Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

“ภูมิ (ไม่) แพ้...แค่ทดสอบ”

24 เม.ย. 2562



   ปัจจุบันโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบได้มากในเด็ก ทำให้คุณพ่อคุณแม่จะเป็นกังวลเพราะไม่ทราบว่าสาเหตุแท้จริงว่าเกิดจากอะไร จะดีกว่าไหมถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถรู้และป้องกันอาการภูมิแพ้ของลูกน้อยได้ คือ การทำโปรแกรมทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ (Skin Prick Test)
ทำไมต้องตรวจ…!!
   การตรวจทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเป็นการช่วยวินิจฉัยของแพทย์ เพื่อแยกชนิดของโรคภูมิแพ้ นอกเหนือจาการซักประวัติ การตรวจร่างกายเพียงอย่างเดียวสำหรับการทดสอบภูมิแพ้ยังเป็นการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการแพ้เพื่อให้เราสามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
ภูมิแพ้ในเด็กป้องกันได้...แค่ทดสอบ…!!!
  • การตรวจทดสอบทางผิวหนัง (Skin prick test) คือ วิธีการทดสอบภูมิแพ้ต่อสารชนิดต่างๆทางผิวหนัง โดยแพทย์จะเป็นผู้ทำการทดสอบด้วยน้ำยาทดสอบภูมิแพ้โดยเฉพาะ ซึ่งจะสามารถทำให้ทราบว่า คนไข้มีอาการแพ้สารใดบ้าง เช่น แมลงสาบ ขนแมว ไรฝุ่น เชื้อรา ขนสุนัข เกสร และแพ้อาหารต่างๆ เป็นต้น
  • การตรวจเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ (RAST)คือ วิธีการตรวจโดยการเจาะเลือดไปตรวจ สำหรับกรณีที่ไม่สามารถทำการทดสอบทางผิวหนังได้ เช่น ในคนที่มีประวัติแพ้รุนแรงถึงช็อก หรือคนที่มีผื่นมากและไม่มีผิวหนังปกติมากพอที่จะทำการทดสอบทางผิวหนังได้หรือหยุดยาแก้แพ้ไม่ได้เลย
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังต่างกับการเจาะเลือดอย่างไร…????
   การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังกับการเจาะเลือด การตรวจทั้ง 2 วิธี มีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้
การเจาะเลือดตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ (RAST)
  1. เจ็บตัวมากกว่า โดยต้องเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำ เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  2. รอผลตรวจนานอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
  3. เจาะเลือดตรวจได้ทันที ไม่ต้องหยุดยาแก้แพ้ (แต่ต้องรอผลนาน 1-2 สัปดาห์)
  4. ราคาแพงกว่า นิยมตรวจกรณีทราบสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัยบ้างแล้ว
  5. ให้ผลการตรวจเป็นระดับแอนตี้บอดี้อย่างละเอียดสามารถเจาะเลือดตรวจติดตามอาการได้เป็นระยะๆ โดยละเอียด
  6. ผลข้างเคียงไม่มี (อาจมีอาการเป็นลมจากการกลัวเข็มขณะเจาะเลือด)
การตรวจทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test)
  1. อาจรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยเวลาโดนเข็มสะกิด แต่จะรู้สึกคันมากเมื่อมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น
  2. ได้ผลภายใน 20 - 30 นาทีหลังทดสอบ
  3. ต้องหยุดยาแก้แพ้ทุกชนิดอย่างน้อย 7-10 วัน และหากมีการใช้ยาบางชนิดที่มีผลกดปฏิกิริยาทางผิวหนังอาจต้องหยุดยานานกว่านี้
  4. ราคาประหยัดกว่ามักใช้ตรวจเพื่อคัดกรองหาสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัยหลายชนิด
  5. ผลตรวจเป็นการเทียบขนาดปฏิกิริยาทางผิวหนังกับจุดผลบวกเปรียบเทียบ ตรวจติดตามโดยการทำทดสอบทางผิวหนังและเทียบขนาดด้วยตาเปล่า
  6. อาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ได้หากผู้ป่วยมีอาการแพ้รุนแรง  แต่โอกาสเกิดน้อยมาก

เตรียมตัวอย่างไร..!!!

  • งดทานยาแก้แพ้ทุกชนิดก่อนมารับการทดสอบ 7 – 10 วัน
  • งดทาโลชั่นและยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนัง ส่งผลให้การทดสอบไม่แน่นอน
  • หากมีโรคประจำตัวและรับประทานยาอื่นๆ โปรดแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก่อนทำการทดสอบ
  • ไม่ต้องงดใช้ยาพ่นต่างๆ เช่น ยาพ่นจมูก ยาพ่นสูด
  • ไม่ต้องงดน้ำงดและอาหาร

ขั้นตอนการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test)

  • ผู้ปกครองรับทราบวิธีการทำทดสอบรวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นพร้อมเซ็นชื่อยินยอมให้ทำการทดสอบภูมิแพ้
  • ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะทำทดสอบด้วยแอลกอฮอล์ 75% โดยเด็กโตจะทำทดสอบบริเวณท้องแขนสำหรับทารกจะทำทดสอบบริเวณหลังส่วนบน
  • แพทย์จะใช้ปากกาทำเครื่องหมายบริเวณที่จะทำทดสอบ
  • หยดสารก่อภูมิแพ้ต่างๆลงบนผิวหนังบริเวณที่จะทดสอบตามลำดับ โดยจะทำจุดแรกเป็นHistamine เพื่อทดสอบว่าผู้ป่วยยังมีผลของยาแก้แพ้กดปฏิกิริยาภูมิแพ้ทางผิวหนังอยู่หรือไม่ และเพื่อเป็นจุดผลบวกเปรียบเทียบ (Positive control) และอาจทำการทดสอบต่อน้ำเกลือเพื่อเป็นจุดผลลบเปรียบเทียบ (Negative control)
  • รอให้สารก่อภูมิแพ้ทำปฏิกิริยาทางผิวหนัง ประมาณ 20-30 นาที
  • แพทย์อ่านผลและบันทึกผล
  • แพทย์อธิบายผลการตรวจและแนะนำวิธีการป้องกันการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดตามผลตรวจ
  • เจ้าหน้าที่จะให้เอกสารสำเนาบันทึกผลการตรวจทดสอบทางผิวหนังให้ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองติดตัว เพื่อเป็นประวัติส่วนตัวหากเกิดอาการแพ้ในอนาคต

   การรักษาโรคภูมิแพ้วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอยู่เสมอ ก็นับเป็นเกราะชั้นดีในการดูแลสุขภาพลูกรักให้ห่างไกลจากโรคภูมิแพ้

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. ธิดารัตน์ พงศ์สิริพิพัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ สาขาภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.