อยกว่า

ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

  หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการใช้ยาคือ  การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้  แต่เนื่องจากรอบตัวคนเรานั้น  มีสารก่อภูมิแพ้อยู่มากมาย  การที่จะหลีกเลี่ยงให้หมดทุกอย่าง  คงทำได้ยาก  แต่ถ้าเราทราบว่าเราแพ้สารใดแล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆโดยตรง ก็จะทำให้ผลการรักษาโรคดีขึ้น นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่ต้องทำการรักษาโดยการฉีดวัคซีนภูมิ แพ้ทุกราย จำเป็นต้องได้รับการทดสอบภูมิแพ้ก่อนว่าแพ้สารใดเพื่อจะได้รักษาด้วยน้ำยา ที่ตรงกับสารที่ผู้ป่วยแพ้ด้วย

ลักษณะอาการของผู้ที่ควรตรวจ

  1. จามบ่อย น้ำมูกไหล คัดจมูก คันคอ หรือมีเสมหะลงคอ โดยเฉพาะเวลาอากาศเปลี่ยน
  2. หายใจลำบาก ไซนัสอักเสบ ติดเชื้อบ่อย
  3. ปวดศีรษะบ่อยๆ เหนื่อยง่ายผิดปกติ ร่วมกับอาการหวัด
  4. มีผื่นคันที่ผิวหนังแบบเรื้อรัง หรือเป็นลมพิษ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
  5. มีอาการเตือนของโรคหอบหืด เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจเสียงดังวี้ด ไอ โดยเฉพาะตอนกลางคืน หรือหลังออกกำลังกาย
  6. เป็นโรคหอบหืดและอยู่ในระหว่างการรักษา แต่อาการไม่ดีขึ้นและเกิดขึ้นบ่อย
  7. แพ้อาหาร หรือแพ้ยา แบบเฉียบพลัน
  8. รับประทานยาAntihistamine หรือยาตัวอื่นๆ แล้วยังไม่ดีขึ้น หรือเกิดผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย ง่วงซึม หงุดหงิด
  9. เคยใช้วิธีอื่นเช่น สมุนไพร รับประทานอาหารแบบแมคโคไบโอติก ฝังเข็ม นวดกดจุด หรืออื่นๆแล้วไม่ได้ผล

น้ำยาที่ใช้ในการทดสอบ 
   ต้องเป็นน้ำยาที่มีขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐาน แยกแต่ละสารก่อภูมิแพ้ออกจากกันเป็นขวดๆ  จึงจะให้ผลในการทดสอบที่เชื่อถือได้ ซึ่งในการทดสอบนั้นไม่จำเป็นต้องทดสอบการแพ้ต่อทุกๆสาร  แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาทดสอบโดยใช้ชนิดของน้ำยามากน้อยต่างกัน แล้วแต่อายุและประวัติอาการของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย โดยน้ำยาที่ใช้ในการทดสอบ เป็นสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้มาทำให้บริสุทธิ์  ซึ่งมีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น

  1. สารสกัดจากไรฝุ่น
  2. ขนและรังแคของสัตว์ เช่น สุนัข แมว
  3. เศษซากของแมลงที่อยู่ในบ้าน เช่น แมลงสาบ  
  4. เชื้อราชนิดต่างๆ
  5. เกสรพืช เช่นหญ้าชนิดต่างๆ
  6. อาหารที่แพ้ง่าย เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว แป้งสาลี อาหารทะเล

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ

  1. งดยาแก้แพ้ก่อนมารับการทดสอบ 7-10 วัน แล้วแต่ชนิดของยา
  2. หากมียาประจำตัวอื่น ต้องแจ้งแพทย์ก่อนการทดสอบ
  3. ยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ เช่น  ยาแก้หวัด  ยาลดน้ำมูก  ยาแก้คัน  ต้องงดก่อนมาทดสอบประมาณ 10 วัน
  4. ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง  ผู้ป่วยที่รับยาลดกรด หรือยากล่อมประสาทต้องแจ้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ให้แพทย์ที่จะทำการทดสอบทราบด้วย เพราะยาบางชนิดต้องงดก่อนทำการทดสอบเป็นเวลานาน
  5. ควรงดทาโลชั่นและยาทุกชนิดบริเวณที่จะทำการทดสอบ
  6. ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาทดสอบ

วิธีการทดสอบ 
   ทดสอบโดยการหยดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังของผู้ป่วยใช้เข็มสะกิดเบาๆ  ผ่านหยดสารและให้อยู่ในชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยไม่ให้มีเลือดออก หลังจากนั้นจึงเช็ดน้ำยาออก รออ่านผล 15 นาที  ถ้าผู้ป่วยแพ้สารใดก็จะเกิดปฎิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดงที่ผิวหนังตรงตำแหน่งที่ทดสอบต่อ สารนั้นๆ  วิธีสะกิด(SPT)นี้ เป็นวิธีการทดสอบทางผิวหนังที่เป็นที่ยอมรับและแนะนำให้ใช้เป็นวิธีแรกที่ในการตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ชนิดเฉียบพลันโดยทั่วไป  เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย  มีโอกาสเกิดปฏิกิริยาการแพ้ที่รุนแรงน้อย ทำได้ง่าย ใช้เวลาอ่านผลไม่นาน

คำแนะนำ
   มีอาการแพ้รุนแรง โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะใช้น้ำยาปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น และอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.ธิดารัตน์ พงศ์สิริพิพัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขากุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกัน
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.