รู้ทัน! โรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เนื่องมาจากอาการปวด บวม ที่ขา หรือแขน อาการปวดท้อง เหนื่อยหอบ หรือ ปวดหัว แล้วแต่ตำแหน่งที่เกิดลิ่มเลือดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าและมักมีอาการเฉียบพลัน ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำนี้ถือเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพที่ต้องทำความรู้จักและหันมาให้ความสำคัญ
ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ คืออะไร?
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ หมายถึง การมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นภายในหลอดเลือดดำ ข้อเท็จจริง คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำเกิดขึ้นได้ในหลอดเลือดดำได้แทบทุกส่วนที่มีอยู่ทั่วร่างกาย ที่พบส่วนใหญ่ คือ หลอดเลือดที่ขา ปอดและหัวใจ หลอดเลือดดำสมอง และหลอดเลือดดำในช่องท้อง
- อาการปวดบวมตึงที่ขา อาการเหนื่อยหอบ ปวดหัวรุนแรง ปวดท้องรุนแรง แล้วแต่ตำแหน่งที่เกิดลิ่มเลือดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อาจไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าและมักมีอาการเฉียบพลัน
- อาการที่พบบ่อย คือ ขาบวม ปวดตึงมาก กดเจ็บ ยิ่งนานวันยิ่งปวดบวมตึงมากขึ้น ให้สงสัยว่าเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา อย่านิ่งนอนใจ หากปล่อยไว้ ไม่รักษา มีความเสี่ยงที่ลิ่มเลือดหลุดขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดที่ปอดและหัวใจได้ ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบ ออกชิเจนในเลือดต่ำ ความดันเลือดตก หัวใจล้มเหลว ตามมา ถึงขั้นเสียชีวิตได้
‘ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ’ เกิดจากอะไร ?
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันสาเหตุเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ
- ปัจจัยภายนอกกระตุ้นการเกิดลิ่มเลือด ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ การใช้ยาคุมกำเนิดในผู้หญิง การนอนยู่บนเตียงนานเกินกว่า 72ชม. ด้วยเนื่องจากอาการเจ็บป่วย หรือการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดข้อสะโพก ข้อเข่า การได้รับอุบัติเหตุบริเวณขาทำให้เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง มะเร็งบางชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งในช่องท้อง เป็นต้น
- ปัจจัยภายในร่างกายเอง ได้แก่ ความแปรปรวนภายในของระบบการแข็งตัวของเลือด ซี่งมีทั้งที่เป็นทางพันธุกรรม เช่น ภาวะพร่อง Protein C ProteinS antithrombin 3 และ ที่เกิดขี้นภายหลัง ที่พบบ่อยได้แก่ กลุ่มอาการ antiphospholipid ซึ่งมักจะมีประวัติการเกิดลิ่มเลือดมาก่อนทั้งในตนเอง (Previous VTE) และ คนในครอบครัว (Family history)
การสังเกตอาการลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ
อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะมีอาการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิด โดยตำแหน่งที่พบได้
ส่วนใหญ่ ได้แก่
- ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำชั้นลึก (DVT) ขาเป็นตำแหน่งที่เลือดไหลเวียนได้ช้า โดยส่วนใหญ่ลิ่มเลือดอุดตันจะพบในหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยจะมีอาการขาโต บวมขึ้น ปวดหรือเจ็บ หรือเดินแล้วมีอาการปวดบวมมากขึ้น เรื่อยๆ ลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขานั้น หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รับการรักษาในระยะเวลาไม่นาน จะทำให้เกิดความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันในปอดและเสียชีวิตได้
- ลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism)
เป็นภาวะเสี่ยงที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย เหนื่อยหอบ ซึ่งระดับความเหนื่อยอาจมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หรือปริมาณลิ่มเลือดที่อุดตัน โดยอาจมีการเหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเหนื่อยในช่วงที่ทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้อาจพบอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ความดันโลหิตตก และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย หากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดเฉียบพลัน
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการชัก ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงอัมพฤกษ์อัมพาตได้ หรืออาจเสียชีวิตจากภาวะสมองขาดเลือดได้ หากไม่รีบรักษาทันทีหรือรักษาช้า
ส่วนตำแหน่งอื่นๆ พบการอุดตันของลิ่มเลือดได้เช่นกัน แต่ไม่บ่อยนัก ได้แก่ ตลอดแนวหลอดเลือดในช่องท้อง บริเวณตับ ม้าม เป็นต้น ทำให้เกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดและลำไส้เน่าได้
อันตรายแค่ไหนหากเกิด ‘ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ’ ที่ขาและปอด
ความอันตรายของภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการอุดตันของลิ่มเลือด โดยปกติแล้ว ตำแหน่งที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่
- ขา เพราะเป็นตำแหน่งที่เลือดไหลเวียนได้ช้า โดยส่วนใหญ่ลิ่มเลือดอุดตันจะพบในหลอดเลือดดำ เพราะหลอดเลือดแดงหัวใจจะบีบตัวส่งเลือดแรงตลอดเวลา เลือดจึงมักไม่ค่อยหยุดนิ่ง ผิดกับหลอดเลือดดำที่มักมีการหยุดนิ่งมากกว่า ยิ่งในตำแหน่งขาที่เลือดไหลเวียนช้า จึงยิ่งทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย
- ปอด มักเกิดในบริเวณหลอดเลือดแดง ซึ่งนำเลือดที่ไม่มีออกซิเจนจากหัวใจห้องล่างขวาเข้าสู่ปอด ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบ ออกชิเจนในเลือดต่ำ ความดันเลือดตก หัวใจล้มเหลว ตามมา ถึงขั้นเสียชีวิตได้
แม้ว่าลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขานั้นอาจไม่ได้มีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รักษา ก็อาจสามารถทำให้เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดและเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากพบว่ามีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกของขาไม่ว่าจะเป็นบริเวณใด ก็ควรรีบทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีที่สุด
อาการแบบไหน ชวนสงสัยว่าลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ?
อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของตำแหน่งที่เกิดลิ่มเลือด โดยหากเกิดที่ขาจะมีอาการขาโต บวม กดเจ็บ หรือเดินแล้วจะรู้สึกปวดบวมมากขึ้น อาการจะเป็นกะทันหัน คือเมื่อเกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น ก็จะพบอาการปวดบวมใน 2 - 3 วัน
ส่วนในกรณีพบลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด จะมีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกกะทันหัน ความดันโลหิตตก จนสุดท้ายถ้าไม่ได้รับการรักษาก็ทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนั้นแล้วหากเป็นกรณีลิ่มเลือดอุดตันในสมองก็จะมาด้วยอาการปวดศีรษะรุนแรง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ
- ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ต้องเข้ารับการผ่าตัดต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน การนอนโรงพยาบาลนานๆ
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีโรคประจำตัว ผนังหลอดเลือดจะยิ่งมีความเสื่อมมากกว่าคนอายุน้อย
- อ้วน
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- โรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งอวัยวะในช่องท้องอื่นๆ มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือด
- รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
- การตั้งครรภ์ โดยพบว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ทุกๆ 1 ใน 1,000 คนที่กำลังตั้งครรภ์จะเกิดลิ่มเลือด
- การติดเชื้อโควิด-19
- สูบบุหรี่
สัญญาณอันตรายของอาการที่ควรสังเกตและระวัง คือ มีอาการปวดขาและกดเจ็บ บวมแดง หายใจถี่ หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก และไอเป็นเลือด
การตรวจวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ
การวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีลิ่มเลือดอุดตัน โดยหากเป็นการวินิจฉัยที่ขา จะทำ Doppler ultrasound เพื่อดูว่ามีการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติบริเวณขาหรือไม่ เพราะถ้ามีลิ่มเลือดอุดตัน เลือดก็จะไม่ไหลผ่านบริเวณนั้น แต่หากเป็นการวินิจฉัยลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดจะใช้วิธีการฉีดสารทึบแสง นำผู้ป่วยเข้าอุโมงค์ทรวงอก แล้วทำ CT Scan ตรวจสอบโดยละเอียด ส่วนถ้าเป็นการอุดตันของลิ่มเลือดที่สมอง จะสามารถทำได้ทั้งการใช้ CT Scan และ MRI
การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ
โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ด้วยการดูแลสุขภาพของตนเอง ให้ห่างไกลจากการมีประจำตัว ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการสูบบุหรี่และความอ้วน ควรหมั่นขยับร่างกายออกกำลังกาย และไม่ควรอยู่ในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ยืดเส้นยืดสายประมาณ 5 นาที ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ งดดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่เกณฑ์มาตรฐาน และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงตรวจเช็กความผิดปกติของหัวใจ
รักษาอย่างไร ผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำจึงหายดี ?
ในการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แพทย์จะใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเกิดลิ่มเลือดชุดใหม่ และอาศัยสารต้านการแข็งตัวของเลือดที่มีอยู่แล้วในร่างกายให้ทำหน้าที่สลายลิ่มเลือดเดิมให้ค่อยๆ หายไป ทั้งนี้สำหรับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ปัจจุบันมีทั้งชนิดฉีดและรับประทาน ซึ่งเงื่อนไขในการใช้งานก็ขึ้นอยู่กับความอันตรายของโรคว่ารุนแรงมากน้อยแค่ไหน
- หากเป็นการอุดตันของลิ่มเลือดที่ปอดที่มีอาการขั้นรุนแรง แพทย์จะพิจารณาฉีดยาผ่านทางหลอดเลือดดำโดยเร็ว เพื่อลดความรุนแรง
- หากเป็นการอุดตันของลิ่มเลือดบริเวณขา แพทย์พิจารณาให้ยารับประทานได้ เพราะรุนแรงน้อยกว่า โดยระยะเวลาในการให้ยาก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น หากเกิดจากอุบัติเหตุ ขาขยับไม่ได้ต้องใส่เฝือก เมื่อกระดูกที่หักสมานกัน ทำกายภาพบำบัดจนกลับมาเดินได้เป็นปกติแล้ว โอกาสเกิดลิ่มเลือดก็จะหมดไป ระยะเวลาเหมาะสมประมาณ 3-6 เดือน จึงพิจารณาหยุดใช้ยาได้
- กรณีสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง ที่เป็นในระยะลุกลามไม่หายขาด ก็จำเป็นจะต้องให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ในการใช้ยารักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ก็มีข้อห้ามและเงื่อนไขในการใช้ยาที่ต้องระมัดระวังอยู่ด้วย คือจะห้ามใช้ในผู้ป่วยสตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อม
ดูแลตัวเองอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ
ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวด้วยมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตัน จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ป้องกันโรคนี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ ด้วยการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีการให้ไม่มีโรคประจำตัวและไม่อ้วน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด ยาคุมกำเนิด ตลอดจนยาแก้ปวดไมเกรนบางตัว ซึ่งมีผลทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ เพราะมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดบางตำแหน่งหดตัวเฉียบพลัน ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติ จนเกิดการตกตะกอนกลายเป็นลิ่มเลือดในที่สุด นอกจากนั้นแล้วการควบคุมน้ำหนักให้ได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็ถือเป็นการลดความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้นเกินค่า BMI มาตรฐานนั้น ส่งผลทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี การประเมินตรวจสุขภาพเม็ดเลือด ตรวจคัดกรองเบาหวาน ตรวจระดับไขมันในเลือด รวมถึงเช็กความผิดปกติของหัวใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น ที่ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.สมชัย ลิมปการณ์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคเลือดและมะเร็งวิทยา
ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง ชั้น 1 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. Call Center 1745