Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

รู้ทัน! ก่อนโรคร้ายแอบแฝง ด้วย MRI 1.5 Tesla

23 ก.ย. 2566


   การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสีมีหลายวิธี เช่น Ultrasound, CT Scan, X-Ray และ MRI การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะสามารถช่วยวินิจฉัยโรคได้ โดยแพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสมในแต่ละรายบุคคล


มาทำความรู้จักกับ
“MRI 1.5 Tesla”

   MRI (Magnetic Resonance Imaging) 1.5 Tesla หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับตรวจอวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกาย  โดยการตรวจผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่งๆ ในสนามแม่เหล็ก การตรวจดังกล่าวไม่มีรังสีเอกซ์และจัดว่ามีความปลอดภัยสูง สามารถตรวจหาความผิดปกติของสมอง กระดูกสันหลัง เต้านม ช่องท้อง รยางค์ (แขนและขา) ข้อต่อต่างๆ และระบบหลอดเลือด โดยการตรวจชนิดนี้จะให้ภาพที่มีรายละเอียดของเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ได้ดี สามารถแยกเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออกได้อย่างชัดเจน ช่วยให้แพทย์เฉพาะทางสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด
  การตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่องที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์แคบๆ  ซึ่งจะมีความกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร และจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างไป ขึ้นกับระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาฉีดร่วมกับการตรวจ MRI (Gadolinium based)

การเตรียมตัวตรวจ

  • ในบางการตรวจ MRI มีการเตรียมตัวเฉพาะ เช่น การงดรับประทานอาหาร น้ำ หรือยาประจำบางชนิด ก่อนเข้ารับการตรวจ โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งขั้นตอนการตรวจโดยละเอียดในวันที่มานัดตรวจ
  • กรุณาหลีกเลี่ยงการแต่งหน้า เนื่องจากเครื่องสำอางบางชนิด มีส่วนผสมของโลหะ เช่น มาสคาร่า อายชาโดว์ อาจทำให้เกิดภาพบิดเบี้ยว (Distortion) เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพ และหลีกเลี่ยงการตรวจในผู้ที่ร้อยไหมทองคำ
  • ก่อนเข้ารับการตรวจ เจ้าหน้าที่จะทำการทวนตรวจสอบประวัติผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการรับการตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Assessment & History of Magnetic Resonance Imaging: MRI) จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการอธิบายขั้นตอนการตรวจและรายละเอียดการปฏิบัติตัวให้ท่าน
    ทราบในวันตรวจ ทั้งนี้การปฏิบัติตัวขณะเข้าตรวจ MRI จะมีรายละเอียดการปฏิบัติตัวที่แตกต่างกัน
  • ท่านจะได้รับการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดโรงพยาบาล โดยถอดเครื่องประดับทุกชนิด (เช่น ต่างหู สร้อยคอ กิ๊บ กำไล) นำโทรศัพท์มือถือ นาฬิกา บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต หรือบัตรอื่นๆที่ใช้แถบแม่เหล็กบันทึกอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ เครื่องช่วยหูฟัง ฟันปลอม หรืออุปกรณ์ที่เป็นโลหะออกก่อนเข้าตรวจทุกครั้ง
  • ท่านควรปัสสาวะก่อนเข้าห้องตรวจ เนื่องจากเป็นการตรวจที่ละเอียดและใช้เวลานาน ประมาณ 30 - 180 นาที ตามประเภทการตรวจ
  • ในการตรวจควรนอนให้นิ่งที่สุด เพื่อให้ได้ภาพการตรวจที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยภาพที่แม่นยำ
  • ในขณะที่เครื่อง MRI กำลังทำงาน จะมีเสียงดังรบกวนท่านเล็กน้อย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมอุปกร์ช่วยลดเสียงสวมใส่ให้ท่านเพื่อลดเสียงรบกวน
  • การตรวจ MRI ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและปลอดภัย ท่านจึงสามารถเข้ารับการตรวจด้วยความรู้สึกผ่อนคลายหากท่านมีความกังวลหรือกลัวที่จะอยู่คนเดียวในห้อง หรือ กลัวที่แคบ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ในระหว่างการตรวจจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลท่านอยู่ตลอดเวลา หากท่านมีปัญหาหรือเกิดความกังวลในระหว่างการตรวจท่านสามารถบีบลูกบอลฉุกเฉิน (Emergency Ball) เพื่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ทันที

ระยะเวลาทำหัตถการ : ประมาณ 30 – 180 นาที

ข้อจำกัดในการตรวจ

  • ผู้ป่วยที่มีเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) ต้องได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ
  • ผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม (Artificial Cardiac valve)
  • ผู้ป่วยที่ใส่ Stent ที่หลอดเลือดหัวใจต้องได้รับการยืนยันจากแพทย์ที่ใส่ Stent ว่าเป็น Stent ชนิดใดจะทำ MRI ได้หรือไม่ (ปัจจุบัน Stent ที่หลอดเลือดหัวใจ ถ้าเป็นรุ่น MRI compatible สามารถทำได้ทันทีไม่มีผลเสียใดๆ)
  • ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัด clips หรือโลหะต่างๆ
  • ผู้ป่วยที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือโลหะอยู่ในร่างกายเช่นเคยถูกยิงมีกระสุนค้างอยู่ตามร่างกาย
  • ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ (Claustrophobia)
  • ผู้ป่วยที่ใส่เหล็กดัดฟัน ถ้าต้องทำ MRI ตรวจในช่วงบริเวณ สมองถึงกระดูกคอควรต้องถอดเอาเหล็กดัดฟัน ออกก่อน เพราะจะมีผลต่อความชัดของภาพ
  • ผู้ป่วยที่ร้อยไหมชนิดที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ เช่น ไหมทองคำ
  • ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่มีการฉีดยาร่วมด้วย (Gadolinium based) อาจมีโอกาสเกิดการรั่วของสารออกนอกหลอดเลือดและมีโอกาสแพ้สาร Gadolinium based ซึ่งอาจเกิดภาวะไม่รุนแรง เช่นผื่นคัน บวมแดง จนถึงภาวะรุนแรง เช่น ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง หอบเหนื่อย ภาวะหายใจขัดข้องหรือถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะในคนที่มีประวัติแพ้ยา หรือเคยแพ้สาร Gadolinium based ก่อน หรืออาจมีอาการปวดบวมบริเวณตำแหน่ง หรือบวมช้ำบริเวณที่ทำการฉีด หรืออาจเกิดการแตกหรือรั่วของเส้นเลือดขณะทำการฉีด (Leakage or Extravasation)
  • ในผู้ป่วยที่ใส่ VP shunt (สายระบายน้ำจากโพรงสมองสู่ช่องท้อง) บางรายอาจต้องได้รับการตั้งค่าเครื่องใหม่โดยแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาท

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ.อณัศยา ชัยสวัสดิ์ แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาระบบประสาท
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์รังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์รังสีวินิจฉัย

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.