Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

รู้ทัน ระวัง โรคลิ้นหัวใจรั่ว

2 พ.ค. 2567


   ลิ้นหัวใจรั่ว (
Heart Valve Regurgitation) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ปิดไม่สนิท โดยภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับลิ้นหัวใจทั้ง 4 ลิ้น ซึ่ง ปกติลิ้นหัวใจจะเปิดเพื่อให้เลือดไหลไปในทิศทางเดียวขณะที่มันไหลผ่านห้องของหัวใจ จากนั้นลิ้นหัวใจจะปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าไปในห้องที่เหลืออยู่ แต่ถ้าลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ซึ่งหมายความว่าหลังจากที่หัวใจบีบและสูบฉีดเลือดไปข้างหน้าเลือดบางส่วนจะรั่วไหลย้อนกลับผ่านลิ้นหัวใจทำให้หัวใจรับเลือดมากขึ้น และทำงานมากขึ้นจนเกิดภาวะหัวใจวาย มีอาการเหนื่อย ขาบวม หรือมีภาวะท้องบวมน้ำได้อีกด้วย
ลิ้นหัวใจมีทั้งหมด 4 ลิ้น เมื่อเกิดลิ้นหัวใจรั่วจะพบดังนี้
  1. ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (mitral valve regurgitation) เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น จะทำให้หัวใจห้องบน และห้องล่างซ้ายโต อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลวได้
  2. ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (aortic valve regurgitation) เมื่อหัวใจห้องล่างซ้าย ต้องรับเลือดที่รั่วเพิ่มขึ้นจากปกติ หัวใจจะทำงานหนักและโตขึ้น ถ้าเป็นมากขึ้นก็เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  3. ลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว (tricuspid valve regurgitation) ในระยะแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อเป็นมากขึ้น หัวใจห้องบนและห้องล่างขวาอาจโตขึ้น จนอาจเกิดภาวะหัวใจด้านขวาล้มเหลว (หัวใจวาย) จะมีอาการเหนื่อยง่าย ขาบวม ท้องบวมได้
  4. ลิ้นหัวใจพัลโมนารีรั่ว (pulmonary valve regurgitation) พบได้น้อยแต่อาจเกิดความดันเลือดในปอดสูงมาก ทำให้หัวใจช่องล่างขวาโต  
สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว
   สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว มาจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือเสื่อมตามอายุหรือสามารถเกิดได้จากการติดเชื้อ ทำให้ลิ้นหัวใจเกิดความเสียหายได้  ซึ่งหัวใจทั้ง 4 ลิ้นอาจมีสาเหตุการเกิดลิ้นหัวใจรั่วที่แตกต่างกัน และสามารถส่งเสริมให้เกิดโรคได้ ดังนี้
ลิ้นไมทรัลรั่ว
  • เป็นมาแต่กำเนิด
  • โรคหัวใจรูห์มาติก
  • การเสื่อมของลิ้นหัวใจในผู้สูงอายุ
  • การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ
  • เส้นเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ลิ้นเอออร์ติกรั่ว
  • โรคหัวใจรูห์มาติก
  • การเสื่อมของลิ้นหัวใจในผู้สูงอายุ
  • การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ
  • กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan syndrome)
ลิ้นพัลโมนารีรั่ว
  • ภาวะความดันเลือดในปอดสูงมาก
ลิ้นไตรคัสปิดรั่ว
  • โรคหัวใจรูห์มาติก
  • การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ
  • ร่วมกับโรคลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ
  • ภาวะความดันเลือดในเส้นเลือดในปอดสูงจากสาเหตุต่างๆ
อาการลิ้นหัวใจรั่ว
   ลิ้นหัวใจรั่วสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับรุนแรง ผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจรั่วเล็กน้อยอาจไม่มีอาการ แต่หากลิ้นหัวใจรั่วมากขึ้น เริ่มมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการดังต่อไปนี้
  • เหนื่อยง่าย มีอาการเหนื่อยแม้เป็นการทำกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน
  • หายใจถี่ (หายใจลำบาก)
  • หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น
  • มีอาการแน่นหน้าอก หอบ นอนราบไม่ได้
  • มีอาการวูบเป็นลมหมดสติ
  • มีอาการบวมที่เท้าหรือข้อเท้า
การตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์
  แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป ซักประวัติ และตรวจหัวใจโดยเฉพาะ เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram : EKG) และตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram หรือ echo) เพื่อประเมินการทำงานของลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว
การรักษา
   แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาจากความรุนแรงของโรค หากการรั่วเพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ให้มีการเฝ้าระวัง หากอาการของผู้ป่วยรุนแรงแพทย์ต้องผ่าตัดซ่อมแซม หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่มีความผิดปกติ คนที่ไม่มีอาการควรได้รับการประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและศัลยแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรจะดูแลตัวเองให้มากขึ้น ดังนี้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง
  • ควบคุมระดับความดันโลหิต
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, ควบคุมน้ำหนัก
  • ควรงดการสูบบุหรี่
  • ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
  • พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
  • หัวใจวาย
  • ภาวะน้ำท่วมปอด ความดันเลือดแดงในปอดสูง (Pulmonary Hypertension)
  • ภาวะหัวใจโต เพราะหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นในการบีบตัว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)
  • การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ (Endocarditis)
  • เสียชีวิตเฉียบพลัน
แนวทางการป้องกัน
  • ไม่ควรสูบบุหรี่
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ให้ออกกำลังอย่างพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป และอย่าหักโหม
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
  • เน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีน้ำตาล ไขมัน และเกลือโซเดียมสูง
  • หมั่นตรวจสุขภาพหรือไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ
  • เมื่อเกิดอาการแน่นหน้าอกหรือความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
 
มั่นใจในการรักษากับศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
   โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล มีทีมแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพหลากหลายสาขาที่พร้อมในการดูแล มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคยาก และมีอาการซับซ้อน เพื่อให้การรักษาและการช่วยชีวิตผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติและมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น

สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ. สุปรีชา ธนะมัย แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์หัวใจ


Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.