ริดสีดวงทวาร ผ่าตัดอย่างไรไม่ให้เจ็บ
โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบบ่อย เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมถึงมีการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนัก
ปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เกิดก้อนริดสีดวงทวาร
อาทิสุขลักษณะนิสัยการขับถ่ายผิดปกติ ( ท้องผูก หรือ ท้องเสีย) การเสื่อมลงของเส้นเลือดและกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย การเพิ่มของความดันภายในช่องท้องเป็นเวลานาน เช่น ยกของหนักเป็นประจำ ตั้งครรภ์ เป็นต้น
อาการของโรคริดสีดวง จะมีการถ่ายเป็นเลือดแดงสด มักพบตามหลังการถ่ายอุจจาระ หรือพบเลือดแดงสดติดกระดาษชำระขณะเช็ดก้น มีก้อนโผล่ขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ในบางรายอาจมีอาการหน้ามืด วิงเวียน เหนื่อยง่าย เนื่องมาจากภาวะโลหิตจางจากการที่มีการเสียเลือดเรื้อรัง โดยทั่วไปริดสีดวงทวารจะไม่มีอาการปวดร่วมด้วยยกเว้นเมื่อเกิดมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดลิ่มเลือดเฉียบพลันในริดสีดวงทวาร หรือมีการขาดเลือดของริดสีดวงทวารเนื่องจากริดสีดวงมีขนาดใหญ่ไม่สามารถดันกลับเข้าในทวารหนักได้
วิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก มุ่งเน้นไปที่การการป้องกันการเกิดโรค โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารมากๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 8 - 10 แก้ว /วัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอหลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระนานๆ เมื่อมีอาการขับถ่ายผิดปกติ หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดให้มาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของโรค และถ้าอาการนั้นเกิดจากริดสีดวงทวาร ถ้ามาพบแพทย์เร็ว อาจจะได้รับรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ โดยไม่ต้องผ่าตัดก็ได้
การเลือกการรักษา วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค โดยในรายที่ยังมีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจจะพิจารณารักษาโดยการใช้ยาลดอาการในระยะเฉียบพลัน ร่วมกับให้คำแนะนำในการป้องกันโรค ในรายที่มีอาการเสียเลือดมาก อาจรักษาโดยใช้วิธีรัดด้วยหนังยางเพื่อห้ามเลือด (Rubber band ligation) แต่ในรายที่ริดสีดวงมีขนาดใหญ่หรือมีการหย่อนลงมามากอาจจะจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
ในอดีตผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดริดสีดวงทวาร จะต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 3 - 4 วัน และมีแผลผ่าตัดภายนอกทวารหนัก ปวดแผลผ่าตัด ต้องนั่งแช่น้ำอุ่น เพื่อทำความสะอาดแผล และลดอาการปวดแผล ปวดแผลเวลาขับถ่ายอุจจาระ แผลผ่าตัดมีน้ำซึมตลอดเวลาในช่วงแรกหลังการผ่าตัด ต้องใช้ผ้าก๊อซ ผ้าอนามัย หรือกางเกงผ้าอ้อมซับน้ำ ใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์แผลจึงจะหายสนิท ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลัวการผ่าตัดรักษา
ปัจจุบันมีทางเลือกในการผ่าตัดรักษามากขึ้น เพราะมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดริดสีดวงทวาร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแผลผ่าตัดน้อยลง หรือไม่ปวดเลย คือ การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือการตัดต่อเยื่อบุลำไส้ชนิดกลม (Stapled Haemorrhoidopexy) โดยทำการตัดริดสีดวงรอบวงและยึดให้เนื่อเยื่อรอบๆช่องทวารหนักกลับขึ้นไปในช่องทวาร รอยแผลผ่าตัดจะซ่อนเข้าไปอยู่ในช่องทวาร ส่งผลให้ไม่มีแผลภายนอก ลดปัญหาเรื่องความเจ็บปวดหลังผ่าตัด มีโอกาสเสียเลือดระหว่างทำการผ่าตัดน้อยกว่า พบอาการปวดแผลระหว่างถ่ายอุจจาระน้อยกว่า ใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่าเนื่องจากปวดแผลไม่มากและแผลหายเร็วกว่าวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม อีกทั้งในปัจจุบันมียาแก้ปวดที่ประสิทธิภาพดี ส่งผลให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยมีความสุขสบายมากกว่าในอดีต
สนับสนุนข้อมูลโดย นพ.จักรกฤษ อุ้ยนิรันดรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไปและการผ่าตัดผ่านกล้อง
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล โทรศัพท์ 1745