Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

“มะเร็ง” โรคร้ายกว่าที่คิด วัยไหนก็เสี่ยง

4 ก.พ. 2567


  โรคมะเร็ง คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติเกิดเป็นก้อนเนื้อที่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไป ยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ผ่านทางระบบเลือด หรือระบบทางเดินน้ำเหลือง โรคมะเร็งมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดของโรค และชนิดของเซลล์มะเร็ง
  ซึ่งปัจจุบันคนทั่วโลกตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็ง รวมถึงรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเององค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลจึงกำหนดให้ ทุกวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) หลังจากพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชาคมโลก

5 อันดับมะเร็งที่เป็นกันมากที่สุด

คุณผู้ชาย    คุณผู้หญิง
มะเร็งตับและท่อน้ำดี    มะเร็งตับและท่อน้ำดี 
มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม
มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลำไส้ใหญ่

สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดมะเร็ง ?

   ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกว่าร้อยละ 90 เป็นสาเหตุจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่เรื่องพันธุกรรมในครอบครัวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ปัจจัยภายนอกที่ว่านั้นคือพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง มีดังนี้

  • พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารแปรรูปต่างๆ
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มสุรา
  • ความเครียด
  • การได้รับรังสี
  • ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ
  • ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ความอ้วน
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ไม่ทานผัก-ผลไม้สด

7 สัญญาณร้าย...บอกความเสี่ยง “โรคมะเร็ง” 

1. ระบบขับถ่ายผิดปกติ
   ท้องเสีย, ท้องผูก หรือมีอาการสลับกันไปมา ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด อาจเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก หรือมีอาการปัสสาวะขัด เป็นเลือด ต้องเบ่งแรง อาจจะเป็นมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก
2. แผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย
  • ช่องปาก เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด เป็นแผลในปากบ่อยๆ หรือกินหมาก หากเป็นแผลเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ อาจเป็นมะเร็งช่องปาก
  • ผิวหนัง อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง
  • แผลเรื้อรังในกระเพาะอาหาร อาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
3. เลือดไหลผิดปกติตามทวารของร่างกาย
  • เลือดออกหรือตกขาวผิดปกติทางช่องคลอด อาจเป็นมะเร็งปากมดลูก
  • เลือดกำเดาไหล เป็นๆ หายๆ อาจเป็นมะเร็งโพรงจมูก
  • ถ่ายเป็นเลือด อาจเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
4. คลำพบก้อน เช่น บริเวณเต้านม โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจเป็นมะเร็งเต้านม
5. กลืนอาหารลำบาก หรือระบบการย่อยผิดปกติ น้ำหนักลด เบื่ออาหารไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นที่มาของมะเร็งหลายโรค
6. มีไฝหรือหูดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ เช่น มีเลือดออก หรือขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนใหญ่อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง
7. มีอาการไอผิดปกติ เช่น ไอปนเลือด ไอเรื้อรัง หรือเสียงแหบ อาจเป็นมะเร็งปอด, มะเร็งหลอดลม, มะเร็งกล่องเสียง

* หากมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ตรวจพบเร็ว รักษาได้ทันท่วงที

 โรคมะเร็งจะเริ่มก่อตัวในร่างกาย มะเร็งบางชนิดอาจไม่มีความผิดปกติให้เห็น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการหาความผิดปกติในร่างกาย ก็คือการการตรวจคัดกรอง (Screening for cancer) หากเข้ารับการตรวจคัดกรองแล้วพบว่ามีความผิดปกติ รีบเข้ารับการรักษากับแพทย์ตั้งแต่ตรวจพบในระยะต้น จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงการตรวจคัดกรองโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสุขภาพประจำปีและใส่ใจในการดูแลสุขภาพเพื่อลดการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การตรวจคัดกรองมะเร็ง มีดังนี้

  • การตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง
  • การตรวจเอกซเรย์ปอด
  • การตรวจแมมโมแกรม และการอัลตร้าซาวด์เต้านม
  • การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และการส่องกล้อง
  • การทำอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง
  • การตรวจหาไขมันพอกตับ ด้วยวิธีไฟโบรสแกน

ข้อดีของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

  • ตรวจเร็ว รู้เร็ว เพราะกว่าครึ่งของผู้ป่วยโรคมะเร็ง มักตรวจพบในระยะลุกลามแล้ว
  • การตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน และพบแพทย์เฉพาะทาง สามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ และการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

การรักษาโรคมะเร็ง

วิธีการรักษามะเร็งที่รู้จักกันทั่วไปและเป็นวิธีการหลัก ๆมี 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา (ฉายรังสี,ฉายแสง) ส่วนที่มีการใช้แพร่หลายอย่างมากในปัจจุบัน คือ ยามุ่งเป้าและภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งจะมีข้อบ่งชี้ที่เฉพาะ

1. การผ่าตัด
ข้อดี :
  • สามารถนำก้อนมะเร็งที่มองเห็นออกได้ทั้งหมด
ข้อจำกัด :
  • หากมีเซลล์มะเร็งที่กระจายไป หรือมองไม่เห็น จะยังไม่ได้รับการกำจัดออกร่างกาย ซึ่งจะทำให้กลายเป็นมะเร็งได้อีกครั้ง
  • คนไข้ที่มีสภาวะร่างกายไม่พร้อมผ่าตัด
  • มะเร็งที่มีขนาดใหญ่มาก หากผ่าตัดออกทั้งหมด อวัยวะที่เหลือไม่เพียงพอที่จะทำงานต่อได้
  • บางตำแหน่งผ่าตัดได้ยาก และอาจสูญเสียการทำงานของอวัยวะนั้นๆ เช่น มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นต้น
2. ยาเคมีบำบัด
ข้อดี :
  • กำจัดเซลล์มะเร็งในอวัยวะและกระแสเลือดได้ ลดการกระจายของเซลล์มะเร็ง

ข้อจำกัด :

  • ไม่สามารถกำจัดก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ได้ เพราะยาเข้าไปไม่ทั่วถึงเซลล์มะเร็ง
  • ดื้อยาเคมีบำบัด
  • อาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ทำให้คนไข้ไม่สุขสบายตัว
3. ฉายรังสี

ข้อดี :

  • หลีกเลี่ยงการผ่าตัดโดยเฉพาะในมะเร็งที่ตอบสนองดีต่อรังสี
  • เพิ่มการตอบสนองของยาเคมีบำบัดบางชนิดได้
  • บรรเทาอาการปวดจากการลุกลามของมะเร็ง
  • บรรเทาภาวะเร่งด่วนบางอย่างจากมะเร็ง เช่น การอุดตันของท่อน้ำดี หรือมะเร็งลามกดทับไขสันหลัง

ข้อจำกัด :

  • บางช่วงชีวิตของเซลล์มะเร็งไม่ตอบสนองต่อรังสี ทำให้การฉายรังสีไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
  • เชลล์ที่ขาดออกซิเจน จะดื้อต่อรังสี

   การใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอ ด้วยเรื่องตำแหน่งของรอยโรค ระยะของโรค รวมถึงธรรมชาติของโรคนั้น การรักษามะเร็งจึงใช้การรักษาแบบผสมผสาน ตามแต่ลักษณะของโรคและคนไข้ เพื่อหวังการควบคุมโรค และป้องกันการแพร่กระจาย ให้คนไข้หายขาดจากโรคมะเร็ง

 

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สมชัย  ลิมปการณ์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา 
ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 1 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. Call Center 1745



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.