Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

รู้ทัน “โรคหอบหืดในเด็ก” รักษาได้อย่างตรงจุด

19 เม.ย. 2567


   โรคหอบหืด เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมจะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ รวมถึงเกิดการเกร็งตัวและหดเล็กลง เยื่อบุข้างในจะบวมขึ้น มีมูกหรือเมือกเหนียวๆ ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบลง บางครั้งอาการเช่นนี้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย หากปล่อยทิ้งเอาไว้นานเด็กๆ ก็มีโอกาสเป็นหอบหืดเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาจากต้นเหตุ โรคหอบหืดในเด็กเป็นหนึ่งในโรคทางเดินหายใจที่พบบ่อยในวัยเด็ก สามารถเกิดได้ทุกช่วงวัย
สาเหตุของโรคหอบหืดในเด็กมีหลายปัจจัย
  • พันธุกรรม : มีความเสี่ยงสูงของการเป็นโรคหอบหืดถ้าบิดา มารดา มีประวัติของโรคนี้
  • การติดเชื้อ : การติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หวัด หรือการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
  • สภาพแวดล้อม : สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยสำคัญให้โรคหืดแสดงอาการมากขึ้น เช่น สภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ สารก่อภูมิแพ้ ไรฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้ แมลงสาบ
อาการของโรคหอบหืดในเด็ก
ลักษณะอาการของหอบหืด ได้แก่
  1. การหายใจเสียงดัง (Wheezing) : มีเสียงหายใจดังหวีด
  2. หายใจเร็วหรือหายใจลำบาก : เด็กอาจมีอาการไอเหนื่อยหลังสัมผัสสิ่งกระตุ้นหรือหลังออกกำลังกาย
  3. ไอ : มักไอในช่วงกลางคืนหรือในช่วงเช้ามืด
  4. อาการตื่นขึ้นกลางคืน : เด็กที่มีโรคหอบหืดอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก อาการมักเป็นกลางคืนทำให้มีการตื่นไอบ่อย หลับไม่สนิท
   ดังนั้นผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการ และสภาพแวดล้อมของเด็ก ควรการลดการสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดอาการ ทำความสะอาดลดปริมาณฝุ่นในที่พักอาศัย รักษาโรคร่วมที่อาจทำให้เด็กมีอาการแย่ลง เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น
 
การตรวจวินิจฉัยโรคหอบหืดในเด็ก
  1. แพทย์ซักประวัติอาการโรคหืด มีอาการไอหอบ หายใจมีเสียงหวีด เป็นๆ หายๆ หรือมีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไอมากในเวลากลางคืน หรืออาการไอเรื้อรังหลังจากเป็นไข้หวัด
  1. ตรวจร่างกาย อาจตรวจพบเสียงหวีดที่ทรวงอก
  1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การทดสอบสารก่อนภูมิแพ้ การทดสอบดังกล่าวช่วยให้ทราบสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นต้นเหตุของอาการหอบหืดได้อีกด้วย
  1. การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) การตรวจสมรรถภาพปอด โดยเครื่องมือ Spirometry สามารถทำในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป เพื่อวัดปริมาตรและความเร็วลมที่ออกมา เพื่อทดสอบว่ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจหรือไม่
  1. การตรวจภาพรังสีทรวงอก เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ หรือหายใจมีเสียงหวีด
 
การรักษาโรคหอบหืดในเด็ก
   การรักษาขณะมีอาการหอบเฉียบพลัน คุณหมอจะรักษาอาการตามอาการและภาวะที่เกิดร่วมกับโรคหอบหืด เช่น ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง การรักษาระยะหอบเฉียบพลัน ได้แก่ การพ่นยาขยายหลอดลม การให้ออกซิเจน  (หากมีภาวะพร่องออกซิเจน) การให้สเตียรอยด์รับประทานหรือให้ทางหลอดเลือด เพื่อลดอาการบวม อักเสบของหลอดลม กรณีหอบมาก อาจต้องพิจารณาให้รักษาตัวใน ICU เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด หากไม่ดีขึ้นอาจต้องพิจารณาใช้เครื่องช่วยหายใจ
การรักษาโรคหอบหืดในระยะยาว
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
  • การรักษาด้วยสเตรียรอยด์พ่น
  • การรักษาร่วมที่อาจทำให้ควมคุมอาการหอบหืดได้ยาก เช่น ภูมิแพ้ที่โพรงจมูก โรคไซนัสเรื้อรัง
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดด้วยสารก่อเกิดภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy)
อย่าตกใจ เพราะป้องกันได้..!!
   ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคหอบหืด เพียงแต่ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูกน้อยเป็นประจำ หากสงสัยให้รีบมาตรวจรักษา พยายามทำความสะอาดห้องนอน รวมถึงการดูแลสุขภาพของลูกรักให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและไม่พาบุตรหลานไปในที่คนพลุกพล่าน ล้างมือให้สะอาดเสมอ และป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเป็นหวัด เพราะหวัดเป็นสิ่งกระตุ้นให้อาการหอบหืดกำเริบ
 
สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. เบญจวรรณ สังฆวะดี  แพทย์เฉพาะทางด้านกุมารแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจ
ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745



Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.